‘ต่างชาติ’ทิ้งหุ้นไทยครึ่งแรก 8 หมื่นล้าน ปมการเมืองไร้ทิศทาง-เศรษฐกิจซบ
ตั้งแต่ต้นปี 2568 “นักลงทุนต่างชาติ” ยังคงเทขายหุ้นไทยต่อเนื่อง หลังพบการเทขายสุทธิตั้งแต่ต้นปีกว่า 7.8 หมื่นล้านบาท ท่ามกลางเศรษฐกิจที่โตต่ำสุดในอาเซียน และการเมืองภายในที่ยังไร้เสถียรภาพ ปัจจัยเหล่านี้กำลังบั่นทอนความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทย เมื่อเทียบกับประเทศกับตลาดหุ้นภูมิภาค นักวิเคราะห์ระบุว่า จากกระแสการลงทุนโลกที่หันไปสู่ธุรกิจเทคโนโลยีมากขึ้น แต่ธุรกิจในไทยกลับยังเป็นแบบ Old Economy Business เป็นหลัก
“รัฐศักดิ์ พิริยะอนนท์” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า นักลงทุนต่างชาติได้มีการขายหุ้นไทยออกไปอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ต้นปี สะท้อนถึงความน่าสนใจของตลาดทุนไทย “ลดลง” อย่างมาก เทียบกับตลาดต่างประเทศ ซึ่งหุ้นไทยถือเป็นหนึ่งในตลาดที่มีผลงานต่ำกว่าตลาดอื่น ๆ เกือบมากที่สุดในโลก ซึ่งการเติบโตจีดีพีของไทยอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้การเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนดูไม่ดีนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ด้านปัจจัยการเมืองยังคงเป็นประเด็นกดดัน
ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทยยังคงพึ่งพาธุรกิจแบบ Old Economy Business เป็นหลัก ทำให้ไม่สามารถตามทันกระแสโลกอย่าง New Economy หรือกลุ่มเทคโนโลยี Tech ได้ ซึ่งแตกต่างจากกระแสเงินทุนทั่วโลกที่มักไหลเข้าสู่กลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูงและเป็นเทรนด์เทคโนโลยี
“ในช่วง 1-3 เดือนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย เช่น จีน ไต้หวัน และเกาหลีใต้ มีการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะหุ้นเกาหลีใต้ที่ฟื้นตัวดีขึ้นหลังการเลือกตั้งในต้นเดือนที่ผ่านมา ทำให้เห็นกระแสเงินทุนไหลกลับเข้าไปค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม หุ้นไทยยังคงมีผลงานที่ต่ำกว่าตลาดอื่น ๆ”
โดยเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีมีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญกับ Technical Recession เนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรกมีการเร่งส่งออกค่อนข้างมาก ทำให้คำสั่งซื้อในครึ่งปีหลังอาจลดลง ด้วยปัจจัยลบที่รุมเร้ารอบด้าน ทำให้มีการประเมินว่า นักลงทุนต่างชาติอาจจะยังคงไม่กลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งอาจจะต้องรอปัจจัยบวก ที่ชัดเจน ซึ่งในขณะนี้ยังไม่เห็นปัจจัยใด ๆ ที่จะดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติกลับมาลงทุนในประเทศไทยได้
“อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล” ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ภาพรวมการลงทุนต่างชาติตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีการเทขายสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง รวมประมาณ 78,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันไม่ให้น้ำหนักกับทิศทางการลงทุนของต่างชาติมากเท่าเมื่อก่อน เนื่องจากนักลงทุนกลุ่มนี้อาจใช้โปรแกรม Robot ในการทำกำไรระหว่างวัน ยอดขายสุทธิที่เห็นในแต่ละวันคือยอดที่ต่างชาติสามารถทำกำไรและปิดออเดอร์ได้ภายในวันเดียวกัน ตัวอย่างเช่น อาจขายหุ้น 100 บาท และซื้อคืนในราคา 85 บาท ทำให้ได้กำไรทันที 15 บาท ซึ่งยอดขายสุทธิที่ปรากฏเป็นลบนั้น เป็นผลจากการทำกำไรลักษณะดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม หากสังเกตจะพบว่า แม้จะมียอดขายออกจำนวนมาก แต่สัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติกลับไม่ได้ลดลง แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่การขายหุ้นออกไปจริงๆ แต่เป็นการทำกำไรแล้วบันทึกยอดออกมาเป็นยอดขายสุทธิ ซึ่งตัวเลขยอดขายรายเดือนของนักลงทุนต่างชาติตั้งแต่ต้นปี ถึงปัจจุบัน เดือน ม.ค. ขายออก 11,300 ล้านบาท ก.พ. ขายออก 6,600 ล้านบาท มี.ค. ขายออก 21,800 ล้านบาท เม.ย. ขายออก 14,700 ล้านบาท พ.ค. ขายออก 16,100 ล้านบาท และมิ.ย. ขายออก 8,000 ล้านบาท
“กรรณ์ หทัยศรัทธา” หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุนและนักเศรษฐศาสตร์ สายงานวิจัย บล.ซีจีเอส-อินเตอร์เนชันแนล (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลเสริมว่า ภาพรวมของนักลงทุนต่างชาติยังคงเป็นการขายออก หรือไม่ซื้อเพิ่ม สาเหตุหลักที่ต่างชาติยังคงเทขายหรือชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมาจาก 2 ปัจจัยสำคัญ 1.เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำที่สุดในอาเซียน โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยคาดการณ์การเติบโตที่ 1.7% ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ที่ 2.3% และ 2.ความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งเดือนกรกฎาคมนี้จะเต็มไปด้วยเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญหลายอย่าง
ทั้งนี้ ในส่วนของปัจจัยทางการเมืองถูกมองว่าเป็นตัวกดดันตลาดหุ้นในช่วง 1-3 เดือนข้างหน้า ตั้งเป้าดัชนี SET ไว้ที่ 1,200 จุด และเชื่อว่านักลงทุนต่างชาติจะยังคงเป็นผู้ขายสุทธิ หรือยังไม่กลับมาซื้อสุทธิในเร็วๆ นี้