เปิด ‘9 ผลกระทบ’ จากร่างกฎหมายภาษีทรัมป์ เพิ่มหนี้สาธารณะอีก 130 ล้านล้านบาท
หลังจากนำร่างภาษีทรัมป์ที่ผ่านชั้นสภาฯ มาถกเถียงกัน และลงคะแนนแบบมาราธอนต่อเนื่องถึง 27 ชั่วโมง ในที่สุด วุฒิสภาสหรัฐก็ได้ผ่านร่างกฎหมาย “One Big Beautiful Bill Act” (OBBB) สำเร็จ ด้วยคะแนนฉิวเฉียดที่ 51:50
นับเป็นกฎหมายเรือธงของ ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการ “ลดภาษี” ครั้งใหญ่ให้ชาวอเมริกัน ด้วยการไม่เก็บภาษีค่าล่วงเวลา และทิป ลดหย่อนภาษีธุรกิจ ลดหย่อนภาษีเงินประกันสังคม ลดหย่อนดอกเบี้ยสินเชื่อรถใหม่ เพิ่มเครดิตภาษีสำหรับการมีบุตร จัดตั้งบัญชีทรัมป์พร้อมเงินสำหรับให้เด็กแรกเกิด พร้อมขยายเพดานหนี้ประเทศอีก 160 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกันก็ตัดลดงบประกันสุขภาพ Medicaid ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าร่างกฎหมายนี้ช่วย “ลดค่าครองชีพชาวอเมริกัน” และอาจกระตุ้นเศรษฐกิจขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งของเหรียญ สำนักงานงบประมาณรัฐสภา (Congressional Budget Office) ประเมินว่า ร่างกฎหมายนี้มีแนวโน้มทำให้งบประมาณสหรัฐขาดดุล “เพิ่มขึ้น 2.4 ล้านล้านดอลลาร์” หรือราว 78 ล้านล้านบาท ในอีก 10 ปีข้างหน้า และเสี่ยงทำให้มีผู้คนอีกราว 10.9 ล้านคน ไม่มีประกันสุขภาพ
ไม่เพียงเท่านั้น นิตยสาร The Economist ได้เปิดเผย “ผลกระทบในระยะยาว” ที่อาจตามมา “ 9 อย่าง” จากร่างกฎหมายภาษีทรัมป์ ดังนี้
1. เพิ่มหนี้สาธารณะอีก 130 ล้านล้านบาทใน 10 ปี
การวิเคราะห์เบื้องต้นโดย Committee for a Responsible Federal Budget (CRFB) ซึ่งเป็นหน่วยงานคลังสมอง คาดการณ์ว่า ร่างกฎหมายภาษีฉบับสภาผู้แทนราษฎร จะเพิ่มหนี้สาธารณะของสหรัฐอีก 3 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 97 ล้านล้านบาทในอีก 10 ปีข้างหน้า หากใช้หลักการบัญชีตามปกติ
ส่วนร่างฉบับของวุฒิสภา ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง รวมถึงมีเสนอการบรรเทาภาระภาษีจากรัฐ และท้องถิ่นที่สูงขึ้น จะทำให้มีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่านั้นอีกเป็น 4 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 130 ล้านล้านบาท
- ผลกระทบต่อหนี้ (กราฟิก: รัตนากร หัวเวียง) -
2. จีดีพีสหรัฐ หดตัวลง 2% ภายในปี 2050
ในระยะยาว ร่างภาษีทรัมป์มีแนวโน้มจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐ “หดตัวลง 2%” ภายในปี 2050 ตามการประเมินของศูนย์วิจัย Budget Lab at Yale ซึ่งสะท้อนถึงผลกระทบหลักจากการแบกรับภาระหนี้มากขึ้น ที่นำไปสู่อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อภาคเอกชน
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางรายมองโลกในแง่ดีว่า ร่างลดภาษีครั้งใหญ่ของทรัมป์ จะผลักดันให้คนงานเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น และกระตุ้นการลงทุน ซึ่งจะช่วยหักล้างผลกระทบดังกล่าวได้
หนึ่งในนั้น คือ เดวิด ไซฟ์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายตลาดพัฒนาแล้วของ Nomura มองว่า ร่างกฎหมาย OBBB ที่อนุญาตให้ธุรกิจสามารถหักค่าใช้จ่ายจากการลงทุนได้เร็วขึ้น มีแนวโน้มกระตุ้นการลงทุนในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า
- จีดีพีหดตัว (กราฟิก: รัตนากร หัวเวียง) -
3. หนี้เพิ่มขึ้นเป็น 125-130% ของ GDP ภายในปี 2034
หลังวิกฤติการเงินในปี 2007-09 หนี้ของอเมริกาก็ทะยานขึ้นอย่างมาก การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ยิ่งเข้ามาซ้ำเติม จน “อัตราส่วนหนี้ต่อ GDP” นั้นใกล้เคียงกับระดับที่เคยสูงขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ตามข้อมูลของหน่วยงานคลังสมอง CRFB การขยายเวลาลดภาษีที่กำลังจะหมดอายุลง โดยปราศจากมาตรการชดเชยด้านการประหยัด จะผลักดันให้ร่างกฎหมาย One Big Beautiful Bill เพิ่มพูนยอดหนี้ให้สูงขึ้นไปอีก โดยร่างฉบับวุฒิสภา ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2568 หากปล่อยให้มาตรการลดภาษีปี 2017 สิ้นสุดลง จะทำให้หนี้เพิ่มขึ้นเป็นระหว่าง 125-130% ของ GDP ภายในปี 2034 ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ 117% และสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ 124% สำหรับร่างภาษีฉบับสภาผู้แทนราษฎร
- คาดการณ์ 'หนี้' เป็น % ของ GDP (กราฟิก: รัตนากร หัวเวียง) -
4. เร่งเวลาผิดนัดชำระหนี้?
เหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้เรื่องนี้เป็นประเด็นน่ากังวลคือ “ภาระดอกเบี้ยจ่าย” หลังจากภาวะเงินเฟ้อพุ่งหลังการระบาดโควิด-19 อัตราดอกเบี้ยได้พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และยังคงอยู่ในระดับสูงมาโดยตลอด
เมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น และหนี้ก็เพิ่มพูนขึ้น ย่อมหมายถึง ต้นทุนการชำระหนี้ที่สูงลิ่ว ซึ่งในปีที่ผ่านมา ต้นทุนเหล่านี้คิดเป็น 3% ของ GDP แต่ร่างกฎหมาย OBBB อาจเร่งให้ภาระดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า
ท้ายที่สุด ภาระชำระหนี้เหล่านี้จะกลายเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน และรัฐบาลกลางจะต้องเผชิญทางเลือกที่ยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นการลดการใช้จ่าย เพิ่มภาษี การผิดนัดชำระหนี้ หรือการปล่อยให้หนี้ด้อยค่าลงจากภาวะเงินเฟ้อ แม้ยังไม่ชัดเจนว่าวันนั้นจะมาถึงเมื่อใด แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ “กำลังเร่งให้เวลานั้นมาถึงเร็วขึ้น”
- ภาระดอกเบี้ยจ่าย เป็น % ของ GDP (กราฟิก: รัตนากร หัวเวียง) -
5. กลุ่มคนรวยได้ประโยชน์มากที่สุด
แม้ว่า ปธน.ทรัมป์จะพูดถึงการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส แต่ผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดจากร่างกฎหมายนี้กลับเป็น “กลุ่มคนรวย” จากการวิเคราะห์ร่างฉบับสภาผู้แทนราษฎรโดยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ชี้ให้เห็นว่า ชาวอเมริกันที่มีรายได้น้อยกว่า 16,999 ดอลลาร์ต่อปี จะสูญเสียเงินประมาณ 820 ดอลลาร์ต่อปี ซึ่งคิดเป็นการลดลง 5.7% ของรายได้เฉลี่ยสำหรับกลุ่มนี้
ในทางกลับกัน กลุ่มคนที่รวยที่สุด 0.1% ซึ่งมีรายได้มากกว่า 4.3 ล้านดอลลาร์ จะได้รับประโยชน์ถึง 390,000 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้น 2.8%
6. กระทบมลรัฐยากจน
วิธีหนึ่งที่ร่างกฎหมายของทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาใช้ในการลดการใช้จ่ายคือ การตัดลดโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อชาวอเมริกันที่ยากจนกว่าอย่าง “โครงการแสตมป์อาหาร” หรือ Supplement Nutrition Assistance Program (SNAP) ซึ่งข้อมูลวิเคราะห์ร่างกฎหมายภาษีทรัมป์โดย Commonwealth Fund ซึ่งเป็นหน่วยงานคลังสมอง แสดงให้เห็นว่า การตัดลดโครงการแสตมป์อาหารนี้ จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อบางรัฐที่ทรัมป์ได้รับคะแนนเสียงสูงมาก เช่น “รัฐมิสซิสซิปปี” ซึ่งเป็นรัฐติดอันดับความจนต้นๆ ของสหรัฐ
7. คนไม่มีประกันสุขภาพมากขึ้น
ในร่างภาษีทรัมป์ มีการตัดลดงบประมาณโครงการ Medicaid ซึ่งเป็นประกันสุขภาพสำหรับคนยากจน โดยสำนักงานงบประมาณรัฐสภาประเมินว่า จะทำให้จำนวนชาวอเมริกันที่ไม่มีประกันสุขภาพ เพิ่มขึ้นเกือบ 12 ล้านคน ภายในปี 2034
8. บั่นทอนนโยบายลดโลกร้อน
พรรครีพับลิกันกำลังใช้ร่างกฎหมาย OBBB เป็นเครื่องมือในการบั่นทอนกฎหมายลดเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act) ซึ่งเป็น “นโยบายด้านสภาพภูมิอากาศ” ที่เป็นหัวใจสำคัญของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ร่างกฎหมายทรัมป์ที่เสนอโดยสภาผู้แทนราษฎร มีมาตรการที่นักวิจารณ์กล่าวว่า จะสกัดกั้นการลงทุนในพลังงานสะอาด
จากการวิเคราะห์ของบริษัทวิจัย Rhodium Group พบว่า ภายใต้กฎหมาย Inflation Reduction Act เดิม สหรัฐกำลังอยู่ในเส้นทางที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 40% จากระดับปี 2005 ภายในปี 2035 แต่การยกเลิกมาตรการเหล่านี้โดยพฤตินัย จะทำให้การลดลงดังกล่าวลดลงไปมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ยังอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าสาธารณูปโภคของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร่างฉบับวุฒิสภาที่เพิ่มภาษีสำหรับโครงการพลังงานลม และแสงอาทิตย์ ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่จำกัดการใช้วัสดุจากบางประเทศ เช่น จีน
Rhodium ประเมินว่า มาตรการนี้อาจทำให้ต้นทุนพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นถึง 10-20% ซึ่งยังไม่รวมการสูญเสียเครดิตภาษีที่ได้รับจากกฎหมาย IRA อีกด้วย
9. กระทบรายได้ประเทศยากจน
หนึ่งในข้อกำหนดที่แฝงอยู่ในร่างกฎหมายฉบับนี้คือ การเก็บภาษีเงินส่งกลับประเทศ จากแรงงานที่ไปทำงานในต่างประเทศ (Remittances) โดยร่างเริ่มแรกเสนออัตราภาษีสูงถึง 3.5% แต่ฉบับของวุฒิสภาได้ปรับลดอัตราภาษีนี้ “ลงเหลือ 1%” และจำกัดประเภทของธุรกรรมที่ต้องเสียภาษี
แม้จะในอัตราที่ลดลงเหลือ 1% แต่ก็ยังคงสร้างผลกระทบต่อเอลซัลวาดอร์ เนื่องจากประเทศนี้พึ่งพิงเงินโอนจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก และยังเผชิญกับการลดความช่วยเหลือจากต่างประเทศด้วย ทำให้แรงงานที่ส่งเงินกลับประเทศ และครอบครัวในเอลซัลวาดอร์ได้รับผลกระทบ ซึ่งการจำลองผลกระทบโดยหน่วยงานคลังสมอง Centre for Global Development พบว่าผลกระทบต่อเอลซัลวาดอร์ จะเทียบเท่า 0.6% ของรายได้ประชาชาติรวม อีกทั้งยังกระทบประเทศยากจนอื่นๆ เช่น ฮอนดูรัส จาเมกา ฯลฯ
ความภักดีต่อทรัมป์ VS เสถียรภาพการคลัง
แม้ร่างกฎหมายฉบับนี้ ผ่านการเห็นชอบจากชั้นวุฒิสภาได้สำเร็จ แต่ก็มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรครีพับลิกันหลายคนประกาศจุดยืน “คัดค้าน” ร่างฉบับล่าสุดนี้ โดยให้เหตุผลถึงความกังวลด้านต้นทุนการคลัง และเนื้อหาของกฎหมาย
ไม่ว่าร่างกฎหมาย One Big Beautiful Bill จะมีหน้าตาสุดท้ายเป็นอย่างไร หรือจะลงเอยด้วยชะตากรรมแบบใด นี่จะเป็นบททดสอบครั้งสำคัญที่ชี้วัดถึง “ความน่าเชื่อถือด้านการคลัง” ของพรรครีพับลิกันในฐานะพรรคเสียงข้างมาก และยังเป็นการวัด “ความจงรักภักดี” ที่มีต่อ ปธน.ทรัมป์ด้วยเช่นกัน
อ้างอิง: economist, cnbc, กรุงเทพธุรกิจ
พิสูจน์อักษร….สุรีย์ ศิลาวงษ์