ดร.รุ่ง พร้อมประสานนโยบาย “ธปท.-คลัง” ลดขัดแย้ง
ดร.รุ่ง ชี้ เศรษฐกิจไทยเจอปัจจัยเสี่ยงครึ่งปีหลัง 68 นโยบายการเงินต้องยืดหยุ่น พร้อมประสาน “ธปท.-คลัง” ลดขัดแย้ง
ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษสำนักข่าวรอยเตอร์ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2568 ว่า เศรษฐกิจไทย กำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างหนักในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 เนื่องจากความไม่แน่นอนของมาตรการภาษีจากสหรัฐฯ ควบคู่ไปกับความวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศที่ปะทุขึ้นใหม่
ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส หนึ่งในสองรายที่อยู่ระหว่างการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธปท.คนต่อไปที่จะต้องมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ ให้สัมภาษณ์กับ รอยเตอร์ว่า ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจและความไม่แน่นอน นโยบายการเงินของธนาคารกลางควรผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ
ภาพรวมเศรษฐกิจและปัจจัยกดดัน
ดร.รุ่ง คาดการณ์ว่า "เราจะเห็นการชะลอตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากผลกระทบของภาษี" พร้อมเสริมว่า"เราคาดการณ์ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด และผลกระทบของภาษียังทำให้ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศเราขยายใหญ่ขึ้น"
เศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการเติบโตที่ช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยปีที่แล้วเติบโตเพียง 2.5% และธปท. ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวช้าลงที่ 2.3% ในปี 2568 ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงและการบริโภคที่ซบเซา
นโยบายการเงินและความท้าทายที่รออยู่
ดร.รุ่ง กล่าวว่า ความไม่แน่นอนทางการเมือง ในปัจจุบันยังไม่ใช่ประเด็นที่น่ากังวลมากนัก เนื่องจากคาดว่าการใช้จ่ายภาครัฐและการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ จะดำเนินต่อไปได้โดยไม่มีการหยุดชะงัก
หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย มา 3 ครั้ง ตั้งแต่ในเดือนตุลาคม ปี 2567 และในเดือนกุมภาพันธ์ และเมษายนในปีนี้ ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ธปท. ได้ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไว้ที่ 1.75% โดยให้เหตุผลว่าจำเป็นต้องสำรองกระสุนทางนโยบายไว้เผื่อกรณีที่เศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่าที่คาดไว้
ดร.รุ่ง ซึ่งไม่ได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 7 ท่าน กล่าวว่า สมาชิก กนง. รู้สึกว่านโยบายควรอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ"ส่วนตัวคิดว่าการคงอัตราดอกเบี้ยก็เพื่อประเมินสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และอีกประเด็นคือการเพิ่มพื้นที่นโยบายที่เหลืออยู่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด"
ดร.รุ่งยังกล่าวอีกว่า "หากแนวโน้มเศรษฐกิจแย่ลง ถ้าฉันเป็นสมาชิก กนง. ฉันจะไม่ลังเลที่จะผ่อนคลาย" โดย ธปท. มีกำหนดทบทวนนโยบายครั้งต่อไปในวันที่ 13 สิงหาคม
นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ และธนาคารกลางจะพยายามดูแลให้การเคลื่อนไหวของค่าเงิน โดยไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยที่ไม่ใช่พื้นฐาน เช่น ราคาทองคำโดยในปีนี้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 5.7% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ
แม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อที่ติดลบจะไม่ได้บ่งชี้ถึงภาวะเงินฝืด แต่เป็นการสะท้อนถึงอุปสงค์ที่อ่อนแอมาก และเป็นข้อกังวลว่าแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจค่อนข้างช้า
บทบาทของ ธปท. กับรัฐบาล: การทำงานร่วมกันเพื่อลดความขัดแย้ง
พรรคเพื่อไทยที่เข้ามาบริหารประเทศในปี 2566 มีความเห็นที่ขัดแย้งกับ ธปท. มาโดยตลอดในประเด็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยและค่าเงิน โดยปัจจุบัน ธปท. มีผู้ว่าการ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ซึ่งจะครบวาระ 5 ปีในเดือนกันยายนนี้ เมื่อปีที่แล้ว ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เคยกล่าวว่าความเป็นอิสระของธนาคารกลางเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ
ดร.รุ่ง วัย 56 ปี กล่าวถึงกรณีดังกล่าว ธปท. จำเป็นต้องสื่อสารและทำงานร่วมกับรัฐบาลอย่างใกล้ชิดมากขึ้น "เมื่อพูดคุยกันตั้งแต่เนิ่นๆ หลายสิ่งหลายอย่างสามารถแก้ไขได้ก่อนที่จะถึงจุดที่เผชิญหน้ากันมากขึ้น" ดร.รุ่ง ซึ่งทำงานที่ธปท.มาเกือบสามทศวรรษกล่าว "หวังว่าจะสามารถเลี่ยงความขัดแย้งได้“
ดร.รุ่ง ซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จาก Massachusetts Institute of Technology ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. พร้อมกับ นายวิทัย รัตนากร วัย 54 ปี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารออมสิน ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐที่ใหญ่ที่สุดของไทย
เมื่อเผชิญกับข้อกังวลที่ว่ารัฐบาลที่แข็งกร้าวจะผลักดันให้ธนาคารกลางต้องปฏิบัติตามแนวทางของรัฐ ดร.รุ่งเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเปิดกว้างว่า "เราสามารถแสดงความกังวลได้ และสามารถแสดงสิ่งที่คิดได้อย่างอิสระ เพราะนั่นคือความเป็นอิสระ โดยไม่ใช่เรื่องของการขัดแย้งกัน”
อ้างอิง : reuters.com