คนเริ่มพูดเหมือน ChatGPT ? วิจัยชี้ภาษาของ AI กำลังซึมเข้าสู่มนุษย์
ในเวลาไม่ถึง 2 ปี ChatGPT ไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือช่วยงานอีกต่อไป แต่มันกำลังจะกลายเป็น ‘ต้นแบบ’ ทางภาษา ที่หลายคนเริ่มใช้ตามโดยไม่รู้ตัวและเริ่มซึมเข้าสู่การสื่อสารของมนุษย์
งานวิจัยล่าสุดจาก Max Planck ในเยอรมนี เผยว่าผู้คนเริ่มมีสไตล์การพูดที่คล้ายกับ ChatGPT มากขึ้น นี่ไม่ใช่แค่เรื่อง "AI เลียนแบบมนุษย์" แต่กลับเป็นมนุษย์ที่กำลังเริ่มเลียนแบบภาษาของ AI
คำที่ AI ชอบใช้ กำลังกลายเป็นคำที่มนุษย์ใช้มากขึ้น
นักวิจัยได้วิเคราะห์คลิป YouTube กว่า 360,000 คลิป และพอดแคสต์อีกเกือบ 8 แสนตอน เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงทางภาษาก่อนและหลัง ChatGPT เปิดตัว พวกเขาพบว่าคำที่ AI ชอบใช้เวลาช่วยเราเขียนงานต่างๆ หรือที่เรียกว่า "GPT words" ถูกนำมาใช้ในภาษาพูดจริงบ่อยขึ้นมาก
ตัวอย่างคำที่ AI ชอบใช้
- เจาะลึก
- เน้นย้ำ
- สนับสนุน
- รวดเร็ว
- พิถีพิถัน
- ชูจุดเด่น
- บุกเบิก
รู้ได้ยังไงว่ามนุษย์เริ่มพูดเหมือน AI
นักวิจัยเริ่มจากเอาเอกสารจำนวนมาก อย่างอีเมล บทความ และงานวิจัยต่างๆ ไปให้ ChatGPT ช่วยปรับสำนวน แล้วดูว่า Chat GPT ชอบใช้คำไหนซ้ำ ๆ จากนั้นก็เอาคำเหล่านั้นไปเช็กในคลิปวิดีโอและพอดแคสต์ว่าคนพูดคำแบบเดียวกันนี้บ่อยขึ้นไหม ซึ่งผลที่ออกมาก็คือ คนเริ่มพูดแบบ Chat GPT จริง
ทำไมเราถึงพูดตาม ChatGPT
นักวิจัยอธิบายว่าคนเราไม่ได้เลียนแบบใครก็ได้ แต่เรามักจะเลียนแบบสิ่งที่เรารู้สึกว่า ‘เก่ง’ หรือ ‘น่าเชื่อถือและตอนนี้หลายคนก็เริ่มมอง ChatGPT เป็นเหมือนผู้เชี่ยวชาญทางภาษาไปแล้ว จึงเผลอซึมซับสไตล์มาโดยไม่รู้ตัว ทีมวิจัยถึงกับบอกว่ามนุษย์กำลังอยู่ในยุคที่ "AI เริ่มมีวัฒนธรรมของตัวเอง" และวัฒนธรรมนั้นกำลังสะท้อนกลับมาสู่มนุษย์
ถึงอย่างนั้นเรื่องนี้ก็มีอีกหลายมุมที่เราต้องมอง
- งานวิจัยนี้อิงจาก ChatGPT เวอร์ชันปัจจุบัน หากมีเวอร์ชันใหม่ออกมาสไตล์ของ AI ก็อาจเปลี่ยนไปอีก
- ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากแหล่งที่เป็นทางการ จึงอาจยังไม่สะท้อนภาษาพูดในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป 100%
- ภาษาเปลี่ยนเพราะหลายปัจจัยไม่ใช่แค่ AI อย่างเดียว แต่มีทั้งโซเชียลมีเดีย วัฒนธรรม ปรากฎการณ์ในสังคมต่างๆ ก็มีส่วน
และคนที่ทำงานเกี่ยวกับด้านภาษา เราอาจต้องย้อนกลับมาถามตัวเองว่าภาษาที่เราใช้ทุกวัน เป็นภาษาของเราจริง ๆ หรือเปล่าหรือมันคือสำนวนที่เราเผลอรับมาจาก AI สิ่งที่น่าคิด อาจไม่ใช่แค่เรื่องที่ AI เลียนแบบมนุษย์ แต่มนุษย์ก็เริ่มเลียนแบบ AI มากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว
ถ้าเรายอมให้ภาษาแบบ AI กลายเป็นมาตรฐานใหม่ของการสื่อสาร เราก็กำลังเปิดทางให้เทคโนโลยีเข้ามากำหนดว่า “ภาษาที่ดี” ควรเป็นแบบไหนอยู่หรือเปล่า แม้งานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นแค่จุดเริ่มต้น แต่มันกำลังบอกเราว่า AI อาจไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือที่ช่วยทำงาน แต่อาจกำลังเป็น “กระจก” ที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงในตัวมนุษย์อยู่
อ้างอิง: gizmodo