อีสานแห่ปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ แทน“หอมมะลิ” จี้รัฐรับมือ ผวาฉุดขีดแข่งขันข้าวพรีเมียม
ประเทศไทยอาจเข้าสู่จุดเปลี่ยนสำคัญของระบบการผลิตข้าว เมื่อสัดส่วนพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน ซึ่งเป็นฐานผลิตหลักของข้าวเกรดพรีเมียม เริ่มมีแนวโน้มลดลง ท่ามกลางความกังวลของภาคเกษตรและการส่งออกที่เกรงว่าข้าวไทย อาจเสียศูนย์ในตลาดโลก
ทั้งนี้จากประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปีรวมประมาณ 62 ล้านไร่ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือถือเป็นแหล่งปลูกใหญ่ที่สุด มีพื้นที่รวมกว่า 38-39 ล้านไร่ หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นนานํ้าฝนและนิยมปลูกข้าวหอมมะลิ ซึ่งถือเป็นข้าวคุณภาพสูงที่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคทั้งในประเทศและตลาดต่างประเทศ
นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณการเปลี่ยนพันธุ์ข้าวของเกษตรกรบางกลุ่มในภาคอีสานที่หันไปปลูกข้าวหอมพวง หรือพันธุ์ทางเลือกอื่น ๆ แทนข้าวหอมมะลิ เนื่องจากสามารถให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่า ทนทานต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และต้นทุนการผลิตตํ่ากว่า แม้จะต้องแลกกับคุณภาพและราคาขายที่ลดลงก็ตาม
“ชาวนาหลายรายเริ่มเปลี่ยนพันธุ์เพราะผลตอบแทนที่มั่นคงกว่า แม้รู้ว่าหอมพวงคุณภาพด้อยกว่าหอมมะลิ และไม่สามารถนำไปส่งออกในตลาดพรีเมียมได้ แต่ด้วยปัญหาแล้งบ่อย ต้นทุนสูง และราคาข้าวหอมมะลิไม่แน่นอนในบางปี ทำให้หลายคนตัดสินใจหันไปทางที่ปลอดภัยกว่า” นายปราโมทย์ กล่าว
สำหรับในปี 2567 ประเทศไทยส่งออกข้าวรวมทั้งสิ้น 9.94 ล้านตัน มูลค่า 225,656 ล้านบาท โดยข้าวขาวเป็นชนิดที่ส่งออกมากที่สุด ปริมาณ 5.75 ล้านตัน มูลค่า 121,641 ล้านบาท ขณะที่ ข้าวหอมมะลิ ซึ่งถือเป็นดาวเด่นของตลาดพรีเมียม ส่งออกได้เพียง 1.43 ล้านตัน มูลค่า 49,308 ล้านบาท
นายปราโมทย์ ระบุว่า หากไม่มีนโยบายจากภาครัฐมาจูงใจให้เกษตรกรรักษาพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ เช่น ประกันรายได้ขั้นตํ่าที่เหมาะสม การพัฒนาพันธุ์ให้ให้ผลผลิตดีขึ้น และการสนับสนุนการตลาดส่งออก ไทยอาจต้องเผชิญความเสี่ยงเสียพื้นที่ในตลาดข้าวหอมระดับโลกให้แก่คู่แข่งอย่างเวียดนามและกัมพูชา ที่พัฒนาเร็วและได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง
“ข้าวหอมมะลิไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจ แต่มันคืออัตลักษณ์ของข้าวไทย ถ้าไม่รักษาไว้ให้ดี วันหนึ่งอาจสายเกินไป ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องเร่งพัฒนาสายพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ที่มีความหลากหลาย และให้ผลผลิตสูง ตอบโจทย์ผู้บริโภคในต่างประเทศเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน” นายปราโมทย์ กล่าว