ธุรกิจ AI กำไรโต สวนทางธุรกิจพึ่งพาผู้บริโภคทรุดหนักจาก ‘ภาษีทรัมป์’
รอยเตอร์รายงานว่า ธุรกิจที่เน้นด้าน AI กำลังไปได้ดีและทำกำไรได้มาก สวนทางธุรกิจที่ให้บริการแก่ผู้บริโภคทั่วไปที่เผชิญกับ นโยบายการค้าที่ไม่แน่นอนของสหรัฐที่ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักและทำกำไรได้น้อยลง
บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ เช่น Alphabet บริษัทแม่ของ Google, SK Hynix, และ Infosys ต่างทำกำไรได้สูงกว่าคาดการณ์
ธุรกิจ AI ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด อย่างกรณีของ IBM ธุรกิจ AI เติบโตถึง 25% ทำรายได้ 7.5 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาสล่าสุด นอกจากนี้ SK Hynix ยังทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์จากความต้องการชิป AI และการกักตุนสินค้าก่อนภาษีศุลกากร
AI ดันเศรษฐกิจ-ตลาดหุ้นโต
ตลาดหุ้นสหรัฐยังคงได้รับแรงหนุนอย่างมากจากกลุ่มบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่เรียกว่า "Magnificent Seven" ได้รับประโยชน์อย่างมหาศาลจากการลงทุนด้านปัญญาประดิษฐ์ ปัจจุบันกลุ่มบริษัทเหล่านี้มีสัดส่วนมากกว่า 30% ของมูลค่าตลาดรวมของดัชนี S&P 500 แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลอย่างสูงต่อภาพรวมของตลาด
Adam Sarhan ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ 50 Park Investments กล่าวว่า "AI เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีการเติบโตที่แข็งแกร่งที่สุดสำหรับเศรษฐกิจ และตลาดก็สะท้อนถึงเศรษฐกิจ" แสดงให้เห็นว่าการเติบโตของเทคโนโลยี AI เป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนตลาดหุ้นในปัจจุบัน
ธุรกิจ AI โตสวนกระแส ‘ภาษีทรัมป์’ กดดันตลาด
เทคโนโลยี AI ยังคงก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว และธุรกิจที่มุ่งเน้น AI ยังคงทำกำไรได้อย่างต่อเนื่องในไตรมาสล่าสุด ตัวอย่างเช่น SK Hynix ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ชิปให้กับ Nvidia รายงานกำไรในไตรมาสนี้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการชิปปัญญาประดิษฐ์ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงลูกค้าที่กักตุนสินค้าไว้ล่วงหน้าก่อนที่สหรัฐจะเรียกเก็บภาษีศุลกากร
ในทางตรงกันข้ามกับธุรกิจ AI ภาคส่วนที่พึ่งพาผู้บริโภคโดยตรงกลับมีแนวโน้มที่ไม่ดีนัก เนสท์เล่ ผู้ผลิตอาหารบรรจุหีบห่อรายใหญ่ที่สุดของโลก รายงานว่าความต้องการสินค้าลดลง
สายการบินรายใหญ่อย่าง เซาท์เวสต์ และ อเมริกันแอร์ไลน์ของสหรัฐ ต่างออกมาเตือนว่าคนอเมริกันเดินทางน้อยลง ซึ่งเป็นสัญญาณล่าสุดที่บ่งชี้ว่าผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย ส่วนผู้ผลิตของเล่นอย่าง แมทเทล และ ฮาสโบร ก็กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าความไม่แน่นอนเรื่องภาษีศุลกากรเป็นอุปสรรคสำคัญในการดำเนินธุรกิจ
ภาษีทรัมป์กดดันอุตสาหกรรมยานยนต์หนักสุด
ผู้ผลิตรถยนต์ เป็นหนึ่งในบริษัทที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด และกำลังพยายามไม่ขึ้นราคาสินค้าเพื่อคงฐานลูกค้าไว้ แม้จะต้องแบกรับภาระภาษีนำเข้าที่อาจทำให้สูญเสียรายได้ไปหลายล้านหรือหลายพันล้านดอลลาร์
ฮุนได มอเตอร์ ของเกาหลีใต้ รายงานเมื่อวันพฤหัสบดีว่ากำไรจากการดำเนินงานในไตรมาสที่สองลดลง 16% โดยระบุว่าภาษีศุลกากรของสหรัฐทำให้บริษัทสูญเสียรายได้ถึงประมาณ 606.5 ล้านดอลลาร์ ในไตรมาสที่ 2 และคาดว่าจะได้รับผลกระทบหนักกว่าเดิมในไตรมาสปัจจุบัน ขณะที่ เจเนอรัล มอเตอร์ส (GM) ก็ยังคงคาดการณ์ว่ากำไรสุทธิจะลดลง 4,000 ถึง 5,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้
ด้านเทสลา ก็เผชิญความท้าทายเช่นกัน อีลอน มัสก์ ซีอีโอของบริษัท กล่าวเมื่อวันพุธว่า การที่รัฐบาลสหรัฐลดการสนับสนุนผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอาจนำไปสู่ "ไตรมาสที่ยากลำบาก" ซึ่งสอดคล้องกับรายงานยอดขายไตรมาสที่ลดลงอย่างรุนแรงที่สุดในรอบกว่าทศวรรษของบริษัท
อ้างอิง Reuters