มส.ไฟเขียวแก้กฎมหาเถรสมาคม ‘พระเสพเมถุน’ หากหลักฐานชัด ต้อง ‘ปาราชิก’ ภายใน 10 วัน
เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ที่ตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร มีการประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) ครั้งที่ 18 โดยมีสมเด็จพระธีรญาณมุนี วัดเทพศิรินทราวาส เป็นประธานการประชุม ภายหลังการประชุมเป็นเวลากว่า 1.30 ชั่วโมง รศ.ดร.ชัชพล ไชยพร ผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการพระพุทธศาสนา รักษาราชการแทน ผอ.สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม และ ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษา มส. ร่วมกันแถลงข่าว โดย ศ.พิเศษ ธงทอง กล่าวว่า ที่ประชุม มส. ได้เห็นชอบร่างกฎมหาเถรสมาคมว่าด้วยการลงนิคหกรรม ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2568) เนื่องจากฉบับเดิมมีการประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2521 อีกทั้งขั้นตอนในการลงนิคหกรรม (การลงโทษตามพระธรรมวินัย) ยังใช้เวลานาน ทั้งยังมีขั้นตอนพิจารณาชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์ และชั้นฎีกา แต่ปัจจุบันมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้สามารถหาพยานหลักฐานได้ง่ายขึ้น เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาอธิกรณ์ (เรื่องที่เกิดขึ้นอันสงฆ์ต้องจัดต้องทำ) ดังนั้นในร่างกฎมหาเถรสมาคมว่าด้วยการลงนิคหกรรม ฉบับที่ 2 จึงได้ปรับแก้เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว โดยอำนาจในการลงนิคหกรรมยังคงเป็นของคณะสงฆ์ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐมีหน้าที่ในการสนับสนุนข้อมูล หลักฐาน จากนั้นให้ พศ. ทำหน้าที่ในการนำเสนอคณะสงฆ์ และที่สำคัญหากพบว่ามีหลักฐานชัดเจนในเรื่องความผิดวินัยต้องอาบัติปาราชิกในข้อการเสพเมถุน จะต้องดำเนินการให้ปาราชิกภายใน 10 วัน โดยที่ไม่มีขั้นตอนในการอุทธรณ์ ฎีกา อีกต่อไป และหากพบว่าขั้นตอนในการอธิกรณ์ของพื้นที่ใดล่าช้า ให้ พศ. นำเสนอ มส. พิจารณาให้คณะกรรมการกลางที่ มส. ตั้งขึ้น รับเรื่องมาพิจารณาแทน และจะต้องวินิจฉัยภายใน 10 วันนับตั้งแต่ได้รับเรื่อง โดยหากพบว่าเป็นความผิดถึงขั้นปาราชิก คณะกรรมการกลางจะมีอำนาจในการให้สละสมณเพศได้ทันที
รศ.ดร.ชัชพล กล่าวว่า สำหรับกฎมหาเถรสมาคมอีกฉบับที่ มส. มีมติเห็นชอบ คือ ร่างกฎมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการให้พระภิกษุสละสมณเพศ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2568) ซึ่งฉบับเดิมมีการประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2538 โดยในฉบับใหม่จะมีการระบุว่า หากพระสงฆ์ที่ละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิณ หรืออาบัติรุนแรงแต่ไม่ถึงขั้นปาราชิก เช่น ความผิดครุกาบัติ สังฆาทิเสส หากไม่สละสมณเพศจะทำให้เกิดความเสียหาย เสื่อมเสียแก่คณะสงฆ์ ให้สละสมณเพศได้ โดยให้ พศ. นำเรื่องเสนอต่อเจ้าคณะภาค ในกรณีที่เป็นพระภิกษุทั่วไป และหากเป็นพระสังฆาธิการให้เสนอเจ้าคณะใหญ่ เป็นผู้พิจารณา แต่ถ้าพระที่ถูกร้องเรียนเป็นเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะภาค เจ้าคณะใหญ่ และพระราชาคณะ ให้เสนอ มส. พิจารณา โดยหากมีหลักฐานชัดเจน แต่ไม่ยอมสละสมณเพศ ให้ พศ. แจ้งขออารักขาจากเจ้าหน้าที่บ้านเมืองในการดำเนินการให้สละสมณเพศต่อไป นอกจากนี้หาก พศ. เห็นว่าการอธิกรณ์เมื่อมีพระถูกร้องเรียน มีความล่าช้า ให้ดำเนินการเสนอเรื่องไปที่เจ้าคณะใหญ่ได้ทันที โดยหลังจากนี้จะมีการนำร่างกฎมหาเถรสมาคมทั้ง 2 ฉบับ ทูลถวายสมเด็จพระสังฆราช เพื่อลงพระนาม ก่อนที่จะประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป