โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

การเมือง

คดีมาตรา 112 ของลูกเกด-ชลธิชา จากกิจกรรมคาร์ม็อบหน้าศาลธัญบุรี

iLaw

อัพเดต 19 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 19 ชั่วโมงที่ผ่านมา • iLaw

22 กรกฎาคม 2568 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดธัญบุรีนัดฟังคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในคดีดำ อ.1971/2565 ที่ ลูกเกด-ชลธิชา แจ้งเร็ว อดีตนักกิจกรรมกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชนตกเป็นจำเลยในข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2564

วันเกิดเหตุ ลูกเกด-ชลธิชาและกลุ่มผู้ชุมนุมราว 50 คน นัดรวมตัวทำกิจกรรมคาร์ม็อบ #ม็อบ11กันยา จากหน้าห้างฟิวเจอร์พาร์ครังสิต ไปยังศาลจังหวัดธัญบุรี เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวธัชพงศ์ แกดำ, ฟ้า-พรหมศร, ณัฐ-ณัฐชนน และพริษฐ์ ชิวารักษ์ และผู้ต้องขังทางการเมืองคนอื่น ๆ ที่ถูกคุมขังในระหว่างการดำเนินคดี โดยชลธิชาได้ขึ้นปราศรัยเกี่ยวกับการที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออก พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 และแก้กฎหมาย พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เมื่อปี 2561

คำปราศรัยดังกล่าว กลายเป็นเหตุให้พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรีฟ้องร้องในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ โดยเห็นว่าคำพูดนั้นอาจทำให้ผู้ฟังเข้าใจไปในทางที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ และในวันเดียวกันนั้น ชลธิชาและผู้เข้าร่วมชุมนุมอีก 9 คน ยังถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการรวมตัวในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

คดีนี้มีจำเลยทั้งสิ้น 10 ราย นอกจากชลธิชา (จำเลยที่ 1) ยังมี พริม มณีโชติ (จำเลยที่ 2), ศรีไพร นนทรีย์ (จำเลยที่ 3), สุนี ไชยรส (จำเลยที่ 4), ธนพร วิจันทร์ (จำเลยที่ 5), วิปัศยา อยู่พูล (จำเลยที่ 6), สุธิลา ลืนคำ (จำเลยที่ 7), วิศรุต สมงาม (จำเลยที่ 8), ไพศาล จันปาน (จำเลยที่ 9) และ อาทร โพดภูธร (จำเลยที่ 10) ทั้ง 9 คนหลัง ถูกฟ้องเฉพาะข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, คำสั่งจังหวัดปทุมธานี เรื่องมาตรการป้องกันโควิด และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

ระหว่างการสืบพยาน ฝ่ายจำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่าตามข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำเลยที่ 1 วิพากษ์วิจารณ์ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่แก้ไขและออกกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์หลายฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2560, พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561, พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยคำปราศรัยของจำเลยเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ไม่ได้เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 แต่อย่างใด

นอกจากนี้ จำเลยที่ 1 ปราศรัยในฐานะเป็นประชาชนคนไทย ซึ่งมีหน้าที่ในการพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของชาติและสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญ โดยมีเจตนากระทำด้วยความปรารถนาดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้สถาบันฯ มั่นคงยั่งยืนต่อไป

ต่อมาวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 ศาลจังหวัดธัญบุรีได้มีคำพิพากษาในคดีนี้ โดยมีคำพิพากษาให้ ยกฟ้องจำเลยทั้งหมดในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยระบุว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานเพียงพอว่าจำเลยทั้งสิบเป็นผู้จัดการชุมนุม และการชุมนุมที่เกิดขึ้นมีลักษณะโล่งแจ้ง ไม่แออัด ผู้ร่วมกิจกรรมสวมหน้ากากอนามัยเป็นส่วนใหญ่ ไม่ปรากฏว่ามีการแพร่เชื้อภายหลังการชุมนุม

ในส่วนของลูกเกด-ชลธิชา ศาลชั้นต้นเห็นว่า คำปราศรัยของลูกเกดทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและเกลียดชังตามที่โจทก์ฟ้อง มีความผิดตามมาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี ลดโทษเหลือ 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา

หลังคำพิพากษาชั้นต้น ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ โดยใช้หลักทรัพย์จำนวน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยมีเงื่อนไขการประกันตัว 4 ประการ ซึ่งเป็นเงื่อนไขเดียวกับที่สั่งให้ประกันตัวหลังจำเลยถูกฟ้องคดี ดังนี้

  • ห้ามทำกิจกรรมหรือกระทำการใด ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียหรือด้อยค่าต่อสถาบันกษัตริย์และสถาบันศาลในทุกด้าน

  • ห้ามกระทำการใด ๆ อันเป็นการขัดขวางต่อกระบวนการพิจารณาของศาล

  • ห้ามโพสต์ข้อความที่เป็นการยั่วยุ ปลุกปั่น หรือชักชวนให้มวลชนร่วมกิจกรรมชุมนุมในสื่อ Social Media หรือเข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

  • ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก iLaw

รวมข้อวิจารณ์ต่างชาติต่อประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตลอด 15 ปี

10 ชั่วโมงที่ผ่านมา

จับตา สว. 67 ไม่รอคดีโกงเลือก สว. จบ เดินหน้าเคาะศาลรธน.-กกต. รวมสามตำแหน่ง

13 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความการเมืองอื่น ๆ

ข่าวและบทความยอดนิยม