13 ปี ค่าข้าวขึ้น 106.5% คนกรุงฯ ค่าครองชีพพุ่ง สวนทางค่าแรงคนไทย
ชีวิตคนวัยทำงานไม่ได้ง่ายในทุกวันนี้ค่าครองชีพสูงลิ้ว แถมเจอกับแรงกดดันต่างๆมากมาย แต่…ต้องกับมาเจอข้าวของแพงจนทำให้แทบไม่มีเงินเก็บ บางคนภาระหนี้สินท่วมหัว ล่าสุด ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เผย ผลสำรวจ ราคาข้าวจานเดียวในย่านสีลม-สุรวงศ์-สาทร ระหว่างปี 2555-2568 พบว่า ราคาอาหารต่อจานพุ่งจาก 31 บาทในปี 2555 เป็น 64 บาทในปี 2568 หรือเพิ่มขึ้น 106.5% ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำในช่วงเวลาเดียวกันเพิ่มจาก 300 เป็น 400 บาท หรือเพิ่มขึ้นเพียง 33.3% เท่านั้น
ทั้งนี้สามารถแยกตามช่วงเวลาของรัฐบาลที่บริหารประเทศในยุคนั้นๆ ได้ดังนี้
- ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (2555–2557) ราคาอาหารเพิ่มเฉลี่ยปีละ 5.2%
- ยุครัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา (2557–2566) เพิ่มเฉลี่ยปีละ 6.6% รวม 77%
- ยุครัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน (2566–2567) เพิ่ม 3.3%
- ยุครัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร (2567–2568) เพิ่ม 2.0%
ทั้งนี้ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ฯ ได้ริเริ่มจัดทำการสำรวจราคาอาหารในทุกรอบครึ่งปี โดยที่ผ่านมาได้ทำการสำรวจดำเนินการใน 21 ครั้ง แต่ในระยะหลังทำการสำรวจในรอบปี โดยการสำรวจนี้ดำเนินการเฉพาะในพื้นที่สีลม-สุรวงศ์ ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางธุรกิจหรือ Central Business District (CBD) ของประเทศไทย และมีคนทำงานในสำนักงานเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้โดยมีสมมติฐานว่าราคาอาหารในย่านนี้น่าจะเป็นราคามาตรฐานเพราะเป็นในใจกลางเมือง ในบริเวณอื่นน่าจะถูกกว่านี้ ยกเว้นในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวที่มีผู้ไปท่องเที่ยวเป็นครั้งคราว การสำรวจพื้นที่สีลม จึงถือเป็นตัวแทนสำคัญสำหรับกรุงเทพมหานครและประเทศไทยโดยรวม
อย่างไรก็ตามการสำรวจนี้ได้มีการเดินสำรวจซ้ำตามร้านเดิมที่เคยสำรวจไว้จำนวนมากกว่า 30 ร้าน บางบริเวณเป็นร้านอาหารร้านเดียว บางบริเวณเป็นศูนย์อาหาร พร้อมบันทึกถ่ายภาพนิ่ง และวีดีทัศน์ประกอบ และในบางบริเวณมีร้านค้าเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามห้วงเวลาอีกด้วย โดยแต่ละครั้งที่สำรวจใช้เวลาในการเดินไม่เกิน 2 ชั่วโมงในช่วงเวลาพักรับประทานอาหารกลางวัน
โดยการประเมินจากภาพรวมสะสม 13 ปี (พฤษภาคม 2555 – มิถุนายน 2568) ราคาเพิ่มจาก 31.0 บาท เป็น 64.0 บาท หรือเพิ่มขึ้น 106.5% และหากคิดเป็นการเพิ่มขึ้นต่อปี ก็เท่ากับเพิ่มขึ้นประมาณ 5.7% ต่อปี ซึ่งถือว่าสูงพอสมควร เพราะสูงกว่าอัตราภาวะเงินเฟ้อ ราคาอาหาร ณ เดือนพฤษภาคม 2566 หรือเป็นเวลา 9 ปีหลังรัฐประหารเมื่อพฤษภาคม 2557 เพิ่มขึ้น 77% หรือเพิ่มขึ้นปีละ 6.6%
ซึ่งถือว่าสูงขึ้นมาก หากเทียบกับก่อนรัฐประหารในช่วงเดือนพฤษภาคม 2555-2557 ปรากฏว่าราคาอาหารเพิ่มขึ้นเพียง 10.7% หรือเพิ่มขึ้นปีละ 5.2% ต่ำกว่าช่วงหลังรัฐประหาร ดังนั้นในยุคก่อนรัฐประหาร ราคาอาหารเพิ่มขึ้นน้อยกว่าช่วงหลังรัฐประหารอย่างชัดเจน ส่วนในปีของรัฐบาลเศรษฐาเพิ่มขึ้น 3.3%
นอกจากนี้การสำรวจมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า อาจมีบางบริเวณ เช่น เมืองท่องเที่ยว หรือเมืองอุตสาหกรรมที่มีการปรับเพิ่มของราคาขายมากกว่านี้ หรือสำหรับรายการอาหารแบบฟาสต์ฟูด ก็อาจปรับราคาเพิ่มขึ้นตามอำเภอใจโดยไม่ได้มีการควบคุม แต่สำหรับประชาชนกันเอง ย่อมมีความเห็นใจและถ้อยทีถ้อยอาศัยกันตามสมควร จึงทำให้แทบไม่มีการปรับราคาขาย แต่ระยะหลังจากที่ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น ทำให้การเพิ่มราคาอาหารเกิดขึ้นอย่างชัดเจน
ส่วนกรณีนี้ที่มีบางท่านอาจตั้งข้อสังเกตว่า แม้ราคาไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณอาจจะลดน้อยลง แต่จากการสังเกตก็พบว่า ปริมาณก็อาจลดลงบ้าง อย่างไรก็ตามก็ยังอาจมีบางท่านให้ข้อสังเกตว่า แม้บางร้านปริมาณจะคงเดิม แต่คุณภาพก็อาจลดลง แต่ข้อนี้ ผู้สำรวจคงไม่สามารถไปตรวจสอบในรายละเอียดในระดับนั้น และคงอยู่ที่วิจารณญาณของทุกท่านที่พิจารณาผลการสำรวจนี้ ผู้ค้าบางรายกล่าวว่า ไม่สามารถขึ้นราคาอาหารได้เพราะคนซื้อไม่มีกำลังซื้อเท่าที่ควร ทั้งที่วัตถุดิบในการทำอาหารเพิ่มขึ้นก็ตาม จะสังเกตได้ว่าร้านที่ยังพยายามยืนราคาอาหารไว้ หรือไม่ขึ้นราคา จะมีผู้เข้าคิวอุดหนุนมากเป็นพิเศษ
ไม่เพียงเท่านี้ได้มีการสัมภาษณ์ผู้ค้า โดยพบว่า สิ่งที่ส่งผลที่เด่นชัดกว่าก็คือ ค่าเช่าพื้นที่ค้าปลีก เพื่อการขายอาหาร หากค่าเช่าแพงขึ้นมาก ก็จะทำให้ราคาอาหารเพิ่มมากขึ้น บางแห่งเช่าพื้นที่ขนาดประมาณ 18 ตารางเมตร เป็นเงินถึง 60,000 บาทต่อเดือน (ตรม.ละ 3,333 บาท) ดังนั้นรัฐบาลหรือกรุงเทพมหานคร อาจช่วยจัดหาพื้นที่ค้าขายในราคาถูก เพื่อให้ผู้ค้าสามารถยืนหยัดขายในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป เพื่อเป็นการช่วยเหลือค่าครองชีพแก่ประชาชน
ด้วยเหตุที่ค่าเช่าพื้นที่ขายแพง ก็เลยมีร้านอาหารประเภท “อาหารกล่อง” คือให้ผู้ซื้อๆกลับไปรับประทานที่อื่น จึงประหยัดค่าเช่าได้มาก ถือเป็นการปรับตัวครั้งสำคัญ และตามศูนย์อาหารต่างๆ ก็พบว่า ร้านค้าหลายแห่งหายไป บางแห่งปิดร้านไปตั้งแต่ช่วงโควิดเมื่อ 1-2 ปีก่อน (2563-2564) อย่างไรก็ตามร้านค้าที่ปิดไปส่วนมาก เพิ่งปิดในช่วงปี 2564-2565 นี้เอง ในการสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 ร้านค้าบางแห่งก็ยังซบเซาอยู่
พร้อมกันนี้ยังได้มีการคาดการณ์ราคาอาหารในปี 2568-2569 ว่าน่าจะยังค่อนข้างทรงตัวเพราะเศรษฐกิจฝืดเคืองกันทั่วหน้า หากขึ้นราคาสินค้าอาหารอีก ก็คงยิ่งขายยาก ราคาอาหารจึงน่าจะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2% ดังนั้นใครที่อยากประหยัดก็ลองทำอาหารรับประทานเองภายในครอบครัวอาจสามารถช่วยประหยัดได้ไม่มากก็น้อย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง