โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

การเมือง

รวมข้อวิจารณ์ต่างชาติต่อประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตลอด 15 ปี

iLaw

อัพเดต 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา • iLaw

ตลอด 15 ปีที่ผ่านมาประชาคมโลกได้วิจารณ์กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ของไทยอย่างต่อเนื่อง โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเรียกร้องให้ทบทวนมาตรา 112 ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติระบุว่า กฎหมายนี้ขาดความชัดเจน มีโทษไม่ได้สัดส่วน และ “ไม่มีที่ยืนในประเทศประชาธิปไตย” ในขณะที่กระบวนการ UPR ของสหประชาชาติทั้งสามรอบ มีประเทศต่างๆ หลายประเทศเสนอให้แก้ไข ยกเลิก หรือทบทวนมาตรา 112

ในปี 2568 รัฐสภายุโรปออกข้อมติเรียกร้องให้ใช้การเจรจาการค้าเป็นเครื่องมือกดดันให้ไทยปฏิรูปกฎหมาย ส่วนสหรัฐอเมริกาเรียกร้องให้เคารพเสรีภาพการแสดงออกกรณีการกล่าวหาคดีตามมาตรา 112 กับพอล แชมเบอร์ส นักวิชาการอเมริกัน ประจำมหาวิทยาลัยนเรศวร ทั้งนี้ที่ผ่านมารัฐบาลไทยมักอ้างว่ากฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์จำเป็นต้องมีไว้เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์และความมั่นคงของชาติ

สารบัญ

แสดง / ซ่อน

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (Human Rights Committee)

สนธิสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศมีเก้าฉบับ โดยไทยเป็นภาคีแล้วทั้งสิ้นแปดฉบับ หนึ่งในนั้นคือ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights -ICCPR) ภายใต้กติกาดังกล่าวมีกลไกในการติดตามการปฏิบัติตามกติกาเรียกว่า “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน” (Human Rights Committee) ซึ่งประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญอิสระ 18 คน รัฐภาคีมีหน้าที่ในการส่งรายงานต่อคณะกรรมการเกี่ยวกับเรื่องสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง โดยจะต้องส่งรายงานครั้งแรกภายในหนึ่งปีหลังจากเข้าร่วม และต่อมาเป็นรอบทบทวนทุกแปดปี ซึ่งคณะกรรมการจะพิจารณารายงาน ระบุข้อกังวลและข้อเสนอแนะต่อรัฐภาคีในรูปแบบข้อสังเกตโดยสรุป (Concluding observation)

นอกจากนี้คณะกรรมการยังเผยแพร่รายงานการตีความบทบัญญัติสิทธิมนุษยชนหรือเรียกว่า ความเห็นทั่วไป (General comments) ทั้งในรายประเด็นและระเบียบวิธีการทำงาน ที่ผ่านมาคณะกรรมการมีการเผยแพร่เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์อย่างน้อยสองครั้ง ดังนี้

11 กรกฎาคม 2554 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนออกความเห็นทั่วไปฉบับที่ 34 ตามมาตรา 19 ว่าด้วยเรื่องเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ย่อหน้าที่ 38 ระบุว่า ความจริงที่ว่ารูปแบบการแสดงออกถูกมองว่าเป็นการดูหมิ่น (Insulting) บุคคลสาธารณะนั้น ไม่เพียงพอที่จะเป็นเหตุผลในการกำหนดบทลงโทษ ซึ่งบุคคลสาธารณะเองอาจได้รับประโยชน์จากบทบัญญัตินี้ บุคคลสาธารณะทั้งหมด รวมถึงผู้มีอำนาจทางการเมืองสูงสุด เช่น ประมุขแห่งรัฐและรัฐบาล ย่อมตกอยู่ภายใต้การวิจารณ์และการคัดค้านทางการเมืองอย่างชอบธรรม ดังนั้นคณะกรรมการแสดงความกังวลเกี่ยวกับกฎหมายในเรื่องต่างๆ เช่น กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ desacato การไม่เคารพรัฐ การไม่เคารพธงและสัญลักษณ์ การหมิ่นประมาทประมุขแห่งรัฐ และการปกป้องเกียรติของเจ้าหน้าที่รัฐ และกฎหมายไม่ควรกำหนดโทษที่รุนแรงกว่าเพียงเพราะยึดตัวตนของบุคคลที่ถูกกล่าวถึง รัฐภาคีไม่ควรห้ามการวิจารณ์สถาบัน เช่น กองทัพหรือฝ่ายบริหาร

23 มีนาคม 2560คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนออกรายงานข้อสังเกตโดยสรุปตามรอบทบทวน ย่อหน้าที่ 37 ระบุว่า คณะกรรมการมีความกังวลต่อการวิจารณ์และการแสดงความเห็นแย้งเกี่ยวกับราชวงศ์ที่มีบทลงโทษเป็นโทษจำคุกระหว่าง 3-15 ปี เกี่ยวกับรายงานของการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในจำนวนของผู้ถูกคุมขังและกล่าวหาในข้อหากฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ นับตั้งแต่การรัฐประหารและเกี่ยวกับโทษที่รุนแรง มีผลให้ในบางคดีจำเลยต้องโทษจำคุกหลายสิบปี ย่อหน้าที่ 38 ระบุว่า รัฐภาคีควรทบทวนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อราชวงศ์เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา19 ของกติกา เป็นไปตามความเห็นทั่วไปฉบับที่ 34 คณะกรรมการย้ำว่า การจำคุกบุคคลที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกเป็นการละเมิดมาตรา 19 ของกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

กระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review)

Universal Periodic Review หรือ UPR เป็นกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) โดยประเทศสมาชิกทั้งหมดจะต้องจัดทำรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของตัวเองรวมถึงให้ภาคประชาสังคมในประเทศทำรายงานควบคู่กัน เพื่อนำเสนอคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน และเปิดโอกาสให้ตัวแทนของประเทศอื่นซักถามและเสนอแนะข้อควรปรับปรุง UPR นั้นจะมีการทบทวนทุก ๆ สี่ปีครึ่ง

ที่ผ่านมาไทยผ่านกระบวนการทบทวนมาแล้วสามรอบคือ รอบที่หนึ่งในเดือนตุลาคม 2554 รอบที่สองในเดือนพฤษภาคม 2559 และรอบที่สามในเดือนพฤศจิกายน 2565 ดังนี้

รอบที่หนึ่งในเดือนตุลาคม 2554

ปี 2554 เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยเข้าร่วมกระบวนการทบทวนสิทธิมนุษยชนตาม UPR แม้ว่ารายงานที่จัดทำโดยรัฐบาลไทย จะระบุว่าประเทศไทยพยายามที่จะ “หาสมดุลระหว่างการปกป้องสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นเสาหลักของอัตลักษณ์และความมั่นคงของไทย” กับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของปัจเจกบุคคล แต่ในขั้นตอนการทบทวนโดยประเทศอื่น ๆ มาตรา 112 และเสรีภาพในการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ก็ได้กลายเป็นหนึ่งในประเด็นหลักที่ต่างชาติให้ความสนใจ

สำหรับในการเข้าร่วม UPR ครั้งแรกของไทย มีทั้งหมด 11 ประเทศที่มีข้อเสนอแนะโดยตรงเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (lèse-majesté law) ได้แก่ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย นอร์เวย์ บราซิล เยอรมนี สหราชอาณาจักร สโลวีเนีย สเปน แคนาดา สวิสเซอร์แลนด์ และฮังการี โดยข้อเสนอมีตั้งแต่ให้ยกเลิกมาตรา 112 ไปจนถึงให้มีการปรับปรุงแก้ไขและจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดูแลการใช้กฎหมายข้อนี้ เช่น นอร์เวย์กล่าวว่า เห็นด้วยกับการที่ไทยต้องหาสมดุลระหว่างการปกป้องสถาบันกษัตริย์กับเสรีภาพในการแสดงออก โดยนอร์เวย์ซึ่งเป็นประเทศประชาธิปไตยและยังมีสถาบันกษัตริย์อยู่ “พร้อมที่จะแบ่งปันประสบการณ์ในด้านดังกล่าว”

Norway appreciated Thailand’s cooperation with human rights mechanisms. It acknowledged Thailand’s need to strike a balance between protecting the constitutional monarchy and the right of individuals to express their views. Norway stood ready to share its experience in that regard. It was concerned about the dramatic increase of lese-majesty charges and convictions in recent years….

ทั้งนี้ ตัวแทนของรัฐบาลไทยได้ตอบกลับว่า ไทยได้มีความพยายามที่จะหามาตรการเพื่อจัดการปัญหาการใช้มาตรา 112 เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อทบทวนข้อกล่าวหา แต่ไทยก็ได้ปฏิเสธข้อแนะนำการยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 โดยให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนและส่งผลกระทบต่อความมั่นคง การคงอยู่ของมาตรา 112 นั้นมีความสำคัญต่อการปกป้องสถาบันกษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ ซี่งประเทศอื่นที่มีกษัตริย์ก็มีกฎหมายในลักษณะเดียวกันนี้

รอบที่สองในเดือนพฤษภาคม 2559

กระบวนการทบทวนในรอบที่สองเกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร 2557 มีอย่างน้อยเจ็ดประเทศที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และอีกอย่างน้อยสามประเทศที่ให้คำแนะนำต่อเสรีภาพการแสดงออกในภาพรวม

  • เบลเยียม – แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพื่อขจัดโทษจำคุกสำหรับการกระทำความผิดที่มาจากการใช้สิทธิในการใช้เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการแสดงอย่างชอบธรรม และทำให้แน่ใจว่า การกระทำที่ต้องห้ามมีความชัดเจนและการลงโทษสัดส่วนกับการกระทำที่ได้กระทำไป

  • แคนาดา – ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2015 พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และยุติการใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ รวมถึงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรา 326 และมาตรา 328 ที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก

  • นอร์เวย์ – ดำเนินการยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และการดำเนินคดีโดยเปิดเผยและโปร่งใสในคดีที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเหล่านี้ทันที

  • สเปน – ทบทวนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์) มาตรา 326 (หมิ่นประมาท) และมาตรา 328 (หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา) รวมถึงมาตรา 14 และ 15 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และปรับให้สอดคล้องกับภาระผูกพันด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

  • ลัตเวีย – แก้ไขกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

  • เยอรมนี - ทำให้แน่ใจว่าสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้รับการเคารพ รวมถึงการทบทวนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และให้แน่ใจว่ามีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยที่ส่งเสริมสิทธิของทุกคนในการรวมตัวและชุมนุมอย่างเสรีโดยไม่มีอุปสรรค

  • ไอซ์แลนด์ - ยุติการละเมิดสิทธิเสรีภาพการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบภายใต้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 116 โดยทันที และปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมหรือจำคุกเพราะใช้สิทธิเหล่านี้อย่างไม่มีเงื่อนไข

อย่างไรก็ตามรัฐบาลไทยก็ไม่ได้รับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรา 112 โดยให้เหตุผลสถานการณ์ในไทยว่ากำลังอยู่ในระหว่างการปฏิรูป แต่ถ้าหากสถานการณ์ดีขึ้น ก็อาจจะหันกลับมาทบทวนข้อเสนอแนะเหล่านี้อีกครั้ง

รอบที่สามในเดือนพฤศจิกายน 2565

กระบวนการทบทวนในรอบที่สามเกิดขึ้นหลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 และการขยายตัวของการชุมนุมทางการเมืองที่มีข้อเรียกร้องสำคัญคือ การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และตามด้วยการบังคับใช้กฎหมาย “ทุกฉบับ ทุกมาตรา” ที่มีนัยของการนำประมวลกฎหมายกฎหมายอาญามาตรา 112 กลับมาบังคับใช้อีกครั้ง หลังจากการชะลอการบังคับใช้และยกฟ้องคดีมาตรา 112 ในปี 2561 โดยเป็นการทบทวนในห้วงที่มีคดีมาตรา 112 มากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยและมากที่สุดนับแต่การทบทวนครั้งแรกในปี 2554

ในรายงานของไทยระบุในย่อหน้าที่ 117 ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงในฐานะประมุขของรัฐ กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ที่เป็นส่วนหนึ่งของประมวลกฎหมายอาญา มุ่งในการปกป้องความมั่นคงของชาติและสถาบันต่างๆในสังคมไทย มันไม่ได้มุ่งในการจำกัดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกของบุคคล หรือเสรีภาพของสื่อมวลชน แต่เป็นการกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนเพื่อการใช้เสรีภาพเหล่านี้ไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ กฎหมายและความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสิทธิของผู้อื่น

การดำเนินคดีในกรณีที่เกี่ยวข้องได้รับการดำเนินการอย่างระมัดระวังตามกระบวนการยุติธรรม จนถึงปี 2564 มีกลไกหลายรูปแบบที่ใช้เพื่อคัดกรองคดีอย่างเข้มงวด โดยให้การพิจารณาอย่างรอบคอบต่อผลกระทบด้านความมั่นคงแห่งชาติและความเปราะบางต่อเรื่องที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันยังคงรักษาช่องทางสำหรับการขอพระราชทานอภัยโทษไว้ด้วย

ครั้งนี้มีอย่างน้อย 12 ประเทศที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และอีกอย่างน้อยแปดประเทศที่ให้คำแนะนำต่อเสรีภาพการแสดงออกในภาพรวม ดังนี้

  • ลักเซมเบิร์ก - ประกันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก โดยการแก้ไขมาตรา 112 (หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์), มาตรา 116 (ยุยงปลุกปั่น), มาตรา 326 (หมิ่นประมาท) และ 328 (หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา) ของประมวลกฎหมายอาญา รวมถึงพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

  • ฟินแลนด์ – ทบทวนการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในภาพรวมทั้งหมดและโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้เยาว์เพื่อเป็นการสอดคล้องไปกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศรวมถึงอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

  • ฝรั่งเศส - ประกันการปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก รวมถึงการแก้ไขมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา

  • เยอรมนี - ทบทวนกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์และกฎหมายหมิ่นประมาท

  • นอร์เวย์ – ทบทวนกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์เพื่อให้สอดคล้องไปกับมาตรฐานระหว่างประเทศและเพื่อป้องกันการถูกใช้ปิดปากผู้เห็นต่าง

  • สวีเดน - แก้ไขมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทราชวงศ์ให้สอดคล้องกับภาระผูกพันด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทยภายใต้กติกาสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางพลเมืองและสิทธิทางการเมือง…ให้ยกเลิกการจำคุกขั้นต่ำสำหรับการละเมิดบทบัญญัติดังกล่าว

  • สวิตเซอร์แลนด์ - แก้ไขมาตรา 112 และ 116 ของประมวลกฎหมายอาญาเพื่อให้การบังคับใช้ความผิดหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และยุยงปลุกปั่นสอดคล้องกับสิทธิมนุษยชน

  • สหรัฐอเมริกา - ทบทวนและปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออกเกินควร รวมถึงการแสดงออกออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์และพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และยกเลิกโทษจำคุกขั้นต่ำบังคับสำหรับการละเมิดกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์

  • ออสเตรีย - ยุติการจับกุมและดำเนินคดีเด็กภายใต้มาตรา 112 และมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยในประมวลกฎหมายอาญา และประกันการเคารพภาระผูกพันของไทยภายใต้มาตรา 13 มาตรา 15 และมาตรา 37 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

  • เบลเยียม - แก้ไขมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาและให้สอดคล้องกับมาตรา 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

  • แคนาดา - แก้ไข ยกเลิก หรือจำกัดการใช้กฎหมายที่ขัดขวางการใช้สิทธิในการแสดงออก การรวมกลุ่ม และการชุมนุมอย่างสงบ รวมถึงออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 112 และ 116 ของประมวลกฎหมายอาญาและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

  • เดนมาร์ก - ทำให้แน่ใจว่าโทษทางอาญาที่รุนแรงที่สุดไม่ถูกนำมาใช้กับเด็ก รวมถึงในบริบทของมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และให้สอดคล้องกับมาตรา 40 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

ทั้งนี้ตัวแทนรัฐบาลไทยตอบกลับโดยสรุปว่า ได้รับทราบคำแนะนำดังกล่าวแทบทั้งหมดจากประเทศเช่น ลักเซมเบิร์ก นอร์เวย์และแคนาดา โดยไทยยังสนับสนุนหลักการรักษาสมดุลในการใช้สิทธิของบุคคลโดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ความมั่นคงของชาติ ความสงบเรียบร้อยและสาธารณสุข (“We note recommendations 52.4652.48, 52.5052.53, 52.5652.68and 52.83as we continue to support the principle of maintaining a balance in the exercise of individuals’ rights without infringing upon others’ rights, national security, public order, and public health.”)

ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ (Special Rapporteurs)

ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ (Special Rapporteurs) ทำงานภายใต้กลไกพิเศษแห่งสหประชาชาติ (Special Procedures) โดยการดำเนินงานแบ่งเป็นติดต่อสื่อสารกับรัฐบาลไทย (Communications) เช่น ส่งหนังสือมายังรัฐบาลไทยเพื่อสอบถามข้อเท็จจริง และส่งข้อแนะนำให้ปฏิบัติตาม และการตรวจเยี่ยม (Country Visit) เพื่อศึกษารายละเอียดข้อเท็จจริงการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ผู้รายงานพิเศษแต่ละคนจะมีประเด็นตามขอบเขตหรืออาณัติของตัวเอง

กรณี 3 จำเลยคดีมาตรา 112 เช่น หนุ่ม เรดนนท์

10 มิถุนายน 2554 ผู้รายงานพิเศษด้านการส่งเสริมและปกป้องสิทธิในเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออกและด้านสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนส่งหนังสือถึงรัฐบาลไทยกรณีการดำเนินคดีต่อบุคคลได้แก่ ชนินทร์ คล้ายคลึง สมยศ พฤกษาเกษมสุขและธันย์ฐวุฒิ หรือ “หนุ่ม เรดนนท์” ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และการข่มขู่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการ

ในการสื่อสารครั้งนี้ผู้รายงานพิเศษย้ำเตือนรัฐบาลไทยถึงภาระผูกพันตามมาตรา 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วนสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง แม้ว่าเสรีภาพการแสดงออกตามมาตราดังกล่าวอาจถูกจำกัดได้แต่เป็นไปอย่างจำกัดและในสถานการณ์ที่ยกเว้นเป็นพิเศษ โดยการจำกัดจะต้องผ่านเกณฑ์เช่น การจำกัดจะต้องบัญญัติเป็นกฎหมาย ชัดเจนและสามารถเข้าถึงได้โดยทุกคน ซึ่งในขั้นนี้ผู้รายงานพิเศษมองว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ขาดความชัดเจนและองค์ประกอบความผิดมีความคลุมเครือเนื่องจากไม่มีนิยามของคำว่า หมิ่นประมาทและดูหมิ่น ซึ่งจะทำให้เสรีภาพในการแสดงออกถูกจำกัดเกินสมควรและพลการ ทั้งยังส่งผลต่อการเซนเซอร์ตัวเอง

We note that article 112of the Penal Code, which stipulates that “whoever defames, insults or threatens the King, Queen, the Heir-apparent or the Regent, shall be punished with imprisonment of three to fifteen years,” does not meet the first criterion mentioned above, as there is no definition of what constitutes “defamation” or “insult”. The lack of clarity and ambiguity of the law means that the right to freedom of expression can be arbitrarily or unduly restricted, and promotes self-censorship.

นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า โทษจำคุก 3-15 ปีตามมาตรา 112 ไม่ได้สัดส่วน และในตอนท้ายยังเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 และแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ผู้รายงานพิเศษแถลงเรียกร้องให้แก้ไขมาตรา 112

10 ตุลาคม 2554 แฟรงค์ ลา รู ผู้รายงานพิเศษด้านการส่งเสริมและปกป้องสิทธิในเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออกเรียกร้องให้ประเทศไทยจัดให้มีกระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะเพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพื่อให้กฎหมายดังกล่าวสอดคล้องกับข้อผูกพันด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย การเพิ่มจำนวนของคดีมาตรา 112 ที่ดำเนินการโดยตำรวจและศาลสะท้อนให้เห็นถึงความเร่งด่วนของการแก้ไขกฎหมาย

กรณีสมยศ พฤกษาเกษมสุข

20ธันวาคม 2554 ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทยสอบถามกรณีการใช้กฎหมายมาตรา 112 ดำเนินคดีกับสมยศ พฤกษาเกษมสุข เนื้อหาในจดหมายแสดงความกังวลกับการดำเนินคดีกับสมยศในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ที่อาจจะมาจากการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของสมยศ ซึ่งรวมถึงการรณรงค์ในยกเลิกมาตรา 112 ด้วย ผู้รายงานพิเศษยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้การรับรองเสรีภาพในการแสดงออกตามหลักสากล และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของสมยศให้ครบถ้วน

ทั้งนี้จดหมายยังร้องขอข้อมูลการดำเนินคดีกับสมยศตามมาตรา 112 และคำอธิบายว่าการดำเนินคดีนั้นสอดคล้องกับหลักสากลอย่างไร

ในกรณีนี้ คณะผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา มีจดหมายตอบกลับเพื่อชี้แจงลงชื่อโดยพิษณุ จันทร์วิทัน เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรฯ

ฉบับแรกลงวันที่ 4 เมษายน 2555 ระบุว่าความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์ไทยกับประชาชนนั้นแตกต่างจากกษัตริย์ในประเทศอื่น ๆ เนื่องจากคุณูปการของสถาบันต่อการพัฒนาชาติไทย เอกสารของผู้แทนรัฐบาลไทยยกตัวอย่างโครงการในพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการของรัชกาลที่ 9 และพระบรมราโชวาทที่เป็นคำแนะนำที่ทรงคุณค่าต่อประชาชนไทย ดังนั้น กษัตริย์ไทยจึงไม่ใช่แค่ประมุขของรัฐ แต่ยังเป็น “ศูนย์รวมใจไทยทั้งชาติ” (Soul of the Nation) ความมั่นคงของชาติจึงเป็นเรื่องของความรู้สึกที่คนไทยมีต่อกษัตริย์ด้วย การโจมตีกษัตริย์สำหรับคนไทยจึงไม่ต่างอะไรกับการโจมตี “พ่อ” ของตนเอง และอาจจะส่งผลให้ประเทศไทยขาดความเป็นเอกภาพได้

ดังนั้นการคงอยู่ของกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์จึงเป็นผลมาจากฉันทามติที่สังคมไทยมีร่วมกันว่าต้องปกป้องพ่อของตนเอง ส่วนโทษที่รุนแรงกว่าหมิ่นประมาทคนธรรมดานั้นเนื่องจากการหมิ่นประมาทกษัตริย์ไม่ได้โจมตีแค่บุคคลเดียวเท่านั้น แต่เท่ากับโจมตี “ทั้งสังคม” (whole society) อีกด้วย และเนื่องจากไม่ใช่ความต้องการของคนส่วนใหญ่ รัฐบาลไทยจะไม่แก้ไขมาตรา 112

ฉบับที่สองลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 ชี้แจงว่าสมยศถูกฟ้องร้องด้วยมาตรา 112 จากกรณีเผยแพร่ข้อความและรูปภาพที่เป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ ไม่ใช่จากการรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112 และสมยศถูกปฏิเสธการประกันตัวเนื่องจากถูกจับในระหว่างที่พยายามเดินทางไปกัมพูชา การที่สมยศต้องเดินทางไปขึ้นศาลในหลายจังหวัดนั้นเพื่อความสะดวกของพยานฝั่งอัยการซึ่งอาศัยอยู่คนละแห่งกัน

กรณีอากงและดา ตอร์ปิโด

6 มกราคม 2555 ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทยสอบถามกรณีการใช้กฎหมายมาตรา 112 ตัดสินจำคุกอําพล ตั้งนพกุล “อากง” เป็นเวลา 20 ปี ด้วยเหตุจากการส่งข้อความไปหาเลขานุการของนายกรัฐมนตรี และการคุมขัง ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล “ดา ตอร์ปิโด” จากมาตรา 112 เช่นเดียวกัน ผู้รายงานพิเศษแสดงความกังวลต่อการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ที่ไม่ได้สัดส่วนและขาดความชัดเจนในการตีความ รวมถึงการละเลยปัญหาสุขภาพของผู้ต้องหา โดยเฉพาะดาราณีที่มีการกล่าวหาว่าถูกปฏิเสธให้การรักษา ทั้งที่หลักสากลและข้อตกลงระหว่างประเทศให้การรับรองการปฏิบัติต่อผู้ป่วยที่แม้จะเป็นผู้กระทำความผิดในเรือนจำ โดยรัฐมีหน้าที่ต้องให้การรักษาอย่างถูกต้อง เช่น ผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญก็ควรถูกส่งออกไปรักษานอกเรือนจำ จดหมายยังได้สอบถามข้อมูลของคดี และรายละเอียดการให้การรักษากับอำพลและดาราณี

ต่อมาในวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 คณะผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ได้ส่งจดหมายตอบกลับลงชื่อโดยพิษณุ จันทร์วิทัน เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรฯ โดยยืนยันว่าอำพลได้รับสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอย่างถูกต้อง และถูกตัดสินว่ามีความผิดจากการส่งข้อความที่มีเนื้อหาร้ายแรงดูหมิ่นราชินี ส่วนในเรื่องของโทษนั้นมาจากความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเนื้อหาของคดีนี้และอาจจะเข้าข่ายหมิ่นศาลไทยได้ โทษจำคุกที่อำพลได้รับกรรมละห้าปีทั้งหมดสี่กรรมรวมเป็น 20 ปีนั้นผู้แทนรัฐบาลไทยระบุว่าได้สัดส่วนแล้ว เพราะมากกว่าที่มาตรา 112 กำหนดขั้นต่ำมาเพียงแค่สองปีเท่านั้น

นอกจากนี้ อำพลยังไม่รับการรักษาพื้นฐานในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญประจำอยู่ อย่างไรก็ตาม อำพลเสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับ ซึ่งในระหว่างการรักษา ก็ได้รับอนุญาตให้ออกไปบำบัดคีโมด้วย รัฐบาลไทยยืนยันว่าอำพลได้รับการรักษาอย่างไม่เลือกปฏิบัติแล้ว

ส่วนกรณีของดาราณี ผู้แทนไทยระบุว่าดาราณีได้รับการรักษาอย่างสม่ำเสมอและถูกต้องสอดคล้องกับมาตรฐานสากลแล้ว ดาราณีนั้นปฏิเสธรับการรักษาเอง เนื่องจากหวังว่าตนเองจะได้รับการประกันตัว

กรณีชาวซาอุดิอาระเบีย

25 มีนาคม 2557 ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทยสอบถามกรณีการดำเนินคดีกฎหมายมาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กับชาวซาอุดิอาระเบียที่โพสต์ข้อความเกี่ยวกับสุขภาพของกษัตริย์ไทย ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลง

เนื้อหากฎหมายแสดงความกังวลต่อการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ที่ควรสอดคล้องกับหลักสากล และการเนรเทศชาวซาอุฯ ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดออกจากประเทศ มีปัญหากับหลักการได้สัดส่วนของโทษ

นอกจากนี้ จดหมายจากผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนฯ ยังร้องขอข้อมูลการดำเนินคดีตามมาตรา 112 และคำอธิบายว่ากฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์นั้นสอดคล้องกับหลักสากลอย่างไร ผู้แทนรัฐบาลไทยยังไม่มีการตอบกลับผู้รายงานพิเศษ

กรณีจำเลยคดีการเมือง 21 คน เช่น ประสิทธิ์ ไชยศีรษะและสมบัติ บุญงามอนงค์ (บก.ลายจุด)

8 ธันวาคม 2557 ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทยสอบถามกรณีการดำเนินคดีและคุมขังตามมาตรา 112 กับประชาชนทั้งหมด 21 คน ซึ่งมีสี่คนที่คดีอยู่ในการพิจารณาของศาลทหารด้วย โดยการดำเนินคดีนี้อยู่ภายใต้บริบทของการรัฐประหารที่เกิดขึ้นเมื่อกลางปี 2557 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีคำสั่งให้ศาลทหารพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์

เนื้อหาในจดหมายตอบโต้ข้ออ้างของรัฐบาลไทยที่ว่ากฎหมายมาตรา 112 มีไว้เพื่อปกปกป้องสถาบันกษัตริย์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อความมั่นคงของชาติ โดยผู้รายงานพิเศษกล่าวว่ากฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์นั้นไม่สอดคล้องกับหลักสากลที่วางไว้ในข้อตกลงระหว่างประเทศ เช่น ICCPR รวมถึงปริมาณของโทษที่หนักเกินไปจนอาจก่อให้เกิด Chilling effect หรือเหตุการณ์ที่รัฐสร้างความหวาดกลัวจนประชาชนไม่กล้าออกมาใช้สิทธิเสรีภาพของตนเอง

จดหมายยังได้ร้องขอข้อมูลการดำเนินคดีตามมาตรา 112 และคำอธิบายว่าการดำเนินคดีนั้นสอดคล้องกับหลักสากลอย่างไร

ต่อมาในวันที่ 10 ธันวาคม 2557 คณะผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ได้ส่งจดหมายตอบกลับลงชื่อโดยธานี ทองภักดี เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรฯ โดยกล่าวว่ามาตรา 112 นั้นเป็นกฎหมายคุ้มครองประมุขของรัฐไม่ต่างกับที่ประเทศอื่นมี ผู้ต้องหามีสิทธิในกระบวนการยุติธรรมครบถ้วน และหากมีคำตัดสินว่ามีความผิด ก็สามารถอุทธรณ์ต่อได้ด้วยเช่นกัน สำหรับในเรื่องของคดีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจำนวนมากนั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นคดีที่ค้างอยู่ก่อนจากรัฐบาลที่แล้วด้วย

การประชุมครั้งที่ 71 คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ

13 กุมภาพันธ์ 2558 คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการมีความเห็นที่รับรองโดยคณะทำงานในการประชุมครั้งที่ 71 ระบุว่า คณะทำงานเห็นพ้องกับผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิในเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออก ผู้ซึ่งพบว่า กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ปราบปรามการอภิปรายที่สำคัญในเรื่องที่เป็นประโยชน์สาธารณะ จึงทำให้เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิในเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออก The Working Group has previously concurred with the Special Rapporteur on the right to freedom of opinion and expression, who found that the lèse-majesté laws suppressed important debates on matters of public interest, thus putting in jeopardy the right to freedom of opinion and expression

กรณีจำเลยคดีการเมือง 26 คน เช่น กอล์ฟ ภรณ์ทิพย์ ( เจ้าสาวหมาป่า)

25 กุมภาพันธ์ 2559 คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ และผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทย กรณีการใช้มาตรา 112 ดำเนินคดีและตัดสินจำคุกรวมกันทั้งหมด 26 คน และการใช้ศาลทหารในการดำเนินคดีแทนที่จะเป็นศาลพลเรือน

ในจดหมายมีการกล่าวถึงรายละเอียดของทั้ง 26 คนที่ถูกดำเนินคดี และกล่าวแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ โดยตอบโต้ข้ออ้างของรัฐบาลไทยที่ว่ามีความจำเป็นต้อง “มีการจำกัดในระดับหนึ่งเพื่อปกป้องสิทธิและชื่อเสียงของผู้อื่น และรักษาความมั่นคงของชาติและความสงบเรียบร้อย” ว่าใน ICCPR ที่ไทยเข้าร่วมเป็นภาคีนั้น ระบุเอาไว้ว่าการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกต้องทำโดยมีกฎหมายรองรับ บนฐานที่ชอบธรรม และอยู่ในเกณฑ์อย่างแคบของหลักความจำเป็นและได้สัดส่วน แต่มาตรา 112 ของไทยนั้นไม่ได้สอดคล้องกับหลักที่วางไว้ใน ICCPR โดยเฉพาะการคุมขัง ขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรม และบทลงโทษที่รุนแรงเกินสัดส่วน

จดหมายยังทวงถามคำตอบจากรัฐบาลไทยที่ก่อนหน้านี้ผู้แทนสหประชาชาติเคยส่งให้รัฐบาลไทย และยังขอข้อมูลเพิ่มเติม เช่น ขั้นตอนและสิทธิที่ผู้ต้องหาคดีความตามมาตรา 112 ได้รับ ความคืบหน้าในการแก้ไขและยกเลิกมาตรา 112 ผู้แทนแห่งสหประชาชาติยังปิดท้ายด้วยการขอให้ส่งสำเนาของจดหมายฉบับนี้ให้กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอีกด้วย

ต่อมาในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 คณะผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ได้ส่งจดหมายตอบกลับลงชื่อโดยธานี ทองภักดี เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรฯ โดยยืนยันว่ากฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ไม่ได้มีไว้เพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก แต่เพื่อปกป้องกษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการ เช่นเดียวกับกฎหมายหมิ่นประมาทคนธรรมดา การดำเนินคดีตามกฎหมายมาตรา 112 ยังถูกต้องตามกระบวนการอันสมควรแก่กฎหมายที่ผู้ต้องหามีสิทธิในกระบวนการยุติธรรมเช่นเดียวกับคดีอื่น ๆ

กรณีการประกาศและคำสั่งคสช.

27 พฤษภาคม 2559 ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทยในประเด็นเรื่องคำสั่งและประกาศคสช.ภายใต้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 เช่น คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 3 เรื่องการให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดให้เกิดผลโดยเร็ว หนึ่งในข้อหาคือ หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในตอนท้ายผู้รายงานพิเศษย้ำถึงความกังวลตามที่ได้เคยสื่อสารไปแล้วก่อนหน้านี้ว่า บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นประมาทและการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์กำลังถูกใช้เพื่อปิดกั้นการใช้สิทธิและจำกัดกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนที่ชอบธรรม

กรณีไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา

24 มกราคม 2560 ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทยสอบถามกรณีการดำเนินคดีตามกฎหมายมาตรา 112 และคุมขังจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ดาวดิน จากการแชร์โพสต์พระราชประวัติรัชกาลที่ 10 ของสำนักข่าวบีบีซีในโลกออนไลน์ เนื้อหาในจดหมายกล่าวย้ำว่ามาตรา 112 ไม่สอดคล้องกับหลักสากลหรือข้อตกลงระหว่างประเทศ บุคคลสาธารณะซึ่งรวมถึงผู้ที่มีตำแหน่งสูงสุดอย่างประมุขของรัฐสามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ เพียงเพราะรูปแบบการแสดงออกบางอย่างนั้นอาจจะเป็นส่งผลกระทบต่อประมุขของรัฐไม่มากพอที่จะนำมาลงโทษได้

ผู้รายงานพิเศษได้ขอข้อมูลคดีของจตุภัทร์ คำอธิบายว่าการแสดงออกนั้นเป็นไปตามหลักสากลอย่างไร รวมถึงการโพสต์ในโซเลียลมีเดียนั้น “ทำร้ายประเทศ” อย่างไรจนผู้ต้องหาไม่ได้รับการประกันตัว

ต่อมาในวันที่ 26 มกราคม 2560 คณะผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ได้ส่งจดหมายตอบกลับลงชื่อโดยธานี ทองภักดี เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรฯ โดยมีเนื้อหาว่าได้ส่งข้อซักถามไปให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว และจะส่งต่อคำตอบกลับไปทันทีที่ได้รับข้อมูล ทั้งนี้ ผู้แทนรัฐบาลไทยชี้แจงในเบื้องต้นว่าคดีของจตุภัทร์นั้นอยู่ในขอบเขตอำนาจของศาลทำให้รัฐบาลไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้ รัฐบาลไทยสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออก แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายและไม่สร้างความปั่นป่วนให้กับสังคมดังเช่นที่เขียนไว้ใน ICCPR ข้อที่ 19 ด้วย

กรณีจำเลยคดีการเมือง รวม 21 คน เช่น ทอม ดันดีและเจ๋ง ดอกจิก

22ธันวาคม 2560 ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทยสอบถามกรณีใช้กฎหมายมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ดำเนินคดีกับประชาชน 21 คน จดหมายระบุผู้แทนพิเศษมีความกังวลต่อการใช้มาตรา 112 เนื่องจากเป็นกฎหมายไม่สอดคล้องกับหลักสากลหรือข้อตกลงระหว่างประเทศ บุคคลสาธารณะซึ่งรวมถึงผู้ที่มีตำแหน่งสูงสุดอย่างประมุขของรัฐสามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ เพียงเพราะรูปแบบการแสดงออกบางอย่างนั้นอาจจะเป็นส่งผลกระทบต่อประมุขของรัฐไม่มากพอที่จะนำมาลงโทษได้

ผู้แทนพิเศษยังสอบถามข้อมูลการดำเนินคดี และความชอบธรรมของการมีอยู่ของมาตรา 112 ที่สอดคล้องกับหลักสากลจากรัฐบาลไทย

ต่อมาในวันที่ 12 มกราคม 2561 คณะผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ได้ส่งจดหมายตอบกลับลงชื่อโดยเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรฯ โดยมีเนื้อหาว่าได้ส่งข้อซักถามไปให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว และจะส่งคำตอบกลับไปทันทีที่ได้รับข้อมูล ทั้งนี้ ผู้แทนรัฐบาลไทยยืนยันว่ารัฐบาลไทยสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกตามหลักสากล รวมถึงต้องพิจารณาบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในฐานะเสาหลักแห่งความมั่นคงต่อสังคมไทย ทำให้จำเป็นต้องมีกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์เพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ ในแง่หนึ่ง กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์จึงเป็นภาพสะท้อนของประเพณีและวัฒนธรรมของสังคมไทยที่ให้ความเคารพสถาบันกษัตริย์

การดำเนินคดีตามกฎหมายมาตรา 112 ยังถูกต้องตามกระบวนการอันสมควรแก่กฎหมายที่ผู้ต้องหามีสิทธิในกระบวนการยุติธรรมเช่นเดียวกับคดีอื่น ๆ

กรณีสิรภพ เจ้าของนามปากกา “รุ่งศิลา”

24 เมษายน 2562 คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการมีความเห็นที่รับรองโดยคณะทำงานในการประชุมครั้งที่ 84 ซึ่งเป็นกรณีของสิรภพ จำเลยคดีมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในการพิจารณาว่า บทบัญญัติเหล่านี้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะสิทธิในเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกหรือไม่ คณะทำงานพิจารณาการวิเคราะห์ที่เกี่ยวเนื่องกับข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในประเทศไทยที่ดำเนินการโดยคณะทำงานและกลไกสิทธิมนุษยชนสากลอื่นๆในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สรุปได้ดังนี้

คณะทำงานพบว่า การคุมขังปัจเจกบุคคลภายใต้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 14 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เป็นการควบคุมตัวโดยพลการประเภทสอง เนื่องจากเป็นการคุมขังที่เป็นผลมาจากการใช้สรีภาพการแสดงออกอย่างสงบ

ระบุถึงการสื่อสารหลายครั้งของผู้รายงานพิเศษที่ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา และบทบัญญัติตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ รวมถึงการบังคับใช้ของบทบัญญัติดังกล่าวที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและไม่เป็นไปตามมาตรา 19 ของกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการส่งเสริมและปกป้องสิทธิในเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกระบุว่า บทบัญญัติหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ไม่มีที่ยืนในประเทศประชาธิปไตย (“have no place in a democratic country”) และไม่สอดคล้องกับเสรีภาพการแสดงออกภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ขณะที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติมีความกังวลในทำนองเดียวกัน

นอกจากนี้คณะทำงานยังพิจารณาว่า บทบัญญัติตามมาตรา 112 มีความคลุมเครือและกว้างขวางจนเกินไป มาตรา 112 ไม่ได้ระบุว่า การแสดงออกแบบใดที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และปล่อยให้กลายเป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมดในการตัดสินว่า การกระทำใดถือเป็นการกระทำความผิด

Furthermore, the Working Group considers that the provisions under which Mr. Siraphop is being prosecuted are vague and overly broad. Article 112of the Criminal Code does not define what kinds of expression constitute defamation, insult or threat to the monarchy, and leaves the determination of whether an offence has been committed entirely to the discretion of the authorities.

หมายเหตุ : การควบคุมตัวโดยพลการมีห้าประเภท ประเภทที่สอง คือ การพรากเสรีภาพอันเป็นผลมาจากการใช้สิทธิในเสรีภาพที่ได้รับการรับรองตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน มาตรา 7 13 14 18 19 20 และ 21 และมาตรา 12 18 19 21 22 25 26 และ 27 ของกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

กรณียุบพรรคอนาคตใหม่

20 มกราคม 2563 ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทยสอบถามกรณีศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคดีพรรคอนาคตใหม่ ถูกกล่าวหาว่าล้มล้างการปกครอง และยังแสดงความกังวลว่าสมาชิกพรรคที่วิพากษ์วิจารณ์อาจจะถูกฟ้องร้องด้วยกฎหมายมาตรา 112 พร้อมกับสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับคดีของพรรคอนาคตใหม่

กรณีปิดกลุ่ม รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส

17 กันยายน 2563 ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทยสอบถามกรณีกับประชาชนและผู้ชุมนุม และการปิดกั้นการเข้าถึงกรุ๊ปเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส” หลังจากที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมขู่จะดำเนินคดีกับพนักงานเฟซบุ๊กในไทย จดหมายแสดงความกังวลว่าผู้ที่เข้าร่วมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เห็นไม่ตรงกับรัฐบาลในโลกออนไลน์อาจจะเสี่ยงถูกดำเนินคดีตามกฎหมายมาตรา 112 และมาตรา 116

ต่อมาในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 คณะผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ได้ส่งจดหมายตอบกลับลงชื่อโดยเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรฯ ยืนยันว่ารัฐบาลได้อนุญาตให้ประชาชนสามารถชุมนุมได้โดยสงบ และมีตัวแทนจากหลากภาคส่วนที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย ในด้านการดูแลการชุมนุมนั้นก็ใช้มาตรการตามสัดส่วน และมีการป้องกันไม่ให้เกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมที่มาจากคนละกลุ่ม

ผู้แทนรัฐบาลไทยระบุว่า มุมมองของคนไทยส่วนมากที่เลือกที่จะเงียบ (silent majority) ซึ่งแตกต่างกับผู้ชุมนุม ดังนั้นจึงต้องมีการใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึง พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เพื่อรับประกันว่าการใช้สิทธิของฝ่ายหนึ่งจะไม่เป็นการละเมิดสิทธิและชื่อเสียงของอีกฝ่าย

สำหรับกรณีการปิดกรุ๊ปเฟซบุ๊กนั้น รัฐบาลยืนยันว่าเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย และไม่มีการขู่พนักงานของเฟซบุ๊กแต่อย่างใด

กรณีจำเลยคดีการเมือง 40 คน เช่น อานนท์ นำภาและพริษฐ์ ชิวารักษ์

10 มกราคม 2564 ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทยสอบถามกรณีการดำเนินคดีตามกฎหมายมาตรา 112 กับประชาชนและผู้ชุมนุมอย่างน้อย 40 คน เช่น อานนท์ นำภา ภาณุพงศ์ จาดนอก และพริษฐ์ ชิวารักษ์ จดหมายระบุถึงเหตุการณ์การชุมนุมในไทยตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 โดยเฉพาะการชุมนุมและการปะทะเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ที่บริเวณรัฐสภาท่ามกลางการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 13 ฉบับ ซึ่งหลังจากนั้นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้ประกาศจะใช้กฎหมายทุกฉบับในการจัดการกับผู้ชุมนุม ส่งผลให้มีการใช้มาตรา 112 ดำเนินคดีอย่างกว้างขวาง

ผู้รายงานพิเศษแสดงความกังวลถึงการใช้มาตรา 112 ที่ไม่สอดคล้องกับหลักสากลและข้อตกลงระหว่างประเทศ และการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ต่อผู้ชุมนุมที่รุนแรงเกินสัดส่วน รวมถึงสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับคดีตามมาตรา 112 จากรัฐบาลไทย

รัฐบาลไทยยังไม่มีจดหมายตอบกลับเพื่อชี้แจงตามที่ผู้รายงานพิเศษสอบถามในจดหมาย มีเพียงแจ้งว่ากำลังส่งเรื่องให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น

กรณีอัญชัญ ปรีเลิศ

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติออกแถลงการณ์ร่วมกันแสดงความกังวลต่อการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ โดยเฉพาะกรณีที่ศาลอาญาตัดสินจำคุก อัญชัญ ปรีเลิศ ข้าราชการ ทั้งหมด 87 ปี โดยลดโทษให้เหลือ 29 ปี 174 เดือน จากการแชร์คลิปยูทูปที่เข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยแถลงการณ์ระบุว่า

เราเรียกร้องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคดีของอัญชัญ ปรีเลิศ ให้สอดคล้องกับมาตราฐานสิทธิมนุษยชนสากล และยกเลิกคำพิพากษาที่รุนแรงนี้

เราได้เน้นย้ำหลายครั้งแล้วว่ากฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ไม่มีที่ยืนในประเทศประชาธิปไตย

เราเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐแก้ไขและยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ถอนฟ้องทุกคนที่กำลังเผชิญกับการดำเนินคดีอาญา และปล่อยตัวทุกคนที่ถูกคุมขังเนื่องจากใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ

กรณีหยก นักกิจกรรมเยาวชน

5 พฤษภาคม 2566 ผู้รายงานด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทยกรณีหยก นักกิจกรรมเยาวชนถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีแสดงออกในกิจกรรม “13 ตุลาหวังว่า สายฝนจะพาล่องลอยไป” โดยแสดงความกังวลค่อการดำเนินคดีกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเด็กและผู้ชุมนุมอย่างสันติ ไม่มีใครควรถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมอย่างสันติในการชุมนุมและการแสดงออกในการปกป้องสิทธิมนุษยชน ตามความเห็นโดยทั่วไป ฉบับที่ 34 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และหมิ่นประมาทควรได้รับการร่างขึ้นอย่างระมัดระวังเพื่อให้แน่ใจว่า สอดคล้องตามมาตรา 19(3) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองและในทางปฏิบัติไม่ถูกนำมาใช้ในทางที่ปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออก

พร้อมทั้งย้ำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในการทบทวนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และการดูหมิ่นราชวงศ์ในทางสาธารณะเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 19 นอกจากนี้ยังแสดงความเป็นห่วงถึงผลกระทบเรื่องบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวที่บทบัญญัติดังกล่าวมีต่อการใช้เสรีภาพโดยชอบธรรม

กรณีทานตะวัน ตัวตุลานนท์

23 ตุลาคม 2566 คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการมีความเห็นที่รับรองโดยคณะทำงานในการประชุมครั้งที่ 97 กรณีการจับกุมตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ระหว่างการไลฟ์ขบวนเสด็จเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2565 และวันถัดมาเธอถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ระบุว่า เนื้อหาการวิจารณ์ในไลฟ์อาจปลุกปั่นสู่การสร้างความเกลียดชังพระมหากษัตริย์ ต่อมาเธอได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีเงื่อนไขเช่น ละเว้นการใช้โซเชียลมีเดียในการยุยงปลุกปั่นให้ชุมนุมหรือร่วมการชุมนุมทางการเมือง วันที่ 20 เมษายน 2565 ตะวันถูกถอนประกันโดยระบุว่า กิจกรรมบนโซเชียลมีเดียของเธอเข้าข่ายการกระทำซ้ำความผิด

ความเห็นตอนหนึ่งระบุว่า คณะทำงานพิจารณาว่าการถ่ายทอดสดและการโพสต์ของตะวันอยู่ในขอบเขตของการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกที่ได้รับการคุ้มครองโดยมาตรา 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และมาตรา 19 ของกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง การที่รูปแบบการแสดงออกถูกพิจารณาว่าเป็นการดูหมิ่นบุคคลสาธารณะเพียงอย่างเดียวไม่เป็นเหตุผลชอบธรรมเพียงพอในการกำหนดโทษ บุคคลสาธารณะทุกคนรวมทั้งผู้ที่ใช้อำนาจทางการเมืองสูงสุด เช่น ประมุขแห่งรัฐและรัฐบาลควรจะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์และการต่อต้านทางการเมืองโดยชอบธรรม และกฎหมายไม่ควรจะกำหนดโทษที่รุนแรงกว่าเพียงเพราะสถานะหรืออัตลักษณ์ของบุคคล มากไปกว่านั้นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้แสดงความกังวลเป็นพิเศษเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ระบุว่า การใช้กฎหมายหมิ่นประมาททางอาญาควรได้รับอนุญาตเฉพาะในกรณีที่ร้ายแรงที่สุดเท่านั้น และการจำคุกไม่เคยเป็นโทษที่เหมาะสม

กรณีบัสบาส-มงคล ถิระโคตร

13 มีนาคม 2567 ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งประชาชาติส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทยกรณีที่บัสบาส-มงคล ถิระโคตรถูกศาลพิพากษาให้จำคุก 50 ปีจากคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการโพสต์เฟซบุ๊ก โดยแสดงความกังวลต่อการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในทางที่ไม่ถูกต้องอย่างเห็นได้ชัดเพื่อยับยั้งและปิดปากผู้วิพากษ์วิจารณ์ ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง นักข่าว ภาคประชาสังคม นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและปัจเจกบุคคลอื่นๆที่ต้องการแสดงออกในเรื่องกิจการสาธารณะรวมถึงสถาบันกษัตริย์ โทษที่รุนแรงเช่นนี้สร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวอย่างรุนแรงต่อเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมือง รวมถึงวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์

กรณีคำร้องยุบพรรคก้าวไกล

30 เมษายน 2567 ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติส่งจดหมายแสดงความกังวลถึงรัฐบาลของเศรษฐา ทวีสินในประเด็นการใช้ข้อกฎหมายของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อยื่นยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งเอกสารดังกล่าวระบุว่า หากพรรคการเมืองซึ่งขณะนี้เป็นพรรคผู้นำฝ่ายค้านและเป็นพรรคที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ อาจสร้างบรรยากาศที่หวาดกลัว (Chilling Effect) ต่อความเป็นประชาธิปไตยและพื้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชน (Civic Space) รวมถึงสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก โดยเฉพาะการแสดงออกทางการเมือง

ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ ยังกล่าวถึงข้อกังวลเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 ซึ่งพรรคก้าวไกลมีนโยบายเสนอให้แก้ไขและเป็นที่มาของคดีขอให้ยุบพรรคการเมือง โดยระบุว่า เราเป็นกังวลว่ากฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์จะถูกใช้โดยรัฐบาลเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองปิดปากประชาชนและฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ซึ่งมีโทษทางอาญาที่หนักสำหรับคนที่ถูกกล่าวหา

เอกสารฉบับนี้ยังระบุย้ำเตือนประเทศไทยอย่างชัดเจนว่า คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเคยแสดงความกังวลเกี่ยวกับกฎหมายที่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจทางการเมือง ซึ่งรวมถึงกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ด้วยเช่นกัน ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติจึงเรียกร้องให้ประเทศไทยชี้แจงข้อกล่าวหาข้างต้นภายใน 60 วัน

ผู้รายงานพิเศษแถลงความกังวลคดียุบพรรคก้าวไกล

12 สิงหาคม 2567 ไอรีน ข่าน ผู้รายงานพิเศษด้านการส่งเสริมและปกป้องสิทธิในเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออก ออกมาแสดงความกังวลต่อกรณีการยุบพรรคก้าวไกล โดยสรุปได้ว่า รู้สึกตกใจต่อการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเครื่องมือในการยุบพรรคการเมืองที่มีจำนวนเสียงมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎรและใช้กำจัดสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรออกจากการเมือง

ต่อข้อเสนอการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ข่านให้ความเห็นว่า ข้อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลจะทำให้ประเทศไทยยกระดับการปฏิบัติให้เป็นไปตามตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ศาลรัฐธรรมนูญกลับสร้างบรรทัดฐานด้วยการลงโทษสมาชิกรัฐสภาที่พยายามจะปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ

ข่านแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยว่า เป็นสิ่งที่ไปกันไม่ได้กับประชาธิปไตยสมัยใหม่ ทั้งยังล้าสมัยและไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ นอกจากนั้นความพยายามที่จะปฏิรูปอย่างสันติก็ควรได้รับการสนับสนุนไม่ใช่ถูกขัดขวาง

กรณีบี๋-นิราภร อ่อนขาว แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

20 กุมภาพันธ์ 2568 ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนส่งหนังสือถึงรัฐบาลไทยขอให้ชี้แจงกรณีการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กับบี๋-นิราภร อ่อนขาว นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยตั้งแต่การชุมนุมของเยาวชนในปี 2563 และการโจมตีนิราภรด้วยสปายแวร์เพกาซัส โดยเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการใช้ประมวลกฎหมายอาญาโดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบัญญัติเกี่ยวกับหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ (มาตรา 112) ที่ตั้งเป้าหมายต่องานที่มีความสันติและชอบธรรมของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมและผู้เห็นต่างหรือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในประเทศ

เราขอย้ำการเรียกร้องของเราต่อรัฐบาลของท่านให้ยกเลิกมาตรา 112 นอกเหนือจากการเรียกร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยผู้ถืออาณัติตามกลไกพิเศษแล้ว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและกลไกระหว่างประเทศอื่นๆ ก็ได้เรียกร้องให้ยกเลิกบทบัญญัตินี้เช่นกัน เนื่องจากไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและพันธกรณีระหว่างประเทศของประเทศไทย(We reiterate our call to your Excellency’s Government to repeal section 112. In addition to such repeated calls by Special Procedures mandate holders, the Human Rights Committee and other international mechanisms have also urged for this provision to be repealed as it is incompatible with international law and Thailand’s international obligations.)

28 มีนาคม 2568 อุศณา พีรานนท์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ตอบรับจดหมายร้องเรียนฉบับดังกล่าว ระบุว่า จดหมายร้องเรียนถูกส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยเพื่อพิจารณาแล้ว

สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

18 ธันวาคม 2563 สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อการดำเนินคดีผู้ชุมนุม 35 คน รวมถึงเด็กอายุ 16 ปีตามกฎหมายมาตรา 112 แถลงการณ์ยังกล่าวอีกว่าประเทศไทยมีพันธกรณีตามกลไกด้านสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ของสหประชาชาติ แต่กลับเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังที่กฎหมายมาตรา 112 ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งหลังจากที่ไม่ได้ใช้มากว่าสองปี และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องตามมาตรา 19 ของ ICCPR

8 สิงหาคม 2567 หนึ่งวันหลังศาลมีคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล วอลเกอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนสหประชาชาติแสดงความกังวลว่า การยุบพรรคมีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเสรีภาพในการแสดงออก การรวมตัวสมาคม รวมถึงสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมกับกิจการสาธารณะ และชีวิตทางการเมืองในประเทศไทย เติร์กกล่าวต่อไปว่า ไม่ควรมีนักการเมืองหรือพรรคการเมืองใดที่จะถูกลงโทษในลักษณะที่เกิดขึ้นเพียงเพราะการผลักดันการปฏิรูปกฎหมายอย่างสันติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่มีเนื้อหาส่งเสริมสิทธิมนุษยชน

เขายังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแสวงหาแนวทางที่จะให้การรับประกันประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง โอบรับคนทุกกลุ่ม รวมถึงส่งเสริมและเคารพต่อเสรีภาพในการแสดงออกและการรวมตัวสมาคม Türk ยังเรียกร้องให้ยุติการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อกดปราบเสียงวิพากษ์วิจารณ์ด้วย

สหภาพยุโรป

29 พฤศจิกายน 2554 คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (Delegation of the European Union to Thailand) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ไทยยึดหลักนิติรัฐ (rule of law) จากกรณีศาลสั่งจำคุกอําพล ตั้งนพกุล “อากง” ส่งข้อความไปหาเลขานุการของนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ด้วยกฎหมายมาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

“สหภาพยุโรปเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ไทยรับรองว่าจะใช้หลักนิติรัฐอย่างไม่เลือกปฏิบัติ และได้สัดส่วนสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงเสรีภาพในการแสดงออก”

10 ตุลาคม 2558 รัฐสภายุโรปออกข้อมติแสดงความกังวลถึงการจับกุมประชาชนและนักกิจกรรมจำนวนมากหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนกฎหมายมาตรา 112 เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

21 กรกฎาคม 2563 พรรคกรีน สหพันธรัฐเยอรมนี ได้เผยแพร่แถลงการณ์เพื่อแสดงจุดยืนกับผู้ชุมนุมทั้ง 13 ที่ถูกยื่นฟ้องในคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563

รัฐบาลทหารของประเทศไทยได้ตอบโต้การชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปตามหลักประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐ รวมถึงการเรียกร้องให้รัฐเคารพสิทธิพลเมืองที่เกิดขึ้นทั่วประเทศในช่วงปีที่ผ่านมา ด้วยการใช้ความผิดทางอาญาฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112) เพื่อปิดปากผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล จนถึงปัจจุบันมีผู้ถูกดำเนินคดีทางอาญาเนื่องจากถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์มากกว่า 100 รายและมีการฟ้องร้องคดีแล้วหลายราย ในกรณีที่ผู้ต้องหาถูกตัดสินว่ามีความผิดผู้ต้องหาอาจมีโทษจำคุกมากถึง 15 ปีต่อหนึ่งข้อกล่าวหา นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ถูกดำเนินคดีอาญาจากการชุมนุมอีกหลายร้อยราย

เราขอประณามการดำเนินการที่รุนแรงต่อผู้ที่ชุมนุมอย่างสันติ ซึ่งรวมไปถึงการฟ้องร้องคดีโดยมีแรงจูงใจทางการเมือง ในประเด็นนี้เรายังได้แสดงจุดยืนในจดหมายที่ได้ยื่นแก่สถานทูตไทยไปแล้วด้วย เราขอยืนหยัดอยู่ข้างทุกคนที่เรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิพลเมืองโดยสันติ

รัฐบาลเยอรมันและสหภาพยุโรปมีหน้าที่ต้องปกป้องประชาธิปไตย การแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีและเสรีภาพในการชุมนุม อันเป็นคุณค่าพื้นฐานของยุโรป โดยเฉพาะจากการปกครองแบบอำนาจนิยม การฟ้องร้องคดีโดยมีแรงจูงใจทางการเมืองต้องถูกกล่าวถึงและถูกประณามอย่างเปิดเผย

13 มีนาคม 2568 รัฐสภายุโรปออกข้อมติเกี่ยวกับการละเมิดหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยเฉพาะกฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์และการส่งผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์กลับ ตอนหนึ่งระบุว่า สมาชิกรัฐสภายุโรป (MEPs) เรียกร้องให้คณะกรรมาธิการใช้การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีเป็นเครื่องมือกดดันให้ไทยปฏิรูปกฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ ปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง หยุดการส่งผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์กลับ

20 มีนาคม 2568 เลลา เฟอร์นันเดซ สเทมบริดจ์ หัวหน้าฝ่ายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอาเซียนภายใต้ European External Action Service-EEAS กล่าวระหว่างประชุมคณะอนุกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนของรัฐสภายุโรปว่า สถานการณ์สิทธิมนุษยชนมีความคืบหน้าบ้าง แต่อาจจะยังไม่เพียงพอ ยังมีความท้าทายอยู่ เช่นที่การใช้ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมฯเพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก กรอบกฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทกษัตริย์นั้นถูกนำมาใช้อย่างเข้มงวด และเราหวังว่าประเทศไทยจะละเว้นจากการกำหนดโทษที่ไม่ได้สัดส่วนในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กและเยาวชน

สหรัฐอเมริกา

25 พฤศจิกายน 2558 เอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยในขณะนั้น เกล็น เดวีส์ (Glyn Davies) กล่าวในงานที่จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวต่างชาติประจำประเทศไทย (The Foreign Correspondents’ Club of Thailand – FCCT) ว่าสหรัฐเป็นห่วงคำตัดสินของศาลทหารในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ลงโทษด้วยโทษจำคุกที่ยาวนานและไม่เคยมีมาก่อน

เรามีความเห็นว่าไม่มีใครควรถูกจำคุกเพียงเพราะแสดงความเห็นของตนเองโดยสงบ และเราสนับสนุนให้ปัจเจกบุคคลและองค์กรอิสระต่าง ๆ สามารถค้นคว้าและเผยแพร่ในประเด็นที่สำคัญได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกคุกคาม

ความเห็นของเดวีส์เกิดขึ้นหลังจากที่ศาลทหารตัดสินจำคุกพงษ์ศักดิ์ ศรีบุญเพ็ง อายุ 48 ปี เป็นเวลา 60 ปี จากการโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กจำนวนหกข้อความที่เข้าข่ายดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ลดโทษลงเหลือ 30 ปี หลังรับสารภาพ รวมถึงตัดสินจำคุก ศศิวิมล อีก 56 ปี แต่เนื่องจากสารภาพจึงลดลงเหลือ 28 ปี

คำพูดของเอกอัครราชทูตได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาจากทั้งมวลชนฝ่ายสนับสนุนสถาบันกษัตริย์และเจ้าหน้าที่รัฐไทย ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2558 มีการชุมนุมของมวลชนที่สนับสนุนสถาบันกษัตริย์ ณ บริเวณหน้าสถานทูตสหรัฐ ทำให้มาร์ค เคนท์ (Mark Kent) เอกอัคราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยวิจารณ์ผ่านทวิตเตอร์ถึงการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ไทยที่ปล่อยให้มีการประท้วงที่หน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกาแต่กลับจับกุมนักกิจกรรมที่เดินทางไปตรวจสอบการทุจริตกรณีอุทยานราชภักดิ์

หลังจากนั้นในวันที่ 3 ธันวาคม 2558 สนธิญา สวัสดี ได้ไปยื่นหนังสือให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกร้องให้มีการสืบสวนการกระทำของเดวีส์ โดยตำรวจ สน.ปทุมวัน ก็ยอมรับว่ามีการสืบสวนว่า สิ่งที่เดวีส์พูดนั้นเข้าข่ายการกระทำผิดหรือไม่จริง และได้มีการขอความร่วมมือจาก FCCT ด้วย อย่างไรก็ดี รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ยอมรับว่าเอกอัครราชทูตสหรัฐได้รับความคุ้มครองทา. หพัสว งการทูต ทำให้ไม่สามารถดำเนินคดีได้

8 เมษายน 2568 แทมมี่ บรูซ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศแถลงกรณีการจับกุมพอล แชมเบอร์ส นักวิชาการอเมริกัน ประจำมหาวิทยาลัยนเรศวร ตอนหนึ่งระบุว่า “กรณีนี้ตอกย้ำถึงความกังวลที่มีมาอย่างยาวนานของเราต่อการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทย เราขอเรียกร้องให้ทางการไทยเคารพเสรีภาพในการแสดงออก และให้แน่ใจว่ากฎหมายจะไม่ถูกใช้เพื่อปิดกั้นการแสดงออกที่ได้รับอนุญาต ในฐานะพันธมิตรของประเทศไทยตามสนธิสัญญา”

คดีนี้มีกองทัพภาคที่ 3 เป็นผู้ร้องทุกข์ โดยกล่าวหาว่า วันที่ 11 ตุลาคม 2567 พอลได้โพสต์ข้อความลงบทความภาษาอังกฤษในเว็บไซต์ของ ISEAS สถาบัน Yusof Ishak เข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ซึ่งเขาปฏิเสธว่า ไม่ได้เป็นผู้โพสต์และไม่ได้เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์ดังกล่าว จากนั้นพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องออกหมายจับจากศาลพิษณุโลกโดยที่พอลไม่เคยได้รับหมายเรียกใดๆมาก่อน ต่อมาวันที่ 8 เมษายน 2568 พอลแสดงตัวต่อตำรวจสภ.เมืองพิษณุโลก หลังสอบปากคำตำรวจนำตัวไปฝากขังและคัดค้านการประกันตัว ศาลจังหวัดพิษณุโลกไม่ให้ประกันตัว

วันถัดมาตำรวจนำหมายค้นไปตรวจค้นห้องทำงานของพอลและยึดสิ่งของเช่น คอมพิวเตอร์ ขณะที่ในช่วงเย็นศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำสั่งให้ประกันตัว อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยนเรศวรมีคำสั่งยกเลิกการจ้างงานเป็นผลให้ถูกเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร ต่อมาวันที่ 27 พฤษภาคม 2568 สำนักงานอัยการสูงสุดมีหนังสือระบุคำสั่งไม่ฟ้องคดีมาตรา 112 แม้ว่าคดีจะไม่สั่งฟ้องแต่ในท้ายที่สุดเขาต้องเดินทางออกนอกประเทศไทยในที่สุดด้วยความเสี่ยงของคุกคามด้วยคดีความจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก iLaw

จับตา สว. 67 ไม่รอคดีโกงเลือก สว. จบ เดินหน้าเคาะศาลรธน.-กกต. รวมสามตำแหน่ง

9 ชั่วโมงที่ผ่านมา

คดีมาตรา 112 ของลูกเกด-ชลธิชา จากกิจกรรมคาร์ม็อบหน้าศาลธัญบุรี

15 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความการเมืองอื่น ๆ

ข่าวและบทความยอดนิยม