จับตา สว. 67 ไม่รอคดีโกงเลือก สว. จบ เดินหน้าเคาะศาลรธน.-กกต. รวมสามตำแหน่ง
22 กรกฎาคม 2568 ที่ประชุมวุฒิสภา มีวาระการประชุมในการให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสองตำแหน่ง และกรรมการองค์กรอิสระ คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อีกหนึ่งตำแหน่ง หลังจากที่ได้มีการนัดประชุมพิเศษ "เร่ง" ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง (กมธ.สอบประวัติฯ) จากทั้งสององค์กรในช่วงปิดสมัยประชุมทั้งที่คดีโกงเลือก สว. ยังไม่สิ้นสุด
หลังวุฒิสภาเร่งตั้งกมธ.สอบประวัติฯ ในช่วงปิดสมัยประชุม เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2568 กมธ.สอบประวัติฯ ได้ตรวจสอบประวัติเสร็จสิ้นแล้วจึงได้มีการเสนอวาระเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อให้พิจารณาว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งเหล่านี้หรือไม่ เมื่อนับระยะเวลาแล้ว กมธ.สอบประวัติฯ ใช้เวลาไม่เต็มกรอบระยะเวลา 60 วัน โดยกมธ.สอบประวัติทั้งสองชุดใช้เวลาดังนี้
กมธ.สอบประวัติฯ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สองตำแหน่ง ใช้เวลา 46 วัน (30 พฤษภาคม - 15 กรกฎาคม 2568)
กมธ.สอบประวัติฯ กกต. หนึ่งตำแหน่ง ใช้เวลา 48 วัน (30 พฤษภาคม - 17 กรกฎาคม 2568)
ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 ข้อ 105 กำหนดกมธ.สอบประวัติฯ จะต้องทำให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน หากไม่ทันอาจขยายเพิ่มได้อีก 30 วัน แต่จาก “จังหวะ” ที่วุฒิสภาชุดนี้ใช้ ทั้งการเปิดประชุมวิสามัญเป็นพิเศษในช่วงปิดสมัยประชุมเพื่อตั้งกมธ.สอบประวัติฯ ทั้งที่สามารถ "รอ" ช่วงเปิดสมัยประชุมก็ได้ ประกอบกับการใช้ระยะเวลาไม่เต็มกรอบที่ข้อบังคับฯ กำหนด สะท้อนให้เห็นว่า สมาชิกวุฒิสภา (สว.) 2567 ที่มาจากการ “เลือกกันเอง” กำลัง "รีบ" ให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระเป็นพิเศษ ขณะเดียวกันก็ยังมีรายงานข่าวระบุว่าคณะอนุกรรมการสืบสวนและไต่สวน ส่วนกลาง ชุดที่ 26 ของสำนักงาน กกต. มีมติเห็นชอบให้ดำเนินคดีกับ สว. 138 คนและเครือข่ายพร้อมแกนนำพรรคสีน้ำเงินอย่างพรรคภูมิใจไทยอีก 91 คน โดยต่อไปหลังจากนี้องค์กรที่จะพิจารณาอีกครั้งว่าสมควรดำเนินคดีกับ สว. และเครือข่ายพรรคภูมิใจไทยหรือไม่ ก็คือ "กกต." ที่ สว. กำลังจะพิจารณาให้ความเห็นชอบในวันที่ 22 กรกฎาคม 2568 นี้
กกต. หนึ่งตำแหน่ง : เนื่องจากปกรณ์ มหรรณพ กกต. มีอายุเกิน 70 ปี และรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 216 (1) กำหนดว่าผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต้องมีอายุ 40 ปี และไม่เกิน 70 ปี ปกรณ์จึงต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากอายุเกินเงื่อนไข ส่งผลให้ต้องคัดเลือกกกต. ขึ้นมาใหม่หนึ่งตำแหน่ง เป็นตำแหน่งที่มาจากการคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา โดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้คัดเลือก ณรงค์ กลั่นวารินทร์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา เพื่อเสนอชื่อต่อ สว.
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สองตำแหน่ง : นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในสัดส่วนนักวิชาการสายรัฐศาสตร์ และปัญญา อุดชาชน ตุลาการในสัดส่วนข้าราชการดำรงตำแหน่งครบวาระตั้งแต่พฤศจิกายน 2567 ก่อนหน้านี้เคยมีการเปิดรับสมัคร สรรหาและเสนอชื่อตุลาการคนใหม่สองคนต่อ สว. มาแล้ว โดยทั้งสองผู้สมัคร คือ สิริพรรณ นกสวน สวัสดี และชาตรี อรรจนานันท์ถูกสว. ลงมติปัดตกทั้งคู่ จึงมีการเปิดรับสมัคร สรรหา และเสนอชื่อต่อวุฒิสภาใหม่อีกครั้งหนึ่ง
คณะกรรมการสรรหาได้เสนอชื่อร.ต.อ.สุธรรม เชื้อประกอบกิจ ศาสตราจารย์สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาดำรงตำแหน่งแทนนครินทร์ และเสนอชื่อสราวุธ ทรงศิวิไล อดีตอธิบดีกรมการทางและอดีตอธิบดีกรมทางหลวงถูกเสนอชื่อเพื่อมาดำรงตำแหน่งแทนปัญญา
ตามกระบวนการเมื่อกมธ.สอบประวัติฯ ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วให้เสนอรายงานต่อประธานวุฒิสภา โดยรายงานดังกล่าวจะแยกจัดทำบางส่วนเป็นรายงานลับก็ได้ เมื่อประธานวุฒิสภาได้รับรายงานแล้วให้จัดส่งรายงานให้ สว. ได้รับโดยไม่ต้องส่งส่วนที่เป็นความลับให้ สว. ทราบ ส่วนในการนำเสนอรายงานของกมธ.สอบประวัติฯ ต่อที่ประชุม หากจำเป็นต้องเป็นการประชุมลับ กมธ.สอบประวัติฯ อาจร้องขอให้ประชุมลับได้ และอาจแจกเอกสารส่วนที่เป็นความลับให้ สว. ได้พิจารณา แต่จะเอาออกจากนอกห้องประชุมไม่ได้ และจะต้องส่งคืนต่อเลขาธิการวุฒิสภาเพื่อไปทำลายทิ้ง
เมื่อถึงขั้นตอนการให้ความเห็นชอบจะต้องลงคะแนน "ลับ" จะไม่มีผู้ใดทราบได้ว่า สว. คนไหนลงมติอย่างไร และผู้ที่จะได้รับการเห็นชอบต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของ สว. เท่าที่มีอยู่ หมายความว่า หากมี สว. ครบจำนวน 200 คน ไม่มีผู้ที่ถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ จะต้องได้เสียงเห็นชอบตั้งแต่ 100 เสียงขึ้นไป
หาก สว. ไม่เห็นชอบผู้ใดไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วน ต้องส่งรายชื่อนั้นกลับไปยังคณะกรรมการสรรหาพร้อมด้วยเหตุผลเพื่อให้มีการสรรหาใหม่อีกครั้งแล้วเสนอกลับมายังที่ประชุม สว. ใหม่ โดยผู้ที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาจะไม่สามารถเข้ารับการสรรหาใหม่ได้อีก
เนื่องจากนครินทร์ เป็นประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วย หากพ้นจากตำแหน่งไปจะต้องดำเนินการเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อมีผู้ได้รับการสรรหาและเห็นชอบตุลาการคนใหม่แทนแล้ว ให้ผู้ที่ได้รับความเห็นชอบให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่สองคนต้องประชุมกับตุลาการอีกเจ็ดคนที่ยังไม่พ้นตำแหน่งเพื่อเลือกประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ แต่หากว่า สว. ยังไม่ได้เห็นชอบตุลาการให้ครบตามจำนวนเก้าคน ถ้ามีตุลาการที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่อย่างน้อยเจ็ดคนก็สามารถดำเนินการเลือกประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้
เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการการเห็นชอบโดย สว. หรือกระบวนการเลือกประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ให้ประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นการต่อไป