CADT DPU จัด Flight Simulator Landing Challenge 2025 สร้างแรงบันดาลใจสู่อาชีพนักบิน
เมื่อวันที่ 21 ก.ค.วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน (CADT) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดการแข่งขันการบินเสมือนจริงโดยเครื่องจำลองการบิน (Simulator) ภายใต้โครงการ Flight Simulator Landing Challenge 2025 เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้สัมผัสประสบการณ์การบินเสมือนจริงผ่านเครื่องจำลองการบิน เสริมสร้างทัศนคติที่ดีต่ออาชีพนักบิน และจุดประกายแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่มีความใฝ่ฝันในเส้นทางการบิน พร้อมเปิดหลักสูตรใหม่ “ปริญญาตรีควบใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี” ภายในระยะเวลา 3.5 ปี ภายใต้กิจกรรมดังกล่าว ยังมีรุ่นพี่นักบินจากสายการบินพาณิชย์ ร่วมแชร์ประสบการณ์ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับน้อง ๆ โดยพิธีเปิดมี อาจารย์ปวรรัตน์ สุภิมารส รักษาการคณบดี วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน และ นายพันธ์พิสุทธิ์ นุราช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย อินเตอร์ ไฟลอิ้ง จำกัด ร่วมเป็นประธานกล่าวเปิดงาน ณ วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
อาจารย์ปวรรัตน์ สุภิมารส รักษาการคณบดี วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน ( CADT ) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU ) เปิดเผยว่า CADT DPU มุ่งหวังให้โครงการนี้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ การแสดงออก และการค้นพบศักยภาพของตนเอง โดยมีครูนักบินจากโรงเรียนการบิน Thai Inter Flying ร่วมให้คำแนะนำอย่างถูกต้องตามหลักวิชาชีพ พร้อมทั้ง ใช้โอกาสนี้ในการส่งต่อแรงบันดาลใจและองค์ความรู้ที่ถูกต้องแก่เยาวชนไทย โครงการนี้ยังสะท้อนถึงการใช้ทรัพยากรของมหาวิทยาลัยให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคม ด้วยการเปิดประตูสู่แหล่งเรียนรู้ด้านการบินที่มีมาตรฐานระดับสากล สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างสถาบันและชุมชน พร้อมส่งเสริมบทบาทของมหาวิทยาลัยในการพัฒนาและสนับสนุนอนาคตของเยาวชนไทยอย่างยั่งยืน
การแข่งขันดังกล่าว มีนักเรียน-นักศึกษา กว่า 60 คน เข้าร่วมทดลองประสบการณ์การบินเสมือนจริง โดยผู้รับคะแนนสูงสุด จะได้รับรางวัลตั๋วเครื่องบินภายในประเทศ พร้อมชั่วโมงช่วยฝึกบินจำลองแบบ Boeing 737-800NG จำนวน 30 นาที พร้อมใบประกาศนียบัตรและเข็มนักบิน ส่วนลำดับที่ 2-3 ได้รับรางวัลเป็นชั่วโมงฝึกบินพร้อมใบประกาศนียบัตรและเข็มนักบิน เช่นกัน
โอกาสนี้ CADT DPU ยังได้เปิดตัวหลักสูตร ปริญญาตรีควบใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี โดยเป็นความร่วมมือกับ Thai Inter Flying ซึ่งเป็นโรงเรียนการบินชั้นนำ โดยเป็นหลักสูตรนวัตกรรมใหม่ “Co-Creation : Pilot Pathway” ที่ออกแบบมาเพื่อสานฝันการเป็นนักบินพาณิชย์ ภายหลังจบการศึกษานักศึกษาจะได้รับทั้งวุฒิปริญญาตรีและใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี ในระยะเวลา 3.5 ปี ด้วยงบประมาณ 2.59 ล้านบาท
“จากข้อมูลที่น่าสนใจของสำนักงานสภานโยบาย การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) ซึ่งได้ทำการสำรวจความต้องการบุคลากรทักษะสูงใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย 2568-2572 พบว่าอุตสาหกรรม ที่มีความต้องการมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ จำนวนกว่า 440,573 ตำแหน่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน Customer Service และด้านเทคโนโลยีการบิน ด้วยเหตุนี้ หลักสูตรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจการบิน การจัดการเทคโนโลยีการบินและการอำนวยการบิน รวมถึง Co-Creation : Pilot Pathway ที่วิทยาลัยฯ ได้พัฒนาขึ้น จึงตอบสนองต่อความต้องการแรงงานในภาคส่วนนี้โดยตรง” อาจารย์ปวรรัตน์ กล่าว
นายพันธ์พิสุทธิ์ นุราช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย อินเตอร์ ไฟลอิ้ง จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือทางวิชาการในหลักสูตร Co-Creation : Pilot Pathway บทบาทของ Thai Inter Flying เราจะรับผิดชอบดูแลการฝึกอบรมในส่วนของนักบินทั้งหมด ครอบคลุมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติทางอากาศ โดยสถานที่สำหรับการฝึกอบรมของโรงเรียนตั้งอยู่บนถนนวิภาวดีรังสิต ไม่ไกลจาก
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และมีสนามบินสำหรับนักบินอยู่ที่คลอง 11 ปทุมธานีและจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นสถานฝึกที่ดีเยี่ยม ทั้งในด้านของทำเลที่ตั้งและการดูแลนักเรียน สำหรับการลงนามความร่วมมือครั้งนี้เน้นย้ำถึงมาตรฐานการฝึกอบรมระดับสูง หลักสูตรนี้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้ที่สนใจรวมถึงผู้ปกครองที่ต้องการส่งบุตรหลานเข้าศึกษา ได้รับการดูแลที่ดีที่สุดตลอดหลักสูตรจากการประสานการทำงานของทั้งสององค์กร ทั้ง มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ และโรงเรียนการบิน Thai Inter Flying ซึ่งเป็นโรงเรียนการบินชั้นนำ เป้าหมาย คือ การดูแลนักศึกษาให้สำเร็จการศึกษาตามมาตรฐานที่กำหนดไว้