ไล่นายกฯ สำเร็จแล้วจบไหม? แน่ใจแค่ไหนว่าจะไม่สร้างเงื่อนไขใหม่ให้เกิดรัฐประหารอีกครั้ง
หลายความเห็นอาจดูแคลนว่า การชุมนุมเมื่อวันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน 2568 ของ ‘กลุ่มรวมพลังแผ่นดินปกป้องอธิปไตยไทย’ ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไม่น่าจะจุดติด และจำนวนคนที่มาเข้าร่วมก็อาจจะหรอมแหรมบางตา
แต่ความเห็นเหล่านั้นก็ถูกลบด้วยความจริง เมื่อผู้คนที่หลั่งไหลมาจากหลายสารทิศ ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทำให้ภาพที่เกิดขึ้นบริเวณรอบๆ อนุสาวรีย์ชัยฯ เต็มไปด้วยผู้ชุมนุมแน่นขนัด
อย่างที่รู้กันว่า ประเด็นที่ทำให้คนกลุ่มนี้หมดความอดทนจนไม่สามารถนั่งเฉยๆ อยู่หน้าทีวีได้ คือกรณีความขัดแย้งพรมแดนไทยและกัมพูชา โดยเฉพาะคลิปเสียงบทสนทนาของนายกฯ อิ๊งค์ - แพทองธาร ชินวัตร และ ฮุน เซน ถูกปล่อยออกมา ไม่ว่าด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่มันก็กลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายทำให้ต้องตบเข่าฉาดแล้วตัดสินใจออกมาร่วมปกป้องอธิปไตยไทยขับไล่นายกฯ กลางแดดกลางฝน โดยมีสายรุ้งใหญ่โตพาดผ่านสร้างภาพเสริมความ cinematic ให้อลังการเข้าไปอีก
การชุมนุม 28 มิถุนายน 2568 / ภาพ: จิตติมา หลักบุญ
จริงอยู่ว่าบุคคลที่หมุนเวียนกันจับไมค์บนเวทีปราศรัยเป็น ‘คนหน้าคล้ายๆ’ กับบรรดาแกนนำการชุมนุมพันธมิตรเมื่อ 2 ทศวรรษก่อน และ ‘คนหน้าคุ้น’ ในการชุมนุม กปปส. ช่วงปี 2556-2557 ผสมปนเปกับผู้ชุมนุมที่ก็น่าจะเคยผ่านประสบการณ์ 2 ม็อบที่กล่าวมาแล้วไม่มากก็น้อย
บรรยากาศโหยหาอดีต ‘การต่อสู้’ แบบ nostalgia อาจสวยหรูอบอุ่นสำหรับพี่ป้าน้าอา แต่คนจำนวนไม่น้อยกลัวเรื่องมันจะจบอีหรอบเดิม เพราะจำได้ไม่ลืมว่า การรวมพลเร้าอารมณ์ร่วมเฮโลประมาณนี้แหละ ที่นำไปสู่การรัฐประหารในปี 2549 และ 2557
จากปัญหาพรมแดนที่ยังไม่รู้จะเคลียร์จบอีท่าไหน ลามมาสู่การใช้เป็นสารตั้งต้นของการชุมนุม เป้าหมายจากปากคำแกนนำนั้นเรียบง่าย ว่าด้วย 3 ข้อเรียกร้อง
1. ให้ แพทองธาร ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ
2. ให้พรรคร่วมฯ ถอนตัวจากรัฐบาล
3. ให้ประชาชนสลายสีเสื้อมาร่วมปกป้องอธิปไตย
“เบสิกมาก” มิตรสหายบางคนอาจเห็นเช่นนี้ เพราะต่อให้ไม่มีการชุมนุมขับไล่จากภายนอกที่ ‘ง้าง’ รอให้คนสกุลชินวัตรเผลอสะดุดมานาน นายกฯ อิ๊งค์ก็กำลังเผชิญมรสุมจากทั้งพรรคร่วม อดีตพรรคร่วม และองค์กรอิสระที่ตรวจสอบ มิตรสหายคนที่ว่าจึงตั้งตนเป็นหมอดูทำนายล่วงหน้าประมาณว่า “พี่ว่าสงสัยไม่รอด” พร้อมกันนั้นสื่อหลายสำนักก็เตรียมนำเสนอข้อมูลแบออกมาเต็มหน้าจอว่า ถ้านายกฯ ลาออกหรือต้องพ้นตำแหน่งด้วยวิธีอื่น scenario ถัดไปมีใครบ้างในตะกร้าแคนดิเดตเดิมที่สามารถถูกเสนอเป็นนายกฯ คนใหม่ได้บ้าง
การชุมนุม 28 มิถุนายน 2568 / ภาพ: จิตติมา หลักบุญ
แต่เดี๋ยวก่อน ถ้ามันง่ายประมาณนี้ หากคำวินิจฉัยขององค์กรนอกสภาอย่างศาลรัฐธรรมนูญส่งให้ผลให้นายกฯ อิ๊งค์ แพทองธาร ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ซึ่งอาจจะตามมาด้วยมติให้พ้นตำแหน่งนายกฯ หรือหากรอดพ้นจากศาลรัฐธรรมนูญเพราะไม่รับเรื่อง หรือรับเรื่องแต่ยังไม่มีคำสั่งพักงาน นายกฯ อิ๊งค์ก็ยังต้องเจอด่านกลไกสภาที่ภูมิใจไทยตั้งเต็นท์ลับดาบรอยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจอยู่
เรียกได้ว่า ตอนนี้ความเป็นไปได้ที่นายกฯ จากบ้านชินวัตรคนที่ 3 จะ ‘ไป’ ดูง่ายกว่ามีโอกาส ‘อยู่ต่อ’
บรรดาคนหน้าคล้ายๆ ใครหน้าคุ้นๆ บนเวทีกลุ่มรวมพลังฯ รู้เห็นถึงความเป็นไปได้เหล่านี้หรือไม่? - ถ้าตอบว่าไม่รู้ เห็นทีว่าควรถึงเวลาต้องลงจากเวทีได้แล้ว
ย้อนไปที่ข้อเรียกร้อง ‘เบสิก’ ข้อแรก ถ้าผลออกมาว่า แพทองธาร ชินวัตร กลายเป็นอดีตนายกฯ เรียบร้อย สิ่งที่บรรดาผู้ชุมนุมควรทำคือเฉลิมฉลองความสำเร็จ ไชโยโห่ฮิ้ว ร้องเพลงชาติแสดงพลังความเป็นหนึ่งเดียวร่วมกัน - จากนั้นก็แยกย้ายกลับบ้านใครบ้านมัน
แต่บทเรียนการชุมนุมทางการเมือง โดยเฉพาะฝ่ายอนุรักษนิยมที่ผสมปนเปกับการชูหลักชาตินิยมสุดๆ ในช่วง 2 ทศวรรษของความขัดแย้ง ไม่เคยจบที่ข้อเรียกร้องแรก มิตรสหายท่านเดิมส่ายหัวและเริ่มปรารภขึ้นมาอีกหลังจากเห็นข่าวว่ากลุ่มร่วมพลังนัดพูดคุยยกระดับการชุมนุมว่า “พี่กะแล้ว…”
สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส.
ตัวอย่างอันใกล้ที่พอนึกกันได้แบบไม่ต้องค้น Google มาก คือการชุมนุมของ กปปส. ที่เริ่มต้นจากการต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่กลับจบลงที่รัฐประหาร - ทำไมหักมุมแบบนั้น
ลองไล่ไทม์ไลน์การยกระดับการต่อสู้ และการ ‘ขยับข้อเรียกร้อง’ ของการชุมนุม กปปส. ว่าจริงๆ แล้วพวกเขาต้องการเอาแค่ข้อเรียกร้องเบสิกๆ ข้อแรกแบบที่ว่าไว้จริงหรือ?
การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ปลายปี 2556 เริ่มต้นจากการต่อต้าน ‘พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่งสุดซอย’ ของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่้เชื่อกันว่าเป็นการล้างผิดเปิดทางให้ทักษิณกลับบ้าน ซึ่งท้ายที่สุด ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ก็ถูกตีตกเพื่อลดแรงกดดันทางการเมือง
แต่ม็อบที่นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ ยกระดับการต่อสู้ไปอีกขั้น โดยตั้งเวทีที่ถนนราชดำเนิน อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อระดมมวลชนมาชุมนุม ‘ระบอบทักษิณ’ กดดันให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ลาออก
วาทกรรมความเกลียดชังยิ่งลักษณ์ถูกผลิตออกมามากมายระหว่างการชุมนุม กปปส. ตั้งแต่นายกฯ โง่ ‘คอ-นก-รีต’ ไปจนถึง ‘หญิงชั่วเร่ขายชาติ’ ที่สุดแล้วยิ่งลักษณ์ก็ประกาศยุบสภาวันที่ 9 ธันวาคม 2556 พร้อมกล่าวประโยคที่น่าเห็นใจไม่น้อยว่า “ถอยจนไม่รู้จะถอยยังไงแล้ว” จากนั้นก็ประกาศวันเลือกตั้งใหม่ไว้ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
เหมือนจะบรรลุเป้าหมาย แต่ ‘สงครามครั้งสุดท้าย’ ของลุงกำนันสุเทพและ ‘มวลมหาประชาชน’ ยังไม่จบ ธงของการชุมนุมเปลี่ยนใหม่ ยกระดับเป็นไม่ยอมรับการยุบสภาและการเลือกตั้งใหม่ โดยมีข้อเสนอว่า ต้อง ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’ และตั้งสภาประชาชน
ข้อเรียกร้องหนึ่งที่ตามมาไปสุดท้างกว่านั้น และดันไปคล้ายคลึงกับสมัยม็อบพันธมิตรช่วงปี 2548-2549 คือ การขอนายกฯ พระราชทานเพื่อเป็นคนกลาง โดยอาศัยมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อการันตีว่าระบอบทักษิณจะถูกถอนรากไม่ได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามาอีก
แต่รัฐบาลยังคงทำตามแผน เดินหน้าสู่การเลือกตั้งตามระบบปกติ กปปส. เองก็เดินหน้าเช่นกัน คือเดินหน้าเปิดปฏิบัติการใหญ่สุดๆ ‘Shutdown Bangkok’ ปิดแยกสำคัญทั่วกรุงเทพฯ ตั้งแต่ 13 มกราคม 2557 พยายามสุญญากาศทางการเมือง ให้รัฐบาลรักษาการของยิ่งลักษณ์ไม่สามารถทำงานได้ ทำให้ขาดความชอบธรรม และกดดันให้รัฐบาลรักษาการลาออก
ปฏิบัติการนี้ยังเดินหน้าต่อ คราวนี้เดินหน้าไปปิดคูหาเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 และพรรคการเมืองบางพรรคก็บอยคอตเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เป็นโมฆะ เพราะไม่สามารถจัดให้แล้วเสร็จในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ต่อมาให้ยิ่งลักษณ์ก็ถูกวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งในวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 โดยมี วัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการนายกฯ แทน
การชุมนุม กปปส. 2556-2557
ระหว่างที่รัฐบาลกำลังง่อยเปลี้ยและเจียนล้ม กปปส. มวลมหาประชาชนยังคงกระหน่ำข้อเรียกร้องเป็นสงครามครั้งสุดท้าย คือขอนายกฯ คนกลาง หรือภาษาปากคือ ‘นายกฯ พระราชทาน’ ตามมาตรา 7 ต่อไป
มีบางแหล่งข้อมูลอ้างว่า ลุงกำนัน สุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศ ‘สงครามครั้งสุดท้าย’ ประมาณ 13 ครั้ง
ช่วงการชุมนุม กปปส. เกิดความรุนแรงไม่ต่างจากม็อบอื่นๆ ที่มีทั้งมือที่หนึ่ง มือที่สอง และมือที่สาม เช่นเหตุ ‘มือปืนป็อปคอร์น’ ที่ใช้อาวุธสงครามยิงใส่ฝ่ายตรงข้ามตรงแยกหลักสี่ ปาระเบิดใส่เวทีชุมนุมทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ยิง M79 ใส่บริเวณพื้นที่ชุมนุม ทั้งที่แยกราชประสงค์ แจ้งวัฒนะ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทำให้ กปปส. และเครือข่ายสนับสนุนต้องจัดทีมการ์ดรับมือ จนเกิดปะทะกันหลายครั้ง
เมื่อสถานการณ์เริ่มงวด สงครามครั้งสุดท้ายก็มาถึงจริงๆ เมื่อการชุมนุมที่เริ่มต้นจากต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย กลายเป็นการเปิดทางให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ขณะนั้น) นำคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจ ทำรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดยให้เหตุผลส่วนหนึ่งว่า เพื่อยุติความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงและอาวุธสงคราม มีแนวโน้มกลายเป็นสงครามกลางเมือง
บางความเห็นในสังคมออนไลน์พยายามเตือนให้ระแวดระวัง โดยอ้างอิงถึงการชุมนุมของ กปปส. ว่าต่อให้นายกฯ อิ๊งค์ ลาออกหรือยุบสภาแล้วจะจบ เพราะกลุ่มชุมนุมทางเมืองฝ่ายตรงข้ามรวบรวมคนได้มากพอ ข้อเรียกร้องจะถูกยกระดับขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อสร้างเวื่อนไขใหม่ แล้วรัฐประหารจะเกิดขึ้นเองโดยที่ไม่ต้องมีแกนนำคนไหนสารภาพว่ากวักมือเรียกทหารออกมา
การแสดงความเห็นหรือชุมนุมทางการเมือง เป็นสิทธิพึงมีในสังคมเสรีประชาธิปไตย ที่เปิดให้ผู้คนถกเถียงได้โดยอยู่บนฐานไม่ใช้ความรุนแรง แต่ผู้ชุมนุมเองก็ต้องมีสติรู้ตัวว่า การออกไปร่วมชุมนุมแสดงพลังของเรานั้นมีเป้าประสงค์จริงๆ ว่าอย่างไร
ถ้าโจทย์อยู่ที่แค่ขับไล่ แพทองธาร ชินวัตร แล้วเป้าหมายนี้สำเร็จ การชุมนุมควรจบลงโดยไม่ต้องวางเป้าหมายอื่นขึ้นมาใหม่ไว้ให้ตัวเองพุ่งชน
การชุมนุม 28 มิถุนายน 2568 / ภาพ: จิตติมา หลักบุญ
จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ผู้ชุมนุมต้องเตือนตัวเอง คนใกล้ชิดควรเตือนคนที่ไปร่วมชุมนุม ให้ยึดธงของตัวเองให้มั่น ถ้าการยกระดับใดๆ ‘เลยธง’ ที่ตั้งไว้ เช่น การเอาดินแดนที่เสียไปสมัย ร.ศ. 112 คืน หรือบุกพนมเปญเหมือนที่ สนธิ ลิ้มทองกุล พยายามบอกพร้อมๆ กับเปิดคำปราศรัยของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในคดีปราสาทพระวิหารตั้งแต่เมื่อ 60 กว่าปีที่แล้ว
เป้าหมายที่แกนนำพยายามสร้างขึ้นใหม่นั้นเป็นเป้าหมายเดียวกับเราหรือไม่ หรือแท้จริงแล้วมันคือขั้นตอนหนึ่งของการก้าวไปสู่ข้อเรียกร้องที่ไกลกว่าที่คิด ฉกฉวยโอกาสที่มีความขัดแย้งกับกัมพูชา นายกฯ เพลี้ยงพล้ำจากคำพูดผลักไสให้ทหารเป็นฝ่ายตรงข้าม ทำปฏิกิริยากระตุ้นประชาชนนิยมชมชอบทหารมากขึ้น กลายเป็นความคิดความเชื่อว่าทหารพึ่งพาได้มากกว่านักการเมืองทุกมิติ เพราะอย่างน้อยก็ปกป้องอธิปไตยด้วยใจ และไม่ขายชาติ
รู้สึกตัวอีกทีการชุมนุมที่ตั้งต้นจากเรื่องเล็กๆ บนข้อเรียกร้องเบสิกอย่างให้นายกฯ ลาออก ก็กลายเป็นการสร้างเงื่อนไขเปิดทางให้อำนาจนอกระบบเข้ามาชี้นำครอบงำการเมือง ทำให้ประชาธิปไตยไม่ใช่ของประชาชน และไทยก็สุ่มเสี่ยงจะถูกลากเข้าไปสู่วัฏจักร ‘วัฒนธรรมรัฐประหาร’ อีกครั้งหนึ่ง
ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : plus.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath