ถ้า กสทช.ไม่รับรองผลประมูลคลื่น ความเสี่ยงใหญ่ที่อาจต้องจ่าย?
หลังการประมูลคลื่นความถี่ 850, 1500, 2100 และ 2300 MHz เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2568 หลายคนอาจคิดว่ากระบวนการสิ้นสุดแล้ว แต่ความจริงยังเหลือขั้นตอนสำคัญคือ การรับรองผลการประมูลโดยคณะกรรมการ (บอร์ด) กิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ซึ่งตามกฎหมายต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน หรือไม่เกินวันที่ 6 กรกฎาคม 2568
คำถามสำคัญคือ ถ้ากสทช.ไม่รับรองผล ประเทศไทยจะต้องเผชิญอะไรบ้าง?
ผลกระทบต่อประชาชน
ในระยะสั้นมือถือยังใช้งานได้ตามปกติ แต่เมื่อคลื่นเก่าหมดอายุสัมปทานในเดือนสิงหาคม ความเสี่ยง“ซิมดับ” โดยเฉพาะในชนบทหรือผู้สูงอายุจะเกิดขึ้นทันที ขณะที่การใช้ดาต้าที่โตขึ้นปีละ 20-30% จะทำให้ระบบเครือข่ายแออัด คล้ายถนนที่รถเพิ่มขึ้นทุกวันแต่ไม่สร้างเลนใหม่
สุดท้ายเกิดปัญหาเน็ตช้า วิดีโอคอลสะดุด เกมออนไลน์กระตุก การพัฒนาเทคโนโลยีสำคัญอย่าง Smart Farming, Telemedicine หรือ IoT ก็จะชะงัก กระทบเศรษฐกิจดิจิทัลและการลงทุนของประเทศ ความล่าช้าของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลยังส่งผลต่อความพร้อมของประเทศในการรองรับเทคโนโลยีใหม่ เช่น 5G Advance หรือ 6G ที่หลายประเทศเริ่มวางแผนแล้ว
ผลกระทบต่อเอกชน
เอกชนที่ประมูลผ่านเกณฑ์ถูกต้องทุกขั้นตอนจะได้รับผลกระทบจากการลงทุนที่ถูกแขวนลอย ทั้งค่าใช้จ่ายในการวางแผน จัดหาหลักทรัพย์ และจ้างที่ปรึกษา ความเสียหายนี้ไม่เพียงกระทบผู้ประกอบการ แต่ยังบั่นทอนความเชื่อมั่นผู้ถือหุ้นต่างชาติที่กำลังจับตาการขยายธุรกิจในไทย รวมถึงความไม่แน่นอนนี้อาจทำให้บริษัทแม่ที่เป็นผู้ถือหุ้นต่างชาติเริ่มทบทวนแผนลงทุนใหม่ ลดการขยายเครือข่ายหรือโครงการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีขั้นสูงในไทย เพราะไม่มั่นใจในความโปร่งใสของการกำกับดูแล
ผลกระทบต่อกสทช.
หากไม่รับรองผลภายใน 7 วัน กสทช.อาจละเมิดกฎระเบียบที่ออกเอง และถูกฟ้องศาลปกครองในฐานะละเลยหน้าที่ เสี่ยงต่อคดีความและการต้องชดใช้ค่าเสียหาย
นอกจากนี้ยังอาจเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เรื่องละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
และหากเกิดการฟ้องร้อง สถานะและความน่าเชื่อถือของคณะกรรมการ กสทช. ทั้งชุด จะถูกสั่นคลอน และอาจกระทบต่อการทำหน้าที่ในโครงการสำคัญอื่นๆ ในอนาคต
ผลกระทบต่อประเทศ
ความไม่แน่นอนในการกำกับดูแลจะทำลายความเชื่อมั่นนักลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและดิจิทัล นักลงทุนต่างชาติยากจะตัดสินใจลงทุนเมื่อกฎกติกาเปลี่ยนได้ทุกเมื่อ สุดท้ายประเทศไทยจะเสียเปรียบเพื่อนบ้านที่เดินหน้าดิจิทัลเต็มที่ ที่สำคัญในยุคที่การดึงดูดการลงทุนแข่งขันสูง ความไม่แน่นอนนี้อาจทำให้โอกาสในการเป็นฮับดิจิทัลของไทยในภูมิภาคต้องเลือนหาย
ดังนั้น การรับรองผลประมูลคลื่นไม่ใช่แค่หน้าที่ตามกฎหมาย แต่คือความจำเป็นต่ออนาคตเศรษฐกิจและความน่าเชื่อถือของไทยในสายตาโลก ความล่าช้าหรือการไม่รับรองโดยไม่มีเหตุผลชัดเจน อาจเป็นราคาที่ประเทศไทยต้องจ่ายแพงในอนาคต ทั้งในรูปของเศรษฐกิจ การลงทุน และโอกาสการพัฒนาในระยะยาว