รถ EV ยังไม่น่าไว้ใจ - น้ำมันก็แพง เมื่อการมี ‘รถยนต์’เต็มไปด้วยความเสี่ยง เมืองจะแก้ปัญหาการเดินทางอย่างไรได้บ้าง?
ท้องถนนที่มักเต็มไปด้วยรถยนต์มากมายอย่างแน่นขนัดกลายเป็นภาพชินตาสำหรับใครหลายคน โดยเฉพาะเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ
ปัจจุบันมีรถหลากหลายแบรนด์และเรทราคาที่แตกต่างกันออกไปจนจดจำได้ไม่หมด ทั้งยังมีคู่แข่งหน้าใหม่อย่างรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพราะประหยัดค่าพลังงานได้มากกว่ารถยนต์ใช้เชื้อเพลิงน้ำมันหรือรถสันดาป และถูกมองว่าดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า
รถ EV ถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ผู้ประกอบการรายใหญ่มาจากประเทศมหาอำนาจอย่างจีน เช่น BYD Changan หรือ AION และสหรัฐอเมริกา เช่น Tesla ซึ่งรถเหล่านี้ก็ยังมีราคาที่สูงเมื่อเทียบกับรายได้ของคนไทย ตัวเลือกยอดนิยมจึงเป็นแบรนด์ที่มีราคาจับต้องได้ เช่น Neta
แต่สุดท้ายรถยนต์ที่แม้จะราคาถูก แต่การแข่งขันในตลาดนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เห็นชัดเจนได้จากกรณีที่ บริษัท โฮซอน นิว เอนเนอยี่ ออโตโมบิล (Hozon New Energy Automobile) ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนในแบรนด์ Neta ยื่นล้มละลายอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2568 ส่งผลให้ผู้ที่ซื้อรถได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะการดูแลรักษารถหรือการขายต่อก็เป็นไปได้ยาก
เรื่องนี้ทำให้หลายคนกังวลและพิจารณาการใช้รถ EV อย่างถี่ถ้วนมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันผู้ใช้รถน้ำมันก็มีความน่ากังวลไม่แพ้กัน นอกจากค่าเชื้อเพลิงที่สูงอยู่แล้วยังต้องเผชิญกับวิกฤตต่างๆ ที่ส่งผลให้น้ำมันแพงขึ้นไปอีก เนื่องด้วยสงครามอิหร่าน - อิสราเอล และสหรัฐฯ ที่ส่งผลให้น้ำมันดิบราคาพุ่งสูงขึ้น เพราะรัฐสภาอิหร่านมีมติเอกฉันท์ตัดสินใจ ปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งน้ำมันจากแหล่งน้ำมันในประเทศต่างๆ เช่น ซาอุดิอาระเบีย อิรัก กาตาร์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE)
แม้เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2568 สงครามอิสราเอล-อิหร่านจะเข้าสู่กระบวนการหยุดยิงและจบสงครามภายในเวลา 24 ชั่วโมง หลังถล่มกันยืดเยื้อมานาน 12 วัน แต่อย่างไรเรื่องนี้ก็ยังส่งผลต่อความมั่นคงทางพลังงานอย่างรุนแรง ส่งผลให้ประเทศไทยต้องเตรียมเก็บพลังงานสำรองไว้หากเกิดภาวะขาดแคลน
- วิกฤติพลังงานโลกใกล้ตัวคนไทย! เมื่ออิหร่านปิด “ช่องแคบฮอร์มุซ” ราคาน้ำมัน ส่อทะลุ 120 ดอลลาร์
- ยิว-อิหร่านหยุดยิง "ทรัมป์" แถลงร่วมมือสันติภาพ จบสงคราม 12 วัน หลังถล่มทิ้งทวน ก่อนถึงเส้นตาย
ประเด็นทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบต่อผู้คนมากมายที่จำเป็นต้องใช้รถยนต์ ไม่ว่าจะรถไฟฟ้าหรือรถน้ำมันย่อมมีความเสี่ยง และผู้ที่ต้องรับความเสี่ยงนั้นก็คือประชาชนคนทั่วไปที่ต้องแบกรับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากรถยนต์ยังถือเป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิตของคนส่วนใหญ่ที่ไม่สามารถพึ่งพาขนส่งสาธารณะหรือทางเดินเท้าในปัจจุบันได้
ไทยรัฐพลัสจึงชวนสำรวจความเสี่ยงของผู้ใช้รถยนต์ที่ต้องเผชิญกับทั้งค่าใช้จ่ายในด้านพลังงาน การพัฒนาของเทคโนโลยี และภาวะวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก ที่ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำในสังคม เพื่อไปสู่การหาคำตอบของคำถามที่ว่าเราจะสามารถจัดการความเสี่ยงเหล่านี้และเพิ่มทางเลือกให้คนอย่างไรได้บ้าง
ความเสี่ยงของการมีรถสักคันมีอะไรบ้าง
ปัจจุบันรถยนต์มี 3 ประเภทหลัก ได้แก่ 1.รถใช้น้ำมัน 2.รถ EV และ 3.รถไฮบริด (HEV: Hybrid Electric Vehicle) ซึ่งรถไฮบริดถือว่าเป็นรถที่ได้เปรียบมากที่สุดเนื่องจากใช้พลังงานผสมผสานระหว่างเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและมอเตอร์ไฟฟ้า โดยไม่ต้องชาร์จไฟและเติมน้ำมันเพียงอย่างเดียว ส่งผลให้ประหยัดน้ำมันกว่ารถน้ำมันปกติ แต่รถประเภทนี้ก็ยังถือว่ามีราคาสูงสำหรับคนส่วนใหญ่ที่มีงบจำกัดและบางคนมองว่าการซื้อรถ EV ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าที่ถูกกว่าแต่แรกอาจคุ้มค่ามากกว่าและไม่ต้องพึ่งพาน้ำมันที่มีความผันผวนสูงได้
ขณะเดียวกันแม้รถน้ำมันจะเป็นเทคโนโลยีเก่า แต่ด้วยราคารถที่จับต้องได้และประสิทธิภาพที่น่าเชื่อถือกว่ารถ EV ราคาประหยัด ทำให้รถประเภทนี้ยังคงเป็นตัวเลือกหลักที่หลายคนเลือกใช้ แม้จะตามมาด้วยค่าเชื้อเพลิงที่แพงกว่าก็ตาม
มวลอารมณ์ของความกังวลต่างๆ นานาของการมีรถยนต์สักคันจึงกลายเป็นที่ถกเถียงอยู่เสมอในสังคม อีกทั้งรถยนต์ยังเป็นทรัพย์สินที่มูลค่าลดลงมากกว่าเพิ่มขึ้น การพิจารณาซื้อรถหรือเปลี่ยนไปใช้รถยนต์แบบไหนย่อมต้องคิดไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนเป็นธรรมดา ไม่ว่าจะความคุ้มค่าในการซื้อรถ ค่าพลังงาน ค่าซ่อมบำรุง หรือค่าใช้จ่ายแฝงต่างๆ เช่น ค่าทางด่วน,ค่าที่จอดรถ,ค่าประกันและภาษี
นอกจากนี้รถยนต์ยังถือเป็นหนึ่งในหนี้ครัวเรือนที่ส่งผลต่อสภาพคล่องทางการเงินมาก จนทำให้หลายคนผ่อนรถต่อไม่ไหว หรือบางกรณีรถมักถูกนำไปจำนำหรือขายเป็นอันดับแรกๆ เพื่อหมุนเงินในครัวเรือนและลดภาระค่าใช้จ่าย
กลุ่มคนที่มีรถยนต์ในประเทศไทยส่วนใหญ่คือในแถบกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมักเป็นกลุ่มพนักงานบริษัท ข้าราชการและกลุ่มอาชีพรายได้มั่นคงที่ต้องเดินทางไปทำงานหรือทำธุรกิจ ขณะที่หลายจังหวัดทั่วประเทศไทยก็มีคนจำเป็นต้องใช้รถยนต์ส่วนตัวเป็นจำนวนมากเนื่องจากไม่มีขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุม
ฉะนั้น ด้วยงบประมาณที่จำกัดและภาระการผ่อนชำระที่เป็นรายจ่ายระยะยาว ทำให้หลายคนไม่สามารถจัดการความเสี่ยงเกี่ยวกับตัวรถที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดเวลา ความเสี่ยงด้านพลังงานที่ต้องพึ่งพาจากแหล่งน้ำมันต่างประเทศเป็นหลัก หรือการใช้รถยนต์ EV สัญชาติต่างประเทศที่อาจมีปัญหาการเงิน ความสามารถในการแข่งขัน หรือความมั่นคงต่างๆ ที่จะส่งผลต่อกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยอย่างหนัก
การพยายามแก้ปัญหาวิกฤตพลังงานน้ำมันด้วยการเปลี่ยนไปใช้รถ EV จึงไม่ใช่ทางออกที่ช่วยคนกลุ่มนี้ได้มากนัก เพราะแม้แต่รถ EV ก็มีความเสี่ยงต่างๆ ที่ต้องคำนึงไม่แพ้กัน ทั้งยังสะท้อนให้เห็นความเหลือมล้ำในสังคมเพิ่มขึ้น เช่น ผู้มีรายได้สูงสามารถเปลี่ยนไปใช้รถ EV ที่มีคุณภาพได้เร็ว
ขณะที่กลุ่มคนรายได้น้อยยังต้องใช้รถน้ำมันและเสี่ยงต่อการแบกรับค่าใช้จ่ายจากวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก ไม่ว่าจะเป็นสงครามทางกายภาพ สงครามทางการค้า หรือสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ขณะที่รถ EV ราคาประหยัดก็ยังไม่สามารถการันตีได้ว่าจะเป็นเช่นเกี่ยวกับกรณี Neta อีกหรือไม่
แต่อย่างไรความเสี่ยงเหล่านี้ต้องวิเคราะห์ตามแต่กรณี ซึ่ง Neta ถือเป็นตัวอย่างสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงการซื้อรถของคนไทยที่มีปัจจัยหลายข้อที่ส่งผลต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
ในเริ่มแรกที่ Neta เข้ามาขายในไทยถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่รถรุ่น Neta V เป็นที่นิยมมากในไทยและครองยอดขายอันดับ 1 ในเดือนมิถุนายนของปี 2566 เนื่องด้วยราคาที่ลดลงจากนโยบาย EV 3.0 ของภาครัฐ ที่ส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้รถ EV มากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนชนชั้นกลางที่มีรายได้มั่นคงที่ตัดสินใจซื้อรถเร็วเพราะแรงกระตุ้นจากนโยบายรัฐ ที่ทำให้รถมีราคาต่ำลงเหลือประมาณ 429,000 - 459,000 บาท จากเดิมราคาเริ่มต้น 549,000 บาท
จุดสำคัญของเรื่องนี้คือ Neta V เข้ามาเติมเต็มช่องว่างในตลาดรถ EV ที่ส่วนใหญ่มีราคาสูงในตอนนั้นได้ดี และมีศักยภาพเพียงพอต่อการใช้งานในชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ในไทย ขณะที่ในจีน Neta ไม่สามารถทำยอดขายได้ดีนักเนื่องจากการแข่งขันสูงและสู้กับกำลังผลิตของบริษัทใหญ่ๆ ไม่ได้ Neta จึงเลือกเจาะตลาดในต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย แต่ผลตอบรับกลับไม่ดีมากเท่าไทย เนื่องจากรถแบรนด์อื่นๆ มีนวัตกรรมที่มากกว่าและไม่ได้มีนโยบายสนับสนุนเช่นไทย
ความมั่นคงของ Neta จึงเป็นที่น่ากังวลมาอย่างต่อเนื่อง เพราะ Neta มีปัญหาการจัดการการเงินภายในองค์กร มีหนี้สินจำนวนมาก และมีการค้างจ่ายซัพพลายเออร์ (Supplier) และพนักงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการในบริษัทอย่างหนักจนเกิดการยื่นล้มละลายในที่สุด
นี่ถือเป็นผลกระทบมหาศาลที่เกิดขึ้นในไทย เพราะไม่ใช่เพียงแค่สร้างความเสียหายของผู้ซื้อรถ Neta เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปยังรัฐบาลที่ใช้งบประมาณแผ่นดินสนับสนุนการซื้อรถ EV ด้วย ทำให้หลายคนตั้งข้อสงสัยว่ารถยนต์ที่มีความเสี่ยงเช่นนี้ถูกนำเข้ามายังประเทศไทยได้อย่างไร
คำถามนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้หลายคนตระหนักถึงความสำคัญในการพิจารณาซื้อรถมากขึ้น รวมถึงรัฐบาลที่ต้องเข้ามาจัดการความเสี่ยงจากรถยนต์อย่างจริงจัง เพราะปัจจัยที่ส่งผลให้คนจำเป็นต้องใช้รถคือขนส่งสาธารณะที่ไม่ทั่วถึงและเมืองที่ไม่เอื้อต่อการเดินทางด้วยการเดินเท้าหรือการขี่จักรยาน เป็นการผลักภาระและความเสี่ยงไปยังประชาชนให้ซื้อรถยนต์ไปโดยปริยาย
ถ้ารถยังจำเป็นต้องใช้ เราจะจัดการความเสี่ยงอย่างไร?
เพียงรถคันเดียวก็ทำให้หลายคนหายใจไม่ทั่วท้องกันแล้ว ความเครียดหรือความกังวลใจเหล่านี้อาจไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่หากเรายังจำเป็นต้องใช้ เราจะจัดการความเสี่ยงเหล่านั้นอย่างไรได้บ้าง
สำหรับคนที่มีรถอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นประเภทไหน ย่อมมีปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ราคาน้ำมัน ค่าซ่อมบำรุง ค่าเสื่อม ภัยพิบัติ อุบัติเหตุหรือสถานการณ์วิกฤตต่างๆ ซึ่งผู้ใช้รถทำได้เพียงการเตรียมพร้อมรับมือเท่านั้น เช่น การทำประกัน หรือการศึกษาข้อมูลรถของตัวเองเพื่อรู้ข้อดีข้อเสียต่างๆ
การติดตามข่าวสารและข้อมูลที่เชื่อถือก็เป็นอีกตัวช่วยที่ทำให้ผู้ใช้รถรู้เท่าทันและไม่ตระหนกต่อปัญหาที่เกิดขึ้นจนเกินไป เพราะการจัดการความเสี่ยงในการเป็นเจ้าของรถยนต์ในยุคปัจจุบันต้องอาศัยความเข้าใจรอบด้าน การวางแผนทางการเงินที่ดี และการติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างสม่ำเสมอ
อย่างไรก็ตามผู้มีรายได้น้อยในภาวะค่าครองชีพที่สูงอาจประสบกับสถานการณ์ ‘ผ่อนรถไม่ไหว’ อาจต้องใช้มาตรการสำหรับลูกหนี้ต่างๆ เช่น การรีไฟแนนซ์เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ เพื่อลดจำนวนเงินที่ต้องผ่อนต่องวดลง การเจรจาประนอมหนี้ การขายดาวน์และเปลี่ยนสัญญาผู้ซื้อ หรือคืนรถยนต์ให้ไฟแนนซ์ ซึ่งนั่นอาจเป็นตัวเลือกสุดท้าย แต่ถือเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการความเสี่ยงที่สำคัญก่อนจะแบกรับภาระหนี้ที่เกินตัวไปมากกว่านี้
ขณะที่ผู้ที่กำลังคิดซื้อรถก็มีปัจจัยอื่นที่ส่งผลให้พวกเขาต้องรับความเสี่ยงในรถยนต์หลากยี่ห้อที่มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะรถที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ อาจพบปัญหาบางอย่างได้หรือกลยุทธ์การค้าต่างๆ ที่ยั่วยวนให้เราซื้อรถเหล่านั้น การคัดสรรรถยนต์ที่เหมาะสมกับตัวเองจึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ผู้ต้องการซื้อรถควรวางแผนและพิจารณาความเสี่ยงในอนาคตด้วย
ทั่วโลกจัดการปัญหา ‘รถยนต์’ อย่างไร?
แม้รถยนต์จะทำให้ผู้คนเดินทางสะดวกขึ้น แต่การมีปริมาณรถมากเกินไปย่อมสร้างปัญหาได้ในหลายด้าน เช่น รถติด อุบัติเหตุ หนี้สินครัวเรือนและมลพิษ รัฐบาลหลายแห่งทั่วโลกจึงมีบทบาทสำคัญในการเข้ามาควบคุมการใช้รถยนต์และก่อให้เกิดนโยบายสำคัญที่ช่วยให้ผู้คนสามารถเดินทางได้สะดวกมากขึ้น โดยลดการพึ่งพารถยนต์ เช่น
ซูริก สวิตเซอร์แลนด์ ลงทุนกับระบบขนส่งสาธารณะอย่างมหาศาลทั้งระบบรถราง (Tram), รถบัส, และรถไฟที่ครอบคลุม ตรงเวลาและรวดเร็วมาก รวมทั้งยังปรับปรุงทางเท้าและสร้างเส้นทางจักรยานที่ปลอดภัยทั่วเมือง
อีกหนึ่งนโยบายสำคัญคือ ‘2000-Watt Society’ ที่เป็นนโยบายระยะยาวที่มุ่งลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหัวประชากรให้เหลือ 2,000 วัตต์ โดยมีเป้าหมายหลักในการลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว แม้นี่จะเป็นนโยบายที่อาจจะดูเข้มงวด แต่ระบบขนส่งที่ดีทำให้สัดส่วนการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัดและประชาชนส่วนใหญ่หันมาใช้ขนส่งสาธารณะ เดิน หรือปั่นจักรยานมากขึ้น ส่งผลต่อเนื่องให้คุณภาพชีวิตต่างๆ ดีขึ้น เช่น คุณภาพอากาศที่ดี มลภาวะทางเสียงที่น้อยลง และมีพื้นที่ให้คนเดินเท้าและทำกิจกรรมได้มากขึ้น
แม้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนส่งสาธารณะจะสูง แต่ซูริกสามารถลดค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจที่เกิดจากรถติด ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขจากมลภาวะ และยังสามารถลดการนำเข้าน้ำมันในระยะยาว
โคเปนเฮเกน เดนมาร์ก ลงทุนสร้างเลนจักรยานเชื่อมโยงกันทั่วเมืองที่ทั้งกว้างขวางและปลอดภัย นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญจักรยานมากกว่ารถยนต์ เช่น การสร้างสะพานสำหรับจักรยาน การจัดลำดับให้สัญญาณไฟเขียวกับจักรยานก่อน ตามสถานีขนส่งสาธารณะต่างๆ มีที่จอดจักรยานขนาดใหญ่และบางช่วงเวลาก็อนุญาตให้นำจักรยานขึ้นรถไฟได้
นอกจากนี้ยังมีมาตรการจำกัดรถยนต์ เช่น การจำกัดพื้นที่สำหรับรถยนต์ในใจกลางเมือง ลดพื้นที่จอดรถและเพิ่มค่าใช้จ่ายในการขับรถเข้าเมือง
มาตรการเหล่านั้นส่งผลให้โคเปนเฮเกนมีสัดส่วนการเดินทางด้วยจักรยานสูงที่สุดในโลก โดยมีประชากรกว่า 62% ใช้จักรยานในการเดินทางไปทำงานหรือโรงเรียนในแต่ละวัน ส่งผลให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้นจากการปั่นจักรยานทุกวัน จำนวนรถยนต์ลดลงและทำให้เมืองน่าอยู่ขึ้น อีกทั้งการลงทุนทางจักรยานยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าการสร้างถนน
ฟรีบูร์ก เยอรมนี วางผังเมืองที่ส่งเสริมให้คนเดิน ปั่นจักรยานหรือใช้รถรางเป็นหลัก โดยการตั้งร้านค้า โรงเรียน และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อยู่ใกล้ในระยะที่เดินถึง รวมถึงใช้มาตรการตั๋วโดยสารราคาถูกหรือตั๋วแบบเหมาที่ส่งเสริมให้คนใช้รถรางหรือรถบัส
นอกจากนี้ยังมีสนับสนุนการสร้างโครงการที่อยู่อาศัยที่ไม่มีที่จอดรถยนต์ส่วนตัว หรือ ‘Car-Free Housing’ โดยออกแบบให้มีที่จอดจักรยานและเพิ่มระบบให้บริการ Car-Sharing (รถยนต์ให้เช่าร่วมกัน) ทำให้ผู้คนส่วนมากไม่มีความจำเป็นต้องซื้อรถยนต์และมีพื้นที่ไร้รถยนต์ที่ปลอดภัยต่อเด็กและคนเดินเท้า
เมืองนี้จึงถือเป็นตัวอย่างสำคัญที่นำผังเมืองและขนส่งสาธารณะมาผนวกกันได้อย่างไร้รอยต่อ ทั้งยังส่งเสริมให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างชุมชนที่เข้มแข็งและยังคงให้ผู้คนมีตัวเลือกในการใช้รถ โดยไม่ส่งผลต่อหนี้ครัวเรือนมากนัก
โตเกียว ญี่ปุ่น แม้ทั่วประเทศญี่ปุ่นจะมีจำนวนรถยนต์สูง แต่ในเมืองใหญ่อย่างโตเกียว ผู้คนส่วนใหญ่มักเลือกที่จะไม่ขับรถส่วนตัวในชีวิตประจำวัน เนื่องจากมีโครงข่ายรถไฟที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ รวดเร็วและตรงเวลา ส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมการใช้ขนส่งสาธารณะจนผู้คนคุ้นเคยและนิยมใช้รถไฟเดินทาง ขณะที่รถยนต์มีค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่สูง เช่น ที่จอดรถ ภาษี และค่าบำรุงรักษา
อีกทั้งพื้นที่รอบสถานีรถไฟยังถูกพัฒนาขึ้น ทำให้คนสามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ได้โดยการเดินหรือใช้รถไฟ เช่น ชุมชน ที่อยู่อาศัย แหล่งช้อปปิ้ง และสำนักงานต่างๆ
ข้อได้เปรียบของการลงทุนรถไฟที่ครอบคลุมเช่นนี้คือการประหยัดเวลาเดินทางและทำให้ประชาชนสามารถเดินทางได้ในขอบเขตที่กว้าง เช่น รถไฟฟ้าชินคังเซ็นที่สามารถขึ้นจากโตเกียวไปเกียวโต (ห่าง 454.5 กม.) ได้ภายใน 2 ชั่วโมงกว่า (3 กม.ต่อนาที) เปรียบเทียบกับไทยระยะห่างจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ (ห่าง 687 กม.) ต้องใช้เวลาถึง 10 ชั่วโมง (1 กม.ต่อนาที)
ปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ จีน มีมาตรการควบคุมจำนวนรถยนต์ส่วนตัวที่เข้มงวด เนื่องจากจีนประสบปัญหาถติดและมลพิษอย่างหนัก โดยใช้ระบบโควตาป้ายทะเบียน ซึ่งได้มาจากการประมูลหรือการจับฉลากเพื่อให้ได้สิทธิจดทะเบียนรถ
ขณะที่จีนเลือกสนับสนุนรถ EV มากกว่าส่งผลให้มีข้อจำกัดน้อยกว่ารถยนต์น้ำมัน และมีราคาถูกกว่า เพื่อให้คนมาซื้อรถ EV มากขึ้น นอกจากนี้จีนยังลงทุนในระบบสาธารณะและโครงสร้างพื้นที่ฐานสำหรับ EV เป็นจำนวนเงินมหาศาล ทั้งรถไฟฟ้า รถบัสไฟฟ้า จักรยานเช่า สถานีชาร์จ EV และสถานีเปลี่ยนแบตเตอร์รี่รถยนต์กระจายไปทั่วประเทศ ส่งผลให้ชาวจีนสามารถซื้อรถ EV ด้วยความมั่นใจว่าจะมีระบบรองรับที่ครบครัน พร้อมกับตัวเลือกการเดินทางอื่นๆ ที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเดินทาง
ปัจจุบันประเทศไทยมีความพยายามในการควบคุมการใช้รถยนต์และส่งเสริมระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ เช่น รถไฟฟ้า รถเมล์และเรือโดยสาร เพื่อลดความแออัดบนท้องถนน แต่ระบบเหล่านี้กระจุกตัวเพียงในกรุงเทพฯ และปริมณฑลบางจังหวัดเท่านั้น
อีกทั้งยังใช้เวลาเดินทางนานหลายชั่วโมงและหลายต่อเนื่องจากสภาพผังเมืองที่กระจัดกระจายและไม่เชื่อมต่อกัน ส่งผลให้ผู้คนต้องใช้รถยนต์ส่วนตัว แม้พวกเขาจะอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม การจัดการปัญหารถยนต์ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละประเทศด้วย เพราะการจัดการผังเมืองหรือการสร้างขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพต้องใช้การลงทุนมหาศาลและพิจารณาในหลายขั้นตอน
สำหรับประเทศไทยรถยนต์ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นในปัจจุบัน หากรัฐบาลสามารถลดความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากรถยนต์ได้ ด้วยการส่งเสริมให้การเดินทาสะดวกรวดเร็วมากขึ้นก็อาจเป็นส่วนที่ช่วยให้หลายคนลดภาระทางการเงินพร้อมกับส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีไปด้วย
อ้างอิง: dlt.go.th, fti.or.th, autolifethailand, grandprix.co.th, cnevpost.com, bloomberg, reuters.com, eppo.go.th, nesdc.go.th ,kasikornresearch.com, krungthai.com, scbeic.com, c40 , unhabitat.org
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ทำไมคนรุ่นใหม่ในประเทศร่ำรวยถึงหมดรักรถยนต์?
- เวียดนามเร่งเครื่องแข่งไทย-อินโดฯ ยกเลิกกฎ ‘ใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ’ เพื่อดึงบริษัทรถยนต์ตั้งฐานการผลิต
- สมุดปกขาว แนวทางลดฝุ่น PM 2.5 ทั้งที่ยังต้องใช้เวลา และทำได้เลย
ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : plus.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath