“ภูมิธรรม” ยังไม่ประกาศสงครามกับกัมพูชา – มอบอำนาจทหารปกป้องอธิปไตยอย่างเต็มที่
เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 เวลา 16.15 น. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ชี้แจงสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นบริเวณแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ภายหลังการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และ ครม.นัดพิเศษ ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
“ภูมิธรรม” ประชุม สมช. – ครม.นัดพิเศษ เผยยังไม่ประกาศสงครามกับกัมพูชา – มอบอำนาจทหารปกป้องอธิปไตยอย่างเต็มที่ภายใต้ กม.ระหว่างประเทศ – สั่งอพยพ ปชช.ออกจากพื้นที่เสี่ยง 50 กิโลเมตร – ลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูต – ‘จิราพร’ สั่งล้มผังรายการ NBT จัดเกาะติดสถานการณ์ไทย-กัมพูชา 24 ชม.
เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 เวลา 16.15 น .ภายหลังการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และ ครม.นัดพิเศษ เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบบริเวณแนวชายแดนไทย-กัมพูชา นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ชี้แจงสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นบริเวณแนวชายแดนไทย-กัมพูชาที่เกิดขึ้น ว่า เป็นเหตุปะทะระหว่างทหารกัมพูชา และทหารของไทยในพื้นที่ ทั้งนี้ จากการรายงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ พบว่ามีการใช้อาวุธหลากหลายประเภท ยิงเข้ามาในเขตแดนของไทยก่อน โดยไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน สร้างความเสียหายต่อชุมชนและประชาชนในพื้นที่ โดยมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวรวม 11 ราย เป็นพลเรือน 10 ราย และเจ้าหน้าที่ทหาร 1 ราย รวมถึงมีผู้บาดเจ็บ 28 ราย แบ่งเป็นพลเรือน 24 ราย และเจ้าหน้าที่ทหาร 4 นาย นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่ามีการยิงเข้าไปในบริเวณปั๊มน้ำมัน ร้านสะดวกซื้อ และโรงพยาบาลในพื้นที่ด้วย
“ดังนั้น รัฐบาลจึงขอประณามการใช้ความรุนแรงที่ไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ พร้อมยืนยันว่าเหตุการณ์ดังกล่าวยังไม่ใช่การประกาศสงคราม แต่เป็นการปะทะกัน ในการรักษาอธิปไตยของไทย ทั้งนี้ เหตุปะทะดังกล่าวเกิดจากการยั่วยุจากฝ่ายกัมพูชา ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องดำเนินการป้องกันอธิปไตยของประเทศ”
นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า กองทัพได้ดำเนินการปกป้องอธิปไตยในพื้นที่อย่างเต็มที่ รัฐบาลได้มอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ทหารสามารถใช้มาตรการที่จำเป็นภายใต้กรอบของกฎหมายระหว่างประเทศ เนื่องจากสถานการณ์มีความเร่งด่วนและเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยเกิดเหตุขึ้นในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ซึ่งฝ่ายความมั่นคงจำกัดสถานการณ์ให้อยู่ภายในพื้นที่ แต่รัฐบาลได้มีการระมัดระวังบริเวณชายแดนอย่างเต็มที่ พร้อมได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงให้ไกลจากชายแดนประมาณ 50 กิโลเมตร ถือเป็นระยะที่ปลอดภัย โดยมีแผนรองรับที่เตรียมไว้แล้วอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติ ดังนี้
- ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการดูแลความปลอดภัยประชาชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด พร้อมเยียวยาผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับผลกระทบตามระเบียบที่มีอยู่
- กระทรวงศึกษาธิการได้สั่งปิดโรงเรียนในพื้นที่เสี่ยงชั่วคราว
- กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการเปลี่ยนโรงพยาบาลในพื้นที่เป็นโรงพยาบาลสนามชั่วคราว รวมถึงอพยพคนป่วย ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทั้งหมดไปสู่โรงพยาบาลอื่น ๆ ที่ปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว
สำหรับมาตรการด้านการต่างประเทศ รัฐบาลได้ลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับกัมพูชาลง โดยเรียกเอกอัครราชทูตไทยประจำกัมพูชากลับประเทศไทย และส่งเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยกลับสู่ประเทศ ซึ่งถือเป็นมาตรการที่มีความรุนแรงที่สุดในทางการทูต
“รัฐบาลไทยยึดมั่นในหลักการแห่งการปกป้องอธิปไตยของชาติ และจะไม่ยอมให้มีการละเมิดเขตแดนของประเทศโดยเด็ดขาด พร้อมรับผิดชอบในการดูแลประชาชนอย่างเต็มที่” นายภูมิธรรม กล่าว
ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รับทราบเหตุการณ์การโจมตีพี่น้องประชาชนไทยที่เกิดขึ้น ผมรู้สึกโกรธและเศร้าสลดอย่างสุดขึ้ง จากเหตุการณ์ที่กองกำลังกัมพูชาได้เปิดฉากโจมตีอย่างไร้มนุษยธรรมต่อโรงพยาบาลพนมดงรัก เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จังหวัดสุรินทร์ และพื้นที่พลเรือนในอีกหลายจังหวัดตามแนวชายแดน การกระทำดังกล่าวไม่เพียงแต่เป็นการคุกคามอธิบไตยของชาติ แต่ยังเป็นการเหยียบย่ำคุณค่าความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง
ส่วนสถานการณ์ความสูญเสียที่เกิดขึ้นในวันที่ 24 กรกฎาคม 2568 เวลา 14.15 น.นั้นใหญ่หลวงเกินกว่าจะยอมรับได้ จากการโจมตีในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ถึง 35 ราย ในจำนวนนี้ต้อง เสียชีวิตถึง 11 ราย และยังมีทหารผู้กล้าของเราได้รับผลกระทบอีก 8 นาย โดยมีรายละเอียดความสูญเสียในแต่ละพื้นที่ดังนี้
- จังหวัดสุรินทร์ : ประชาชนเสียชีวิต 2 ราย (โดยเป็นเด็กอายุ 8 ขวบ 1 ราย) , บาดเจ็บสาหัส 1 ราย, บาดเจ็บปานกลาง 3 ราย ส่วนทหารบาดเจ็บสาหัส 3 ราย,บาดเจ็บปานกลาง 1 ราย และบาดเจ็บเล็กน้อย 1 ราย
- จังหวัดอุบลราชธานี : ประชาชนเสียชีวิต 1 ราย, บาดเจ็บสาหัส 4 ราย
- จังหวัดศรีสะเกษ : ประชาชนเสียชีวิต 8 ราย (โดยเป็นเด็กอายุ 15 ปี 1 ราย),บาดเจ็บสาหัส 3 ราย, บาดเจ็บปานกลาง 8 ราย, บาดเจ็บเล็กน้อย 4 ราย และทหารเสียชีวิต 1 ราย, บาดเจ็บเล็กน้อย 2 ราย
- จังหวัดบุรีรัมย์ : ประชาชนบาดเจ็บปานกลาง 1 ราย
นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากสถานการณ์ตึงเครียดที่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ตนในฐานะที่กำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์ ได้กำชับให้เกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ตลอด 24 ชั่วโมง โดยในวันนี้ ภายหลังจากที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2568 ได้กำหนดมาตรการในการควบคุมสถานการณ์ โดยมอบให้ศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย – กัมพูชา (ศบ.ทก.) บริหารจัดการสถานการณ์ชายแดนและบูรณาการทำงานกับกองทัพ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวง ทบวง กรมที่เกี่ยวข้อง พร้อมเน้นย้ำให้มีการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร และข้อเท็จจริงที่ถูกต้องแก่ประชาชนอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันการบิดเบือนข้อมูลและการใช้ข่าวปลอม
“ขอให้ประชาชนในพื้นที่ชายแดนที่ได้รับผลกระทบ ปฏิบัติตามมาตรการในการหลบภัยของรัฐบาล เพื่อรักษาชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องทุกท่าน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญสูงสุด โดยสามารถติดตามรายงานข้อมูลข่าวสารสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา จากสื่อภาครัฐ ทั้งจากกองทัพ กรมประชาสัมพันธ์ และสื่อทำเนียบรัฐบาล ซึ่งจะมีการสื่อสารทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษในทุกช่องทาง” นางสาวจิราพร กล่าว
ทั้งนี้ หลังได้รับรายงานสถานการณ์ชายแดนยกระดับความตึงเครียด NBT ได้ล้มผังรายการทันที และเกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยประชาชนสามารถติดตามรายงานความเคลื่อนไหวสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ได้ทาง สื่อโทรทัศน์ กดเลข 2 ช่อง NBT สื่อวิทยุ FM 92.50 MHz และ AM 891 KHz สื่อออนไลน์ทางเพจกรมประชาสัมพันธ์ , NBT-เอ็นบีที , NBT Connext , สำนักงานประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ประสบภัย เพจ Live Streaming ทาง prdee.prd.go.th รวมถึงช่องทางการสื่อสารภาคภาษาอังกฤษทางเพจ Facebook NBT World