ศึกชายแดนไทย-กัมพูชา ยื้อ 1 เดือน ฉุด GDP สองชาติ 6 หมื่นล้าน วัดใจเจรจาหยุดยิงวันนี้
รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและอาเซียน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” โดยประเมินฉากทัศน์ทางเศรษฐกิจว่า หากการปะทะไทย-กัมพูชา ยังคงยืดเยื้อต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 1 เดือน จะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจไทยในหลายมิติ โดยเฉพาะภาคการส่งออก การค้า การจ้างงาน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนไทยของทั้งสองฝ่ายคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 6 หมื่นล้านบาท
โดยประเมินว่า การส่งออกบริเวณแนวชายแดนจะได้รับผลกระทบคิดเป็นมูลค่าประมาณ 20,567 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนจะได้รับผลกระทบอีกราว 24,657 ล้านบาท นำไปสู่การสูญเสียการจ้างงานถึง 7,980 คน รวมมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 45,225 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.25% ของจีดีพีไทย
ในฝั่งกัมพูชา ผลกระทบทางเศรษฐกิจยิ่งน่าวิตก โดยเฉพาะในกรณีที่ไทยระงับการส่งออกสินค้าเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้าน และนักท่องเที่ยวไทยยุติการเดินทาง รวมถึงการชะลอการลงทุน ผลที่ตามมาคือจะมีแรงงานตกงานรวม 185,752 คน และมูลค่ารายได้ที่สูญเสียจะอยู่ที่ 15,337 ล้านบาท คิดเป็น 1.1% ของจีดีพีกัมพูชา
ผลกระทบหลัก ๆ แบ่งออกได้เป็น
- แรงงานกัมพูชาว่างงานจากการขาดสินค้าไทย 86,301 คน
- รายได้แรงงานที่หายไป 8,284 ล้านบาท
- ว่างงานจากการท่องเที่ยวหดตัว 94,520 คน รายได้ท่องเที่ยวหายไป 6,148 ล้านบาท
- ว่างงานจากการลงทุนลดลง 4,931 คน การลงทุนหายไป 905 ล้านบาท
“หากสถานการณ์ความขัดแย้งยังคงยืดเยื้อต่อไปอีก 2-3 เดือน ผลกระทบทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศจะเพิ่มขึ้นอีก 2-3 เท่าตัว ซึ่งจะกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจระยะสั้นและระยะกลาง”
ดังนั้น ความหวังจึงพุ่งไปยังการเจรจาหยุดยิง ซึ่งจะจัดขึ้นในวันนี้ (28 กรกฎาคม 2568) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย หากสามารถได้ข้อยุติในระดับเบื้องต้น จะเป็นสัญญาณบวกของการลดระดับความขัดแย้ง และนำไปสู่การวางกรอบเจรจาในประเด็นที่ซับซ้อนอย่างเช่น การปักปันเขตแดน การคงหรือถอนกำลังพล และการยอมรับในระดับระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ดี หากการเจรจาครั้งนี้ล้มเหลว ความเสียหายทางเศรษฐกิจจะไม่ใช่แค่ตัวเลข แต่จะลุกลามไปถึงเสถียรภาพในภูมิภาค อาเซียน และความเชื่อมั่นของนักลงทุนในอนาคต