"เท้ง-ช่อ" ไม่เห็นด้วยศาลรัฐธรรมนูญสั่ง "อิ๊งค์" หยุดปฏิบัติหน้าที่ ชี้นายกฯรักษาการควรยุบสภา
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาชน ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวความว่า
ในสภาวการณ์ทางการเมือง ณ ปัจจุบัน หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว รวมถึงการจัดคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ที่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นการจัดสรรบนการต่อรองกันของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองเพื่อความอยู่รอดทางการเมือง มากกว่าการจัดสรรบนพื้นฐานของความรู้ความสามารถ ผมเห็นว่าสิ่งที่ประเทศและประชาชนต้องการมากที่สุดตอนนี้ คือรัฐบาลที่
-มีเสถียรภาพและสมาธิในการทำงาน
-มีความชอบธรรมทางการเมืองและได้รับความไว้วางใจจากประชาชน
-มีคณะผู้บริหารที่มีศักยภาพในการรับมือกับความท้าทายเฉพาะหน้าของประเทศ เช่น การแก้ไขความขัดแย้งไทย-กัมพูชา, การเจรจากำแพงภาษีสหรัฐอเมริกา ฯลฯ
ประเทศเราจะไม่สามารถมีรัฐบาลที่มีคุณสมบัติทั้งหมดข้างต้นนี้ได้
หากไม่มี “การเลือกตั้งใหม่” ซึ่งจะเป็นทางออกดีที่สุดในการฝ่าฟันวิกฤตครั้งนี้ โดยคืนอำนาจการตัดสินใจให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ
ณ วันนี้ การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ หากรักษาการนายกรัฐมนตรี ตอบรับข้อเสนอของพรรคประชาชน โดยตัดสินใจยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชน
แต่หากรัฐบาลยังคงเลือกที่จะไม่ยุบสภาด้วยตนเอง พรรคประชาชนจะใช้ทุกกลไกและทุกกระบวนการของสภา เพื่อทำให้เราได้เปลี่ยนรัฐบาลผ่านการเลือกตั้งครั้งใหม่โดยเร็วที่สุด
ท้ายที่สุด ผมและพรรคประชาชนยืนยันว่าพวกเราไม่เห็นด้วยกับกระบวนการนิติสงคราม ที่กำจัดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกไปโดยวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะการใช้ข้อหาเกี่ยวกับจริยธรรม ซึ่งไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัว ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของตุลาการเท่านั้น
ดังนั้น อีกหนึ่งโจทย์ที่สำคัญยิ่งของรัฐบาลชุดถัดไปในการแก้ไขปัญหานี้ คือการล้มล้างผลพวงรัฐประหาร ลบล้างมรดก คสช. ที่ฝังกลไกอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน สร้างกลไกการตรวจสอบรัฐบาลโดยประชาชนมีส่วนร่วม
ผมเชื่อว่าการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไม่มีทางตัน ยกเว้นว่ามีคนบางกลุ่มต้องการทำทุกวิถีทางให้มันไปสู่ทางตัน เพื่อนำไปสู่การใช้กลไกอประชาธิปไตย ยึดอำนาจการตัดสินอนาคตประเทศไปจากมือประชาชน
ขณะที่ น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊ก Pannika Chor Wanich ระบุว่า
ไม่เห็นด้วยกับที่คุณแพทองธารถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ และกระบวนการนิติสงครามกำลังทำหน้าที่อีกครั้งในการเอานายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งออกจากตำแหน่งด้วยข้อหาไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง
นายกไม่ควรบริหารประเทศต่อไปอีกแม้แต่วันเดียว แต่ควรยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจเลือกผู้บริหารประเทศคนใหม่ หรือขั้นต่ำลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ ไม่ใช่ยื้อต่อจนถึงนาทีสุดท้ายเพื่อพยายามรักษาตัวรอด
ดิฉันเข้าใจดีว่าคนไม่น้อยพอใจที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่คุณแพทองธารในวันนี้ เพราะไม่อยากให้นายกฯอยู่ต่อแม้แต่วันเดียว แต่ลองคิดดูว่า เราพอใจจริงๆ หรือที่จะให้องค์กรอิสระสามารถสอยนายกฯ ได้ด้วยเรื่องจริยธรรม เรื่องนี้ไม่ได้เกิดกับคุณแพทองธารคนแรก แต่เกิดมาแล้วหลายครั้ง และจะเกิดอีกในอนาคต
อย่าให้เสียงใครใหญ่กว่าเสียงประชาชน
"จตุพร" ประเมินสถานการณ์อาจนัดหมายชุมนุมใหญ่กลางเดือน ส.ค.นี้
เมื่อเวลา14.00 น. คณะแกนนำคณะรวมพลังแผ่นดิน ปกป้องอธิปไตยไทย สรุปรายละเอียดการจัดกิจกรรมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยยืนยัน 3 ข้อเรียกหลัก คือนายกฯ ต้องลาออก พรรคร่วมรัฐบาลต้องถอนตัว และปกป้องอธิปไตย พร้อมย้ำ จุดยืนไม่เอารัฐประหาร และไม่เอานายกฯ โดยหลังจากนี้ เตรียมยกแนวทางการชุมนุมให้เข้มข้นขึ้นกระจายไปต่างจังหวัดให้ครบทุกภูมิภาค พร้อมประเมินสถานการณ์อาจนัดหมายชุมนุมใหญ่อีกครั้งกลางเดือนสิงหาคมนี้
นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เปิดเผยว่า การชุมนุมที่ผ่านมาประชาชนมาร่วมด้วยตนเอง โดยไม่มีการจัดตั้ง ก่อนการชุมนุมมีการกล่าวหาว่า การจุดชุมนุมจะเป็นการปูทางให้การรัฐประหาร ซึ่งตนเองและแกนนำได้แถลงชัดเจนว่า ไม่เอารัฐประหาร มีข้อเรียกร้องเพียง 3 ข้อ เท่านั้น คือนายกฯ ต้องลาออก พรรคร่วมรัฐบาลต้องถอนตัว และปกป้องอธิปไตยของชาติ
นายจตุพร ยังกล่าวถึง กรณีที่พรรคประชาชนไม่เห็นด้วยกับการที่ประธาน สว.ยื่นเรื่องร้องเรียนไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงที่พรรคภูมิใจไทย ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา 151 ในประเด็นเรื่องความมั่นคงของชาติ กรณีคลิปเสียงหลุดและพฤติกรรมต่างๆ แต่จนถึงตอนนี้พรรคประชาชนยังไม่เห็นชอบ จึงอยากถามว่าพรรคประชาชนเป็นฝ่ายไหนกันแน่ เพราะการที่ประชาชนออกมาชุมนุมเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก พรรคประชาชนกลับเรียกร้องให้ประชาชนถอนตัวจากการชุมนุม จึงอยากให้ไปทบทวนให้ดี อย่าใส่ความว่าประชาชนเรียกร้องรัฐประหาร
ส่วนทิศทางการชุมนุมหลังจากนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ รวมถึงเวทีต่างจังหวัด จะเลือกจังหวัดที่มีความพร้อม เช่น สามารถรวบรวมประชาชนได้ หรือ ในระหว่างนี้หากเกิดสถานการณ์ฉับพลันใน กทม.ก็จะแถลงข่าวและนัดหมายกันเป็นระยะ ส่วนเวทีใหญ่ขอประเมินสถานการณ์ก่อน โดยคาดว่า อาจจัดชุมนุมอีกครั้งกลางเดือนสิงหาคมนี้