สุญญากาศนายกฯ 'รัฐบาลผันผวน' คลิปเสียงอังเคิล 'ชะตา' แพทองธาร
สถานการณ์รัฐบาลที่อยู่ท่ามกลางความผันผวน ทั้งที่การปรับคณะรัฐมนตรี “แพทองธาร 1/2” เพิ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ ในวันที่ 30 มิ.ย.68 และเตรียมเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนในวันที่ 3 ก.ค.68 ดูทุกอย่างราบรื่น รัฐบาลตั้งหลักได้ และกำลังไปต่อ
ทว่าถัดมาเพียงวันเดียว 1 ก.ค.68 สถานการณ์กลับพลิกผัน เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเอกฉันท์ 9 เสียง“รับคำร้อง” ที่ “มงคล สุระสัจจะ” ประธานวุฒิสภา ในนามสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 36 คน ที่ยื่นถอดถอน “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี จากกรณีคลิปเสียงสนทนากับ ฮุน เซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา ที่อาจเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ชายแดนไทย - กัมพูชา ซึ่งเข้าข่ายความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5)
โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 7 ต่อ 2 เสียง สั่งให้ “แพทองธาร” หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย
กลายเป็น“สุญญากาศผู้นำรัฐบาล” ที่ต้องหยุดภารกิจกะทันหัน ท่ามกลางปัญหารอบด้านที่รอการแก้ไข โดยเฉพาะการขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนหลังมี ครม.ใหม่เข้ามาเสริมทัพ
โดยขั้นตอนหลังจากนี้ ศาลจะแจ้งผู้ร้องทราบ และให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 54
หลายฝ่ายอ่าน “ฉากทัศน์” การเมืองหลังศาลสั่ง “แพทองธาร” หยุดปฏิบัติหน้าที่ ได้เกิดคำถามว่า กระบวนการจะรวบรัดตัดจบแบบรวดเร็ว หรือจะยืดเยื้อ ทั้งนี้อยู่ที่ว่าศาลจะเรียกสอบพยาน หลักฐานเพิ่มเติมหลังจากนี้ มากน้อยเพียงใด โอกาสจะช้า หรือเร็ว อาจเทียบเคียงได้ 2 กรณี
ทางแรก เทียบกับกรณีของ “เศรษฐา ทวีสิน” อดีตนายกฯ ที่ถูกยื่นวินิจฉัยประเด็นคุณสมบัติ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จากกรณีแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
แม้ศาลจะไม่สั่งให้ “เศรษฐา” หยุดปฏิบัติหน้าที่ หลังมีมติรับคำร้องเมื่อวันที่ 23 พ.ค.2567
ทว่าต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดพิจารณาคดีเศรษฐา ในวันที่ 24 ก.ค.2567 เพียงนัดเดียวก่อนกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา 14 ส.ค.2567 โดยมีมติ 5 ต่อ 4 ให้ “เศรษฐา” พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
เนื่องจากขาดคุณสมบัติ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จากปมทูลเกล้าฯ แต่งตั้ง “พิชิต”
ทางที่สอง เทียบเคียงกรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ ที่ถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2565 หลังรับคำร้องในกรณีถูกยื่นตีความ การนับวาระความเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ
โดยกรณีนี้ ศาลใช้เวลารวบรวมข้อมูลทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษร และความเห็นจากนักกฎหมาย ก่อนที่ต่อมาในวันที่เมื่อ 30 ก.ย.2565 ศาลจะมีคำวินิจฉัยว่า วินิจฉัย “ไม่สิ้นสุด” สภาพการเป็นนายกรัฐมนตรี
ข้อต่อสู้ พท.“ไร้ข้อเท็จจริง-พยานมิชอบ”
ในมุมต่อสู้ของพรรคเพื่อไทย “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล เคยให้ความเห็นในมุมข้อโต้แย้งไว้ก่อนหน้านี้
โดยมองว่า กรณีนี้ยังไม่มีความเสียหายใดๆ เกิดขึ้น และเนื้อหาคลิปก็ไม่ปรากฏชัดว่า เข้าข่ายผิดจริยธรรมร้ายแรง หรือขาดความซื่อสัตย์สุจริตตามหลักเกณฑ์ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
อีกทั้งมองว่าเนื้อหาในการสนทนา “ไม่มีข้อเท็จจริงที่บ่งชี้ว่าประเทศสูญเสียอธิปไตย ดินแดน หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน ส่วนตัวเห็นว่า เป็นเพียงการหารือเพื่อแก้ปัญหาชายแดนเท่านั้น”
“ชูศักดิ์” ยังตั้งข้อสังเกตถึงพยานหลักฐานว่า อาจได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นคลิปเสียงที่บันทึกโดยไม่ได้รับความยินยอม ซึ่งอาจขัดต่อ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่า ศาลจะสามารถรับฟังหรือให้ความน่าเชื่อถือกับพยานลักษณะนี้ได้หรือไม่
“ถ้าศาลยึดตามหลักกฎหมายทั่วไป พยานที่ได้มาโดยไม่ชอบ ย่อมไม่สามารถนำมาใช้ในการพิจารณาได้”
ศาล รธน.- ป.ป.ช.สุญญากาศนายกฯ
ทั้งนี้ ไม่ว่ากระบวนการศาลในคดีดังกล่าวจะถูก “รวบรัดตัดจบ” แบบรวดเร็ว หรือจะ“ยืดเยื้อ” ทิ้งช่วงออกไป ย่อมส่งผลกระทบต่อรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น
ภายใต้สภาวะ “นิติสงคราม” ที่กำลังรายล้อม “แพทองธาร” อยู่ในเวลานี้ ไม่ต่างจากสถานการณ์พรรคร่วมรัฐบาลที่ตกอยู่ใน “สุญญากาศ” เมื่อนายกฯ “แพทองธาร” ผู้นำรัฐบาลถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แม้จะยังมีอีกหนึ่งสถานะเป็นรมว.วัฒนธรรมก็ตาม
อย่าลืมว่า ในคดีเดียวกัน ยังมีคำร้องในส่วนที่ สว.ยื่นคู่ขนาน ในประเด็น“จริยธรรม”ไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งล่าสุดมติที่ประชุมกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีมติเอกฉันท์ให้รับตรวจสอบเบื้องต้น
หากป.ป.ช.ไม่ชี้มูลความผิดก็เป็นอันว่าคำร้องตกไป กลับกัน หากป.ป.ช.มีมติ “ชี้มูลความผิด” ขั้นตอนต่อไปก็จะต้องส่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฟันจริยธรรมต่อไป
เมื่อเป็นเช่นนี้ ต้องจับตาคดีที่ค้างคาอยู่ในวาระศาลรัฐธรรมนูญในเวลานี้บทสรุปจะช้าหรือเร็ว อาจเชื่อมโยงไปกับการพิจารณาของ ป.ป.ช.ที่จะชี้ขาดหลังจากนี้
อีกหนึ่งนิติสงครามที่ตามมาติดๆ คือ กรณีคณะกรรมการป.ป.ช.รับไต่สวนกรณีที่คณะรัฐมนตรี สส. และ สว. เห็นชอบร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2568 ที่มีการโยกไปทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (แจกเงินหมื่น) ที่อาจขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 กรณีที่ผลประโยชน์ “ทางตรง” หรือ “ทางอ้อม” ในการใช้งบประมาณรายจ่าย
กรณีนี้มีการประเมินถึงฉากทัศน์เลวร้ายที่สุด คือ ป.ป.ช.ส่งศาลรัฐธรรมนูญแล้วมีคำวินิจฉัยว่า ผิดตามมาตรา 167(4) และจะไม่สามารถรักษาการ หรือปฏิบัติหน้าที่ต่อ เพื่อรอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ได้ หากเป็นเช่นนั้นการเมืองจะเกิดสภาวะสุญญากาศทันที
แน่นอนว่า ภายใต้สภาวะที่รัฐบาลกำลังตกอยู่สถานการณ์ลุ่มๆ ดอนๆ เช่นนี้ ยังเป็นจังหวะเดียวกันกับที่ การเมืองทั้ง“ใน” และ“นอกสภาฯ” กำลังเปิดฉากรุกไล่คู่ขนาน
ฝ่ายค้าน-ฝ่ายแค้น บีบยุบสภา
หลังเปิดสภาฯ วันที่ 3 ก.ค.68 นี้ ฝั่ง“ภูมิใจไทย” ชิงเกมประเดิมภารกิจฝ่ายค้าน หลังถูกผลักออกจากขั้วรัฐบาล เตรียมยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 หยิบยกข้อกล่าวหาเป็นภัยต่อความมั่นคง จากกรณีปรากฏคลิปเสียงสนทนาระหว่างนายกฯ แพทองธาร และฮุน เซน ด้วยข้อกล่าวหา เป็นภัยต่อความมั่นคง
จับสัญญาณเกมสภาฯ เวลานี้ ต้องลุ้นว่า ภายใต้เงื่อนไขในการยื่นซักฟอก โดยใช้เสียง สส. ใน 5 ของสมาชิกที่มีอยู่ หรือ 99 เสียงจากจำนวนสมาชิก 495 เสียง
ขณะที่ภูมิใจไทยมีเสียงในมือเวลานี้เพียง 69 ยังขาดเสียงที่จะใช้ยื่นซักฟอกอีก 30 เสียง จะสามารถหาเสียงได้เพียงพอต่อการยื่นญัตติหรือไม่
แน่นอนว่าภายใต้โจทย์ที่ต่างกันของฝ่ายค้าน “พรรคส้ม” อ่านเกมว่า ภายใต้การเมืองที่กำลังผันผวนอยู่ในเวลานี้ พรรคเพื่อไทยคงประคับประคองรัฐบาลอยู่ต่อไปได้อีกไม่นาน ฉะนั้นการเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยยุบสภา เพื่อเปิดทางให้มีการเลือกตั้งใหม่ จึงเป็นเกมเข้าทางพรรคส้มมากกว่า
ดังนั้น เกมของ“พรรคภูมิใจไทย”และ“พรรคพลังประชารัฐ” ที่พยายามโชว์ภาพการประสานพลังในฐานะคู่แค้นพรรคเพื่อไทย
ลึกๆ แล้ว อาจหวังปั่นพรรคเพื่อไทยในสถานการณ์ที่ “แพทองธาร” กำลังเพลี่ยงพล้ำให้ป่วน เพื่อชิงจังหวะ โหนแนวร่วม“อนุรักษนิยม” นอกสภาฯ ที่กำลังขับเคลื่อน เรียกร้องให้นายกฯ“ยุบสภา” หรือ “ลาออก” และเตรียมนัดเคลื่อนไหวใหญ่ในเดือนส.ค. โดยมีเป้าหมายไล่รัฐบาล
ขณะที่การเมืองนอกประเทศเวลานี้ได้อาการของสมเด็จฮุน เซน ที่กำลังใช้ยุทธศาสตร์ “โลกล้อมไทย” ปลุกระดมนอกประเทศ ให้เห็นถึงความไม่ชอบธรรมของ “ผู้นำไทย” เพื่อกดดันอีกทาง
นาทีนี้เรียกได้ว่ารัฐบาลเพื่อไทยกำลังถูกรุกหนักจากสารพัดปัจจัยที่รายล้อมจนเกิดคำถามว่า ด้วยสภาวะลุ่มๆดอนๆ เช่นนี้ "แพทองธาร" จะสามารถประคับประคองรัฐบาลไปได้อีกไกลแค่ไหน!
พิสูจน์อักษร….สุรีย์ ศิลาวงษ์