‘เคทีซี’ แกร่งต่อเนื่อง ครึ่งปีแรกกำไรเพิ่ม 3.5% ทะลุ 3 พันล้าน ส่วนแบ่งตลาดโตทุกผลิตภัณฑ์
"เคทีซี" เผยครึ่งแรก ปี 2568 กำไรสุทธิของกลุ่มบริษัทเติบโตอยู่ที่ 3,755 ล้านบาท พอร์ตสินเชื่อรวม 107,104 ล้านบาท สะท้อนความมั่นคงของธุรกิจ และประสิทธิภาพในการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์เชิงรุก และต่อเนื่อง
วันนี้ (18 ก.ค.) นางพิทยา วรปัญญาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร "เคทีซี" หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 มีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันมากขึ้น จากความไม่แน่นอนของภาคการส่งออก และการผลิตที่ยังเปราะบาง ทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายใน
อุตสาหกรรรมสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคโดยรวมยังคงชะลอตัว ในส่วนของบริษัทยังสามารถสร้างผลการดำเนินงานที่โดดเด่น และครองส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก
ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2568 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567 ลูกหนี้บัตรเครดิตมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 15.4% ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตร มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 13.3% และลูกหนี้สินเชื่อบุคคลมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 6.8%
ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทาย เคทีซียังคงจัดการคุณภาพสินทรัพย์ได้ดี และรักษาระดับเงินสำรองไว้อย่างแข็งแกร่ง และเพียงพอ โดยอัตราหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ที่ 1.83% และ NPL Coverage Raio ที่ 419.9%
ในไตรมาส 2/2568 กลุ่มบริษัทยังรักษาฐานรายได้รวมให้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 6,812 ล้านบาท จากรายได้ดอกเบี้ย และรายได้ค่าธรรมเนียมตามการขยายตัวของพอร์ต และปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตร
ขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมลดลงอยู่ที่ 4,340 ล้านบาท จากการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ที่ดี และต้นทุนทางการเงินที่ลดลง ทำให้กลุ่มบริษัทสามารถทำกำไรสุทธิในไตรมาส 2/2568 เท่ากับ 1,895 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% และครึ่งแรกปี 2568 กำไรสุทธิเท่ากับ 3,755 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5%
นางพิทยา บอกด้วยว่า นอกเหนือจากการดำเนินธุรกิจให้เกิดผลกำไรที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว บริษัทยังให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ตลอดกระบวนการ ภายใต้กรอบการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ และเป็นธรรม ซึ่งเป็นรากฐานในการทำธุรกิจที่จะช่วยให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว
ด้วยปัจจัยพื้นฐาน และศักยภาพการเติบโตของบริษัท ทำให้ภายหลังจากมีการซื้อขายหลักทรัพย์รายใหญ่ (Big Lot) เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา จำนวน 129,204,600 หุ้น และวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา จำนวน 243,262,200 หุ้น คิดเป็นอัตรา 5.01% และ 9.45% ของทุนจดทะเบียนตามลำดับ ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น ให้มีการกระจายตัวมากขึ้น
โดยมีสัดส่วนการถือครองของนักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศ และต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นต่อบริษัทในวงกว้างจากหลากหลายกลุ่มนักลงทุนอย่างชัดเจน
บมจ. ธนาคารกรุงไทย ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นลำดับที่ 1 และให้การสนับสนุนบริษัทเช่นเดิม รวมถึงโครงสร้างคณะกรรมการบริษัท โครงสร้างผู้บริหา รและนโยบายการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัท ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ โดยยังคงมุ่งมั่นดำเนินงานด้วยความโปร่งใส และสร้างพอร์ตคุณภาพที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ข้อมูลนับถึงวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567 เคทีซีมีฐานสมาชิกรวม 3,508,827 บัญชี เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ และดอกเบี้ยค้างรับรวม 107,104 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 1.2%)
อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวม (NPL) ลดลงอยู่ที่ 1.83% จำนวนสมาชิกบัตรเครดิต 2,813,627 บัตร (เพิ่มขึ้น 3.5%) เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้บัตรเครดิต และดอกเบี้ยค้างรับรวม 69,925 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 1.0%)
NPL บัตรเครดิตอยู่ที่ 1.14% ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรช่วงครึ่งปีแรกของปี 2568 มูลค่า 146,584 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 4.4%) สมาชิกสินเชื่อบุคคลเคทีซี 695,200 บัญชี (ลดลง 5.1%) เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้สินเชื่อบุคคลและดอกเบี้ยค้างรับรวม 35,396 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 4.0%)
NPL สินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 2.32% และมียอดสินเชื่อใหม่ของ "เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน" จำนวน 1,048 ล้านบาท
ในส่วนของลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อในบริษัท กรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง จำกัด (KTBL) มีมูลค่า 1,782 ล้านบาท (ลดลง 29.4%) ซึ่งเคทีซีได้หยุดปล่อยสินเชื่อประเภทนี้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 และปัจจุบันมุ่งเน้นการติดตามหนี้ และบริหารจัดการคุณภาพพอร์ตสินเชื่อที่มีอยู่
บริษัทยังคงดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ระยะยาวอย่างต่อเนื่อง ตามแนวทางในประกาศของ ธปท. ที่ 3/2568 เรื่อง การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending: RL)
โดยบริษัทได้มีการพิจารณาลูกหนี้แต่ละรายให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ และไม่ทำให้ลูกหนี้มีภาระหนี้เพิ่มขึ้นจากภาระหนี้เดิมเกินสมควร ได้แก่ การเปลี่ยนประเภทหนี้บัตรเครดิตเป็นหนี้เงินกู้สินเชื่อบุคคลระยะยาว
มาตรการลดภาระการเงิน โดยเครดิตดอกเบี้ยคืนเข้าบัญชีบัตรเครดิตของลูกหนี้ การขยายระยะเวลาชำระหนี้ และการปรับลดค่างวด รายละเอียดเพิ่มเติมคลิก https://www.ktc.co.th/about/news/measure
นอกจากนี้ ในฐานะที่บริษัทเป็นสถาบันการเงินในกลุ่มธุรกิจของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จึงได้ร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ช่วยเหลือลูกหนี้ในโครงการ "คุณสู้ เราช่วย" ระยะที่ 1 และได้ขยายความช่วยเหลือสู่โครงการระยะที่ 2 เพื่อสนับสนุนลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่มีโอกาสรอด ให้สามารถฟื้นตัวกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ เมื่อรายได้ฟื้นตัวก็สามารถปิดจบหนี้ได้
สมาชิกที่เข้าเกณฑ์สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่านเว็บไซต์ https://www.bot.or.th/khunsoo ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม-30 กันยายน 2568 ซึ่งบริษัทประเมินว่า มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ต่าง ๆ ข้างต้น จะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อภาพรวมผลการดำเนินงาน
ในส่วนของแหล่งเงินทุน กลุ่มบริษัทมีเงินกู้ยืมทั้งสิ้น 58,081 ล้านบาท (รวมหนี้สินตามสัญญาเช่า) แบ่งสัดส่วนเป็น เงินกู้ยืมระยะยาว 59% เงินกู้ยืมระยะสั้น (รวมส่วนของเงินกู้ยืมและหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระภายใน 1 ปี) 41%
อัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 1.64 เท่า ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ 1.97 เท่า ซึ่งอยู่ในระดับต่ำมาก เมื่อเทียบกับภาระผูกพัน (Debt Covenants) ที่กำหนดไว้ 10 เท่า และมีวงเงินสินเชื่อคงเหลือ (Available Credit Line) วงเงินกู้ยืมระยะสั้น 20,780 ล้านบาท และวงเงินกู้ยืมระยะยาวจากธนาคารกรุงไทยอีก 2,000 ล้านบาท
มีภาระหนี้หุ้นกู้ และเงินกู้ยืมระยะยาวที่จะครบกำหนดชำระในครึ่งหลังของปี 2568 ทั้งสิ้น 10,000 ล้านบาท สภาพคล่องในมือที่สูงกว่าภาระหนี้ที่ใกล้ครบกำหนดถึง 2.2 เท่า บ่งชี้ถึงสถานะสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- กลุ่มบริษัทเคทีซีแกร่ง กำไรโตต่อเนื่อง ด้วยกลยุทธ์พอร์ตคุณภาพ
- 'เคทีซี' จับมือ 'แควนตัส' ชูแคมเปญ One Journey, Two Worlds เส้นทางออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์
- 'เคทีซี' รุกปักธง 'ไปรษณีย์ไทย' ขยายช่องทางสินเชื่อ 'พี่เบิ้ม รถแลกเงิน' จบในที่เดียว
ติดตามเราได้ที่
เว็บไซต์ :https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook :https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X: https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg