ตำรวจบุกค่ายเรียนรู้พื้นที่สร้าง “แลนด์บริดจ์”ขอบัตรประชาชนทุกคน สุดท้ายต้องย้ายไปนอนวัด
18-20 กรกฎาคม 2568 กลุ่มไอแพม มีกำหนดจัดกิจกรรมค่ายเยาวชน Exchange Youth Camp โดยเปิดรับสมัครเยาวชนจากทั่วประเทศมาทำกิจกรรมเรียนรู้ชุมชนที่มีปัญหา ซึ่งในกิจกรรมนี้พาเยาวชนนักเรียน นักศึกษา จำนวน 30 คน ไปลงพื้นที่อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร พื้นที่เกษตรกรรมสวนทุเรียน สวนมังคุด ที่กำลังอยู่ในแผนพัฒนาเพื่อจัดทำเป็นโครงการแลนบริดจ์ และนิคมอุตสาหกรรม
โครงการ “แลนบริดจ์ ชุมพร-ระนอง” คือ โครงการที่จะจัดสร้างท่าเรือน้ำลึกบริเวณ “คอคอดกระ” ให้เรือขนส่งสินค้าเทียบท่าและสร้างทางเชื่อมบนบก เป็นรถไฟรางคู่ และมอเตอร์เวย์ เพื่อนำตู้คอนเทนเนอร์สินค้าขนส่งจากฝั่งทะเลอันดามันข้ามไปลงทะเลอีกด้านหนึ่งฝั่งอ่าวไทย ซึ่งต้องตัดเส้นทางผ่านพื้นที่ป่า และพื้นที่เกษตรกรรมจำนวนมาก และยังมีแนวคิดการสร้างนิคมอุตสาหกรรมบริเวณดังกล่าวอีกด้วย
ผู้จัดกิจกรรมค่ายเรียนรู้ครั้งนี้ ตั้งใจจะพาเยาวชนลงพื้นที่มาพบปะ พูดคุยกับชาวบ้าน เจ้าของที่ดินและสวนผลไม้ที่อาจจะถูกแย่งยึดที่ดินเพื่อไปจัดทำเป็นเส้นทางคมนาคม โดยได้ติดต่อประสานงานขอใช้พื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลพะโต๊ะ (อบต.) เพื่อเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมและใช้ศาลาเป็นที่กางเต้นท์สำหรับนอนเป็นเวลาสองคืน โดยทีมงานได้ยื่นหนังสือขออนุญาตให้สถานที่ล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว
ชาลินี ทองยศ ทีมงานไอแพมผู้จัดกิจกรรมเล่าให้ฟังว่า จากการประสานงานกับชาวบ้านในพื้นที่ได้รับคำแนะนำให้ขออนุญาตใช้สถานที่ของอบต.พะโต๊ะ ซึ่งมีพื้นที่กว้างขวางและสะดวกสบาย ก่อนการเดินทางมาเธอจึงติดต่อประสานงานทางโทรศัพท์โดยเจ้าหน้าที่ของอบต. ได้แจ้งอนุญาตให้ใช้สถานที่แล้ว โดยตกลงกันว่าจะช่วยชำระค่าน้ำค่าไฟ 4,000 บาท
เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2568 ชาลินีและเพื่อนทีมงานจัดกิจกรรมรวม 13 คน ได้เข้ามาเตรียมงาน โดยได้รับการอำนวยความสะดวกจากเจ้าหน้าที่อบต.พะโต๊ะเป็นอย่างดี พวกเธอกางเต้นท์นอนคืนนั้นในศาลาของอบต. แต่เมื่อเยาวชนผู้เข้าร่วมกิจกรรมเดินทางมาถึง และกำลังจะเริ่มกิจกรรมในวันที่ 18 กรกฎาคม 2568 เวลาประมาณ 13.00 กลับพบว่า มีรถกระบะของตำรวจเข้ามาในพื้นที่จัดกิจกรรมพร้อมเปิดไฟฉุกเฉินส่องแสงวิบวับรบกวน
ตำรวจที่มาพร้อมกับรถคันดังกล่าวมีสามคน สองคนใส่เครื่องแบบตำรวจ ติดป้ายชื่อว่า วิสุทธิ์ ธรฤทธิ์ แนะนำตัวว่า เป็นร้อยเวร และ ณัฐพล สีหะรัญ แนะนำตัวว่า เป็นผู้บังคับหมู่ อีกหนึ่งคนไม่ใส่เครื่องแบบทราบภายหลังว่า ชื่อพนา นนทสิง แนะนำตัวว่า เป็นฝ่ายสืบสวนของสภ.พะโต๊ะ โดยอ้างว่า มาตรวจสอบตามเรื่องร้องเรียนว่ามีเหตุทะเลาะวิวาทเกิดขึ้น
จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หัวหน้าทีมงานไอแพม เล่าว่า เมื่อได้นั่งคุยกับตำรวจสามคนดังกล่าว ไม่มีการถามรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุทะเลาะวิวาทตามที่อ้าง แต่ตำรวจสอบถามรายละเอียดของกิจกรรม และผู้จัดกิจกรรม โดยต้องการรายชื่อของผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมดพร้อมสำเนาบัตรประชาชน แต่ผู้จัดกิจกรรมเห็นว่า ข้อมูลบนบัตรประชาชนเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่มีเหตุผลต้องนำส่งให้กับตำรวจ แต่ยินดีที่จะให้ชื่อเล่น ชื่อจริงของผู้เข้าร่วม เพื่อให้รู้จักกันได้
ต่อมาสุนิสา ขันสำมา ปลัดอบต.พะโต๊ะ ได้เข้ามาพูดคุย ยืนยันต้องการสำเนาบัตรประชาชนผู้เข้าร่วมทุกคน ซึ่งสุนิสา ยังอ้างกฎระเบียบของอบต.ว่า มีอัตราค่าใช้จ่ายในการมาใช้สถานที่ ต้องเสียค่าใช้จ่าย 17,000 บาท ไม่ใช่ 4,000 บาท ทางกลุ่มไอแพมก็ยินดีและจ่ายค่าใช้สถานที่ไปในราคา 17,000 แต่สุนิสายังยืนยันว่า ต้องการข้อมูลบัตรประชาชนของผู้เข้าร่วมทุกคนด้วยในฐานะเจ้าของสถานที่ และพูดด้วยเสียงอันดังว่า “ถ้าไม่ให้ชื่อก็ไม่ต้องอยู่”
จตุภัทร์จึงขอให้ทำข้อตกลงร่วมกันก่อนว่า หากให้ข้อมูลของผู้เข้าร่วมทั้งหมดแล้วจะไม่นำไปเปิดเผย หรือไม่ให้ข้อมูลนี้กับหน่วยงานอื่น แต่สุนิสาไม่ยินยอมที่จะทำข้อตกลงด้วย
จตุภัทร์ กล่าวกับปลัดอบต.ด้วยว่า สมัยนี้มีแก๊งคอนเซ็นเตอร์ ที่นำเอาข้อมูลบัตรประชาชนของคนอื่นไปสร้างความเดือดร้อน และยังเคยมีกรณีที่ข้อมูลของผู้เข้าร่วมค่ายตกไปอยู่ในมือของฝ่ายความมั่นคง ทำให้มีตำรวจติดตาม แม้กลับจากค่ายไปแล้วก็ยังถูกติดตามทำให้เกิดความหวาดกลัว ต่อมาตำรวจนายหนึ่งยังแนะนำสุนิสาด้วยว่า การกล่าวเช่นนี้สามารถแจ้งความฐานหมิ่นประมาทได้
ทีมงานที่จัดค่ายของกลุ่มไอแพมได้ประชุมปรึกษากันแล้วได้ข้อสรุปว่าจะต้องปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เข้าร่วมทั้งหมด ไม่เปิดเผยโดยไม่มีเหตุจำเป็น เมื่อเจ้าของสถานที่ไม่อนุญาตให้ใช้จึงต้องย้ายการจัดกิจกรรม และสถานที่พักค้างแรมทั้งหมด และได้ไปขออนุญาตใช้พื้นที่ศาลาปฏิบัติธรรมของสำนักสงฆ์ปะติมะ ที่ตั้งอยู่ตรงข้ามฝั่งถนนแทน โดยได้ติดต่อประสานงานและทางอบต. รับว่าจะคืนค่าใช้จ่ายให้ 10,000 บาท
แต่เมื่อผู้เข้าร่วมค่ายเก็บของและย้ายไปปักปลักที่ศาลาของสำนักสงฆ์ปะติมะแล้ว ตำรวจสามคนเดิมก็ยังเดินทางไปคุยกับเจ้าอาวาส โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และกรรมการของวัดมาคุยด้วยว่าไม่อยากให้ใช้สถานที่ เพราะกิจกรรมนี้เกี่ยวกับการเมือง และยังจะต้องให้เจ้าอาวาสช่วยขอข้อมูลบัตรประชาชนของผู้เข้าร่วมทั้งหมดอีก แต่ทางเจ้าอาวาสยืนยันว่า พื้นที่ของสำนักสงฆ์ต้องเปิดให้คนที่กำลังเดือดร้อนใช้งานได้ จึงไม่ได้ให้กลุ่มไอแพมย้ายออกอีก
ในวันต่อมา 19 กรกฎาคม 2568 ระหว่างที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด ไปลงพื้นที่สวนมังคุดและสวนทุเรียนของชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงเพื่อเรียนรู้วิถีชีวิต และการทำอาชีพของคนท้องถิ่น ก็ยังมีตำรวจในเครื่องแบบสามคนเข้ามาที่สำนักสงฆ์ปะติมะ และได้เจอกับทีมงานฝ่ายดูแลสถานที่
ตำรวจสามนายดังกล่าว แจ้งว่ามาดูเรื่องความมั่นคง มาดูความเรียบร้อย เป็นการปฏิบัติปกติเหมือนเวลามีงานหมอลำตำรวจก็ต้องมาดู ทีมงานจึงเชิญตำรวจเข้ามาทานข้าวในศาลา ตำรวจก็เดินตรวจตรารอบๆ ถ่ายภาพสถานที่และกล่าวว่า “ถ้าน้องไม่มีอะไรมาขัดรัฐธรรมนูญ ไม่ผิดกฎหมายก็อยู่ด้วยกันได้ พวกพี่ก็ไม่มีปัญหาอะไร”