ภาษีทรัมป์ป่วนโลก! จดหมายถึง 27 ประเทศ ปิดดีลได้แค่ 2 ไทยยังลุ้น ก่อนเส้นตาย 1 ส.ค.
ผ่านมาราวสัปดาห์เต็มนับจากที่สหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเกมภาษีนำเข้ารอบใหม่ ล่าสุดเริ่มเห็นเค้าโครงของภูมิทัศน์การค้าใหม่ที่ชัดเจนขึ้น โดยมีการทยอยส่ง “จดหมายแจ้งอัตราภาษีนำเข้า” ไปยัง 27 ประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ ครอบคลุมประเทศที่สหรัฐฯ มีตัวเลขขาดดุลการค้าอย่างมีนัยสำคัญ
ในจำนวนนี้ ฝั่งเอเชียมีเพียง 2 ประเทศเท่านั้น ที่สามารถปิดดีลทางการค้าได้อย่างเป็นทางการก่อนเส้นตาย ได้แก่ อินโดนีเซีย ซึ่งตกลงใช้อัตราภาษีนำเข้าใหม่ที่ 19% ต่ำกว่าที่สหรัฐฯ ประกาศไว้เดิม และ เวียดนาม ที่ยอมรับภาษีที่ 20% ส่วนอีก 25 ประเทศที่เหลือ ยังคงอยู่ในกระบวนการเจรจา โดยบางประเทศเริ่มเห็นทิศทางที่ชัดเจน ขณะที่อีกหลายประเทศยังไม่มีข้อตกลงหรือท่าทีตอบสนองชัดเจนจากรัฐบาล
จีน ซึ่งแม้จะไม่อยู่ในกลุ่ม 27 ประเทศที่ได้รับจดหมายอย่างเป็นทางการ แต่กลับมี ข้อตกลงเบื้องต้น สำหรับสินค้าจีนที่ถูกเก็บภาษีในอัตรา 30% โดยแยกเป็น 20% สำหรับสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสาร Fentanyl และ 10% เพิ่มเติมแบบเหมารวม ขณะที่สินค้าจีนราคาต่ำกว่า 800 ดอลลาร์สหรัฐฯ จะถูกจัดเก็บภาษีสูงถึง 54%
ในส่วนของ ไต้หวันและอินเดีย ยังคงอยู่ในช่วงการเจรจาโค้งสุดท้าย เช่นเดียวกับ ไทย อินโดนีเซีย และกัมพูชา ที่มีอัตราภาษี "แหวกกรอบ" จากแนวทางใหม่ของสหรัฐฯ ซึ่งนิยมใช้อัตราแบบง่าย เช่น 10%, 15%, 20%, ไปจนถึง 50%
27 ประเทศที่ได้รับแจ้งอัตราภาษีอย่างเป็นทางการ มีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่ยังคงใช้อัตราเดิม ได้แก่ อังกฤษ 10%, เกาหลีใต้ 25%, แอฟริกาใต้ 30%, แอลจีเรีย 30% และไทย 36% โดยในจำนวนนั้น คาดว่า อังกฤษและแอฟริกาใต้ ได้ข้อสรุปแล้ว ขณะที่ เกาหลีใต้ ไทย และอินโดนีเซีย ยังอยู่ในขั้นตอนเร่งเจรจาเพื่อให้ทันเส้นตายวันที่ 1 สิงหาคม
สิ่งที่น่าสนใจคือ การที่สหรัฐฯ ยังไม่ "ปัดเศษ" ตัวเลข 32% และ 36% ของอินโดนีเซียและไทยให้เข้าสู่กรอบอัตราภาษีแบบง่าย อาจตีความได้ว่า ฝ่ายสหรัฐฯ กำลัง “รอดู” หรือ “พิจารณา” ข้อเสนอจากทั้งสองประเทศก่อนจะเคาะอัตราสุดท้ายอย่างเป็นทางการ
สถานการณ์นี้ถือเป็นความหวังของทีมเจรจาของไทย ที่อาจสามารถผลักดันให้ภาษีนำเข้าลดลงมาอยู่ในระดับ 25% หรือแม้แต่ต่ำกว่านั้น ซึ่งจะช่วยลดแรงกระแทกต่อภาคการส่งออกไทยอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่สหรัฐฯ เองก็กำลังจัดระเบียบภูมิทัศน์การค้าใหม่ โดยพิจารณาเก็บภาษีเพิ่มอีก 10% สำหรับประเทศที่เข้าร่วม BRICS และกำลังพิจารณาขึ้นภาษีจาก 10% เป็น 15% หรือ 20% สำหรับประเทศอื่นๆ กว่า 100 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศที่สหรัฐฯ เคยเกินดุลการค้าอย่างสิงคโปร์
สำหรับประเทศไทย เหลือเวลาเพียงไม่ถึง 2 สัปดาห์ในการเจรจาหาข้อตกลงที่ดีที่สุดก่อนกำแพงภาษีใหม่จะมีผลในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ ซึ่งอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อทิศทางเศรษฐกิจและการส่งออกของไทยในครึ่งปีหลังนี้