"จุดขาวเต็มหลัง"ที่แท้ไม่ใช่โรค หมอแชร์เคสชายวัย70 เผยสาเหตุ
เป็นอีกประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เมื่อ "หมอสุรัตน์" ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและระบบประสาท โพสต์เล่าเคสผู้ป่วยชายอายุ 70 ปี ผ่านเพจ “สาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์” โดยระบุว่า คนไข้รายนี้เป็นผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมาหลายปี และเข้ามาปรึกษาเรื่อง “จุดขาวเล็ก ๆ” ที่กระจายทั่วแผ่นหลัง แม้ไม่มีอาการคัน เจ็บ หรือระคายเคืองใด ๆ
หมอสุรัตน์เผยว่า จุดขาวของช่วงวัย - ห้องตรวจ GMC คนไข้ชายวัย 70 ปี เดินเข้าห้องตรวจอย่างช้า ๆ หน้านิ่ง ไม่ได้แปลว่า หน้าบึ้ง แต่คนไข้พาร์กินสัน ใบหน้าจะยิ้มยากอยู่แล้ว “หมอครับ ผมไม่ได้มีอะไรมากนะ แต่ช่วงนี้สังเกตเห็นว่าหลังผมเป็นจุดขาว ๆ เต็มเลย ไม่มีอาการคันอะไร แต่อยากให้หมอดูให้หน่อยครับ”
เขาเลิกเสื้อขึ้นเล็กน้อย แล้วหันหลังให้ดู สิ่งที่เห็นคือ จุดขาวเล็ก ๆ ขนาด 2-5 มิลลิเมตร กระจายอยู่ทั่วแผ่นหลัง เรียงตัวแบบสุ่ม ไม่บวม ไม่แดง ไม่ลอก ไม่มีร่องรอยของการเกา และไม่มีอาการเจ็บหรือคันใด ๆ เขาเป็นผู้ป่วยพาร์กินสันมาหลายปีแล้ว มือที่สั่นเล็กน้อยทำให้การทายาต่าง ๆ ที่ต้องใช้ความละเอียดกลายเป็นเรื่องยากขึ้นในแต่ละวัน การดูแลผิวกลายเป็นเรื่องรอง เมื่อเทียบกับการเดิน การพูด หรือการนอน
ผมยิ้มบาง ๆ และบอกเขาว่า “จุดขาวพวกนี้เป็นเรื่องปกติของคนที่ผ่านวันเวลามามากครับ เรียกว่า Idiopathic Guttate Hypomelanosis เป็นภาวะที่ผิวหนังสูญเสียสีแบบธรรมชาติ ไม่มีอันตราย ไม่ใช่เชื้อรา ไม่ใช่มะเร็ง และไม่จำเป็นต้องรักษา” เขานิ่งไปครู่หนึ่ง แล้วพยักหน้าเบา ๆ “แสดงว่า…ผมแก่จริงแล้วสินะครับหมอ” ผมหัวเราะเบา ๆ ก่อนจะตอบกลับ “แก่…คือของขวัญครับ คนที่มีโอกาสเห็นจุดขาวพวกนี้ แปลว่าเขาผ่านชีวิตมาได้ยาวนานจนถึงวัยที่ร่างกายเริ่มเปลี่ยนไปอย่างช้า ๆ…อย่างอ่อนโยน” ผมแนะนำให้เขาทามอยส์เจอไรเซอร์บ้าง เพื่อให้ผิวไม่แห้งและป้องกันการระคายเคืองอื่น ๆ ส่วนจุดขาวเหล่านี้ ให้เก็บไว้เป็นเครื่องหมายแห่งเวลา เครื่องหมายว่าเขาได้เดินทางมาไกลแค่ไหน
ก่อนกลับ เขาพูดบางอย่างที่ทำให้ผมจำได้ดี “หมอครับ…ผมคิดว่า จุดขาวพวกนี้มันก็เหมือนดวงดาวนะ เห็นแล้วก็รู้สึกว่าชีวิตผมยังมีบางอย่างสว่างอยู่ ถึงจะสั่น ๆ ไปบ้าง” ผมยิ้มเต็มที่ในวันนั้น เมื่อเช้าเพิ่งฟัง Podcast midnight diary มา เรื่อง เราจะคิดถึงความตาย - เรื่องของการใช้ชีวิต ทำสิ่งที่อยากทำเพื่อชีวิตตนเอง
ปช. มีคนบอกให้ อจ ไปฉีด botox สิ ตีนกามาแล้ว
อจ ตอบไปว่า นี่คือรอยจารึกของประสบการณ์ ที่กร้านโลก ปล่อยมันไว้เหอะนะ เดี๋ยวไม่มีอะไรดูต่างหน้า
555 เรา หัวเราะพร้อมกัน
พร้อมระบุเพิ่มเติมใต้คอมเมนต์อีกว่า มาดูความเป็นไปได้ของรอยโรคผิวหนัง ที่มี สี ซีดจางกันครับ (ในบริบทของผู้ป่วยพาร์กินสัน):
1. Idiopathic guttate hypomelanosis (IGH)
• จุดด่างขาวเล็ก ๆ มักพบบริเวณแขนขาและหลังในผู้สูงอายุ
• ไม่มีอาการคัน
• เกิดจากการลดลงของเมลาโนไซต์ตามวัย (age-related melanocyte loss)
• เป็นภาวะไม่อันตราย และไม่จำเป็นต้องรักษา
2. Postinflammatory hypopigmentation
• จุดขาวที่เกิดหลังจากผิวหนังอักเสบหรือมีการระคายเคือง เช่น การเกา หรือผิวแห้งมาก
• ในผู้ป่วยพาร์กินสัน ผิวมักแห้งและบางจากภาวะ Autonomic dysfunction
• หากเคยมีผื่นหรือการถลอกก่อนหน้า อาจพัฒนาเป็นรอยขาวแบบนี้ได้
3. Tinea versicolor (เชื้อรา pityriasis versicolor)
• จุดขาวหรือสีอ่อนที่เกิดจากเชื้อรา Malassezia
• พบบ่อยที่แผ่นหลัง
• อาจมีขุยบาง ๆ แม้ไม่มีอาการคัน
• ทดสอบด้วย Wood’s lamp หรือ KOH preparation จะช่วยยืนยัน
4. Vitiligo (ด่างขาว)
• จุดขาวจากการสูญเสียเมลาโนไซต์โดยสิ้นเชิง
• มักมีขอบชัด สีขาวสนิท และขยายขนาดได้
• อาจพบน้อยในผู้ป่วยสูงอายุและไม่ใช่ตำแหน่งปกติของการเริ่มเป็น รายนี้ตรวจแล้ว ขุยไม่มี ไม่มีคัน คิดถึง จากสูงอายุ แต่ มี แจ้ง ในการ ทำ KOH เพื่อดูว่า เป็น เกลื้อน ราหรือไม่เรียบร้อย
ขอบคุณ สาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์