GCNT Expo 2025 งานมหกรรมความยั่งยืนระดับชาติ ขับเคลื่อน SDGs ด้วย 7Ts
สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand : GCNT) ภายใต้สหประชาชาติ (United Nations: UN) เครือข่ายความร่วมมือด้านความยั่งยืนของภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เตรียมจัดงาน “GCNT Expo 2025: Forward SDGs Faster Together – รวมพลังเร่งสร้างโลกที่ยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 29 – 31 กรกฎาคม 2568 ณ ทรู ดิจิทัล พาร์ค กรุงเทพฯ
โดยผนึกพลังองค์กรสมาชิกกว่า 100 องค์กร พร้อมพันธมิตรจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน และเยาวชน บนพื้นที่กว่า 4,500 ตารางเมตร เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ภายใต้กรอบ 7 Transformations หรือ 7Ts อย่างเป็นระบบ ถือเป็นงานระดับชาติครั้งประวัติศาสตร์ ที่เปิดเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นวัตกรรม และแนวปฏิบัติที่สามารถนำไปใช้จริง ขยายผลได้ และวัดผลได้ พร้อมกระตุ้นให้ธุรกิจไทยทุกขนาดปรับตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล
พลิกโฉมมิติการสื่อสารด้านความยั่งยืน
"ดร. ธันยพร กริชติทายาวุธ" ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) ได้เปิดเผยถึงภาพรวมและไฮไลท์ของงาน GCNT Expo 2025 ซึ่งเป็นความตั้งใจของ GCNT ที่จะพลิกโฉมมิติการสื่อสารด้านความยั่งยืนให้แตกต่างจากเดิม และมุ่งเน้นการสร้างสรรค์หาทางออกร่วมกันสำหรับความท้าทายของประเทศไทย
“งาน GCNT Expo 2025 ปีนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่จัดกิจกรรมด้านความยั่งยืนที่ไม่เหมือน 'Event' ทั่วไป แต่เป็นแพลตฟอร์มที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทุกเจเนอเรชั่น และครอบคลุมทุกอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่มองว่าเป็นทางรอดของประเทศ เรามีเจตนาที่จะทำให้นักธุรกิจ ผู้บริหารระดับสูง พนักงาน เยาวชน สมาชิก GCNT รวมถึงผู้ประกอบการต่างๆ ได้เข้ามาร่วมสร้างสรรค์และค้นหา ‘Solution’ หรือทางออกร่วมกัน ไม่ใช่เพียงแค่มานั่งฟังการบรรยายหรือเสวนาเท่านั้น ตั้งเป้าได้ผลลัพธ์ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นแนวคิดแบบ ‘For Faster Together’ เราเชื่อว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนในปีนี้ จะไม่ใช่แค่การเล่าเรื่อง (storytelling) แต่จะเกิดการระดมสมองเพื่อหาคำตอบในบริบทของภูมิปัญญาไทย”
ขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs
งาน GCNT EXPO 2025 ถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์การเร่งขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) อย่างรอบด้าน ภายใต้กรอบ 7Ts ซึ่งสะท้อนบทบาทสำคัญของภาคธุรกิจไทย ไม่เพียงเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่ยังมีศักยภาพในการเร่งพาประเทศก้าวสู่เป้าหมาย SDGs ผ่านการลงมือทำใน 7 มิติหลัก ได้แก่ Table, Tourism, Tech, Trade, Transition, Talent และ Trust
โดยกรอบแนวคิดนี้จะช่วยให้ธุรกิจไทยไม่เพียงแค่ ‘ปรับตัว’ แต่สามารถ ‘นำการเปลี่ยนแปลง’ และ ‘สร้างความร่วมมือ’ เพื่อเร่งสร้างอนาคตที่ยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรม พื้นที่จัดงานประกอบด้วย
- Main Stage: เป็นเวทีหลักในลักษณะ Auditorium ใช้สำหรับเสวนาและเวิร์กชอประดับนำ ซึ่งอาจต้องลงทะเบียนล่วงหน้าเนื่องจากมีที่นั่งจำกัด
- Grand Hall (ชั้น 3 ตึก West): ใช้จัดนิทรรศการหลักและกิจกรรมบนเวทีเสวนา รวมถึงโซนจัดบูธขององค์กรต่าง ๆ ซึ่งสามารถเดินถึงกันได้สะดวก
- Exhibition Zone: เริ่มตั้งแต่ชั้นล่างของอาคาร ไปจนถึงชั้น 1, 2 และ 3 ครอบคลุมบูธแสดงผลงานและโซลูชันต่างๆ จากหลายองค์กร
- HR Corner (ห้อง 310 ชั้น 3): โซนเฉพาะสำหรับเยาวชน เน้นเรื่อง Career Development และ Future Opportunities โดยจะมีกิจกรรมที่ช่วยให้เยาวชนเข้าใจเส้นทางอาชีพ และแนวโน้มในอนาคต รวมถึงกิจกรรมฝึกอบรมด้าน Human Skills และ Soft Skills
- Workshop Area: เป็นห้องอบรมขนาดเล็ก สำหรับการจัดเวิร์กชอปในรูปแบบ Training Class หรือกิจกรรมเกม ที่เน้นทั้งการพัฒนาความคิด การเติบโตภายใน (Inner Development) และการดูแลจิตใจ เช่น เวิร์กชอปด้านการฟื้นฟู สุขภาวะจิต และความหมายของการทำงานร่วมกันในฐานะมนุษย์
วิสัยทัศน์และนโยบาย 7Ts
ดร.ธันยพร อธิบายต่อว่า ในปีนี้อยากสร้างความเข้าใจใหม่ว่า "Sustainability" ไม่ใช่แค่เรื่องเล่าอีกต่อไป แต่มันคือการมีส่วนร่วมเพื่อหาทางออกที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย หลายคนอาจสงสัยว่า "ภูมิปัญญาไทย" ที่เราพูดถึงคืออะไร จริงๆ แล้ว เวลาเราเข้าร่วมเวทีระดับโลกอย่างของ UN Global Compact ซึ่งมีมากกว่า 100 ประเทศเข้าร่วม เราก็มักจะได้เห็นตัวอย่างดีๆ จากต่างประเทศ แต่ประเด็นสำคัญคือ เราต้องรู้จักปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของไทยด้วย
โดย Auditorium Stage จะเป็นการแสดงวิสัยทัศน์และนโยบาย 7Ts ดังนี้
- Table : ฝ่าวิกฤตความมั่นคงทางอาหารและเกษตรกรรม ด้วยเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะและแนวทางการผลิตที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตรหรือประมง พร้อมรักษาจุดแข็งของไทยในฐานะ “ครัวของโลก” ผ่านการพูดคุยเกี่ยวกับระบบ Food Supply System อย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยเน้นแนวคิด Regenerative Agriculture หรือ “เกษตรฟื้นฟู” ที่ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสร้างความยั่งยืนให้กับระบบอาหารของประเทศ พร้อมนำเสนอเทคโนโลยี Smart Farming ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในระดับเกษตรกร
- Tourism : ฟื้นฟูความเชื่อมั่นและยกระดับการท่องเที่ยวไทยด้วย ‘Smart Tourism’ โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ ปลอดภัย ยั่งยืน และน่าดึงดูดใจ ยิ่งขึ้น ทั้งในด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวทั่วโลก เพื่อให้การท่องเที่ยวไทยกลับมาแข็งแกร่งอย่างยั่งยืน
- Tech & AI : ทางออกของความยั่งยืน หรือจะกลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ทิ้งหลายคนไว้ข้างหลัง? ประเทศไทยและภาคธุรกิจกำลังเผชิญความท้าทายในการปรับตัวเข้าสู่ยุค AI โดยประเด็นสำคัญคือ การสร้างสมดุลระหว่างประโยชน์ของ AI กับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้พลังงานสูงของ Data Center เทียบกับศักยภาพของ AI ในการเป็น ‘Climate Solution’ ที่ช่วยลดคาร์บอนและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม งานนี้จะเน้นนำเสนอ โซลูชันที่เป็นรูปธรรม และสามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ทั้งในระดับธุรกิจและบุคคล
- Trade : เส้นทางใหม่ของการค้าและการลงทุน เพื่อความยั่งยืนในยุคเศรษฐกิจสีเขียว
ภาคธุรกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการปรับตัวตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้สามารถแข่งขันและเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจผ่าน Green Finance และ Green Business นอกจากนี้ ยังจะมีการพูดคุยถึง บทบาทของประเทศไทยในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก ว่าจะสามารถ “ยืนหยัดและยืดหยุ่น” ได้อย่างไร ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจ โดยยึดหลักแนวคิด “จากความเสี่ยงสู่ความยืดหยุ่น” หรือ Risk to Resilience
- Transition : แม้ประเทศไทยจะมีแผนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดในระดับชาติเข้าไว้ชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติ เรายังเดินไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของโลก งานนี้จึงมุ่งนำเสนอแนวทางใหม่และนวัตกรรมทางพลังงานที่เหมาะสมกับบริบทของไทย ทั้งในด้านความมั่นคงและต้นทุนที่ยั่งยืน เช่น SMR (Small Modular Reactor) และ Nano-Nuclear Units ซึ่งเป็นเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็กที่ปลอดภัยและมีศักยภาพในอนาคต การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ไม่เพียงเกี่ยวข้องกับแหล่งพลังงาน แต่ยังครอบคลุมถึงการออกแบบระบบที่ตอบโจทย์ทั้ง ความมั่นคงทางพลังงาน ราคาที่เป็นธรรม และ การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อย่างแท้จริง
- Trust : ความไว้วางใจ คือรากฐานสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะในยุคที่มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) กลายเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจของนักลงทุนและคู่ค้าระดับโลก การยกระดับธรรมาภิบาล การต่อต้านการค้ามนุษย์ การปราบปรามการทุจริต และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน คือหัวใจสำคัญที่จะช่วยยกระดับ ความเชื่อมั่นของนานาชาติ สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงส่งผลต่อ ภาพลักษณ์ของประเทศ แต่ยังมีผลโดยตรงต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจไทย ทั้งในด้านการค้า การท่องเที่ยว และการดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก
- Talent : กลยุทธ์ด้านกำลังแรงงานไทยเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสังคมสูงวัย และการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หัวใจสำคัญคือการพัฒนาทุนมนุษย์ ผ่านการยกระดับศักยภาพของบุคลากรในทุกช่วงวัย ทั้งการ Up-skill และ Re-skill พนักงานในองค์กร เพื่อเพิ่ม Productivity และ Efficiency ซึ่งถือเป็นจุดคานงัดสำคัญในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
จะมีตัวแทนจากภาคธุรกิจ โดยเฉพาะระดับผู้บริหารจาก 10 องค์กรหลัก ประกอบด้วยทั้งทีมผู้บริหาร พนักงาน และสมาชิก ได้แก่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด(มหาชน) บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน)