CIMBTชี้การเมืองป่วนกระทบ'เชื่อมั่น-นโยบายสะดุด-เจรจาทรัมป์ฯ'
สำนักวิจัยซีไอเอ็มบีไทยมองภาพเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังชะลอตัวและเสี่ยงโตต่ำต่อเนื่องไปถึงปีหน้า จากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข พร้อมคงเป้าจีดีพีเติบโต1.8% แม้ธปท.จะปรับเพิ่ม ขณะที่ปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองภายหลังนายกฯรัฐมนตรีถูกตัดสินให้หยุดปฏิบัตหน้าที่ กระทบใน 3 เรื่องหลัก 'ความเชื่อมั่น - ความต่อเนื่องของนโยบาย-การเจรจาการค้าสหรัฐฯ
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า สำนักวิจัยฯ ยังคงคาดการณ์ GDP ปี 2568 ไว้ที่ 1.8% แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับการคาดการณ์ไปสู่ระดับ 2.3% จาก 2.0% จากแรงส่งที่แรงกว่าคาดของ GDP ไตรมาส 1 ที่ขยายตัวถึง 3.1% และส่งที่เติบโตได้ดี แต่หากพิจารณาสถานการณ์ไตรมาส 2 และแนวโน้มไตรมาส 3 แล้ว ยากจะเชื่อมั่นถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เพราะความเดือดดาลทางการเมืองระหว่างประเทศและในประเทศค่อนข้างฉุดรั้งความเชื่อมั่น นอกจากนี้ คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 1.50% ปลายไตรมาส 3 และ 1.25% ปลายปีนี้ ส่วนค่าเงินบาทน่าอยู่ที่ระดับ 32.90 ปลายไตรมาส 3 และ 33.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐสิ้นปีนี้
ทั้งนี้ นับแต่ไตรมาส 2 คาดว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสเทียบไตรมาสไม่น่าจะขยายตัวเลย แต่ไตรมาส 2 ปีนี้เทียบปีก่อน น่าจะขยายตัว 2.2% ซึ่งสภาพัฒน์ฯจะรายงานตัวเลขเศรษฐกิจอีกครั้งวันที่ 18 สิงหาคม ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะชะงักงันลากยาวตลอดทั้งปี ส่งผลให้เศรษฐกิจไตรมาส 3 และ 4 แบบ YoY จะโตเพียง 1.1% และ 0.7% ตามลำดับ เป็นที่มาของการยืนคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2568 ที่ 1.8% เทียบปีก่อนที่ 2.5%
สำหรับความไม่แน่นอนทางการเมืองกำลังกดดันเศรษฐกิจไทย 3 เรื่องหลัก ได้แก่ (1) ความเชื่อมั่นภาคเอกชนถดถอย ส่งผลให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศชะลอการลงทุน อีกทั้งเอกชนอาจระมัดระวังมากขึ้นโดยเฉพาะโครงการที่ต้องพึ่งพางบประมาณภาครัฐ โดยเฉพาะภาคการก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลสามารถรักษาเสถียรภาพและความต่อเนื่องของนโยบายได้ ความเชื่อมั่นอาจไม่ลดลงมากนัก แต่ให้ระวังเสถียรภาพรัฐบาลหากพรรคร่วมมีแรงกดดันให้ทบทวนจุดยืนหรือเกิดการถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล อาจนำไปสู่การยุบสภาในที่สุด แต่ตอนนี้ยังไม่ใช่ผลกระทบในระยะสั้นในทันที
(2) การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจอาจจำกัดขึ้น แม้การหยุดปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯ ไม่น่ามีผลต่อการเบิกงบประมาณรายจ่าย โดยเฉพาะการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากรัฐบาลยังมีอำนาจเต็ม ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการระหว่างรอเลือกตั้ง รองนายกฯ สามารถผลักดันโครงการต่างๆ ได้ แต่การตอบสนองต่อเงินจากมาตรการทางการคลังที่ใส่ไปในระบบเศรษฐกิจอาจมีประสิทธิผลน้อยลงหากความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงจากความไม่แน่นอนทางการเมือง แต่หากการเมืองเดินหน้าไปสู่การยุบสภาฯ ก็อาจกระทบต่องบประมาณในปี 2569 ที่อาจล่าช้ากระทบเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 4 ถึงไตรมาส 2 ปีหน้า
และ (3) ผลกระทบต่อการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเจรจาให้สหรัฐลดอัตราภาษีนำเข้าจากไทย แม้อาจจะไม่กระทบในระยะสั้น ซึ่งตัวแทนการเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐน่าจะได้พบคุยกันตามกำหนดการเดิม แต่ห่วงว่าสหรัฐอาจใช้ประเด็นเสถียรภาพการเมืองไทยในการต่อรองเงื่อนไขทางการค้ามากขึ้น สำหรับทางออก รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งสร้างความชัดเจนเรื่องการปรับเปลี่ยนผู้นำประเทศ ด้วยการแสดงวิสัยทัศน์และแผนงานที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้การเมืองกลายเป็นตัวฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงเวลาสำคัญนี้
"ไม่ว่าฉากทัศน์ไหน จะรุ่ง รอด หรือริ่ง สัญญาณชัดคือเศรษฐกิจไทยยังเสี่ยงโตต่ำต่อเนื่องไปถึงปีหน้า หากยังไม่เร่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง และยั่งยืน ซึ่งจะทำให้ไทยสูญเสียความน่าสนใจในการลงทุนจากต่างชาติ" นายอมรเทพ กล่าวทิ้งท้าย
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO