จีนพลิกเกมยานยนต์โลก เร็วกว่า ถูกกว่า บุกหนักทั่วโลก
หลังจากก๊อปปี้รถแบรนด์นอกมาก่อน วันนี้บริษัทจีนได้สร้างตำราการผลิตใหม่ที่ช่วยให้เปิดตัวรถเร็วขึ้น โค่นผู้เล่นต่างชาติที่เคยยึดครองตลาดแดนมังกร รวมทั้งเปิดเกมบุกตลาดทั่วโลก โดยมีเชอรี่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุด และบีวายดีเป็นภัยคุกคามสำคัญในระยะยาว
รอยเตอร์ได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับกลยุทธ์ของค่ายรถจีนที่สามารถเอาชนะคู่แข่งระดับโลกโดยอิงกับการสัมภาษณ์ผู้บริหารทั้งในอดีตและปัจจุบัน พนักงาน และนักลงทุนรวมกว่า 40 คนของบริษัทรถจีน 5 แห่งและบริษัทรถระดับโลก 7 แห่ง รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมอีกกว่า 10 คน และการไปเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่และโรงงานของบริษัทอีวีจีนหลายแห่ง
อเมริกาและยุโรปเรียกเก็บภาษีศุลกากรเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมรถท้องถิ่น โดยกล่าวหาว่า จีนให้การอุดหนุนผู้ผลิตอีวีอย่างไม่เป็นธรรม ทว่า รอยเตอร์พบว่า ความเร็วในการพัฒนารถเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้บริษัทรถจีนได้เปรียบคู่แข่งต่างชาติในด้านต้นทุนและเทคโนโลยี ขณะที่ผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การลดระยะเวลาในการพัฒนาช่วยประหยัดเงินทุน ผู้เล่นจีนจึงสามารถตั้งราคาได้ถูกกว่าและนำเสนอรถรุ่นใหม่ๆ ควบคู่กับการปฏิวัติเทคโนโลยี
หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตจีนผงาดในแวดวงยานยนต์โลกคือการลดระยะเวลาในการพัฒนารถรุ่นใหม่หรือรุ่นปรับโฉมลงกว่าครึ่งเหลือเพียง 18 เดือน ด้วยการข้ามกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดในการทดสอบชิ้นส่วนและรถใหม่ที่โตโยต้าและผู้ผลิตรถชั้นนำอื่นๆ ใช้อย่างกว้างขวาง ส่งผลให้ระยะเวลาเฉลี่ยในการวางตลาดอีวีหรือปลั๊ก-อินไฮบริดของจีนในตลาดท้องถิ่นอยู่ที่เพียง 1.6 ปี เทียบกับ 5.4 ปีสำหรับแบรนด์นอก ทั้งนี้ จากข้อมูลของเอลิกซ์พาร์ทเนอร์
จากความได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงาน บีวายดีว่าจ้างพนักงานราว 900,000 คน หรือเกือบเท่ากับจำนวนพนักงานของโตโยต้ากับโฟล์คสวาเกนรวมกัน เพื่อเร่งการออกแบบและการผลิต
นอกจากนั้นบีวายดียังต่างจากบริษัทรถส่วนใหญ่ตรงที่ผลิตชิ้นส่วนส่วนใหญ่เอง ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยเร่งรัดการพัฒนาและลดต้นทุน
บีวายดีและเชอรี่มียอดขายทั่วโลกเพิ่มขึ้นราว 40% ในปีที่ผ่านมา ขณะที่เทสลา ผู้บุกเบิกวงการอีวีของอเมริกามียอดขายลดลงเป็นครั้งแรก ส่วนใหญ่เนื่องจากไม่มีรถรุ่นใหม่ๆ ยอดขายปีนี้ของเทสลายังกู่ไม่กลับจากการที่อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ กระโจนลงเล่นการเมืองและส่งเสริมกิจกรรมการเมืองปีกขวาในหลายประเทศ ทำให้ลูกค้าและว่าที่ลูกค้ามากมายหันหลังให้เทสลา
ขณะเดียวกัน การเติบโตของบริษัทรถจีนหมายถึงการสูญเสียของคู่แข่งทั่วโลก ข้อมูลจากออโตโมบิลิตี้ระบุว่า นับจากปี 2020-2024 ยอดขายรถยนต์นั่งของบริษัทรถต่างชาติ 5 อันดับแรกในจีน ได้แก่ โฟล์คสวาเกน, โตโยต้า, ฮอนด้า, เจเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) และนิสสัน ลดลงจากปีละ 9.4 ล้านคัน อยู่ที่ 6.4 ล้านคัน ขณะที่ยอดขายของบริษัทรถจีน 5 อันดับแรกเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าจาก 4.6 ล้านคันในปี 2020 เป็น 9.5 ล้านคันเมื่อปีที่แล้ว
ซีอีโอและผู้บริหารของค่ายรถระดับโลกที่รวมถึงฟอร์ด โฟล์คสวาเกน สเตลแลนทิส จีเอ็ม เรโนลต์ ยอมรับอย่างเปิดเผยว่า บริษัทรถจีนเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความเร็วในการพัฒนารถรุ่นใหม่ๆ ทั้งที่เมื่อทศวรรษที่แล้วบริษัทเหล่านี้มักลอกเลียนแบบแบรนด์นอก ตัวอย่างเช่น เชอรี่ที่เคยผลิตรถหน้าตาคล้ายเชฟวี่ และบีวายดีผลิตรถที่เหมือนโตโยต้า
อัลลัน ฮั่น ศาสตราจารย์ด้านยานยนต์ของมหาวิทยาลัยถงจี้ ที่เคยทำงานให้ฟอร์ดและบริษัทรถจีนอีก 2 แห่ง ชี้ว่า หลังจากก๊อปปี้แบรนด์นอกในช่วงแรก อุตสาหกรรมจีนวิเคราะห์กระบวนการทางวิศวกรรมของคู่แข่งอย่างละเอียด และได้ข้อสรุปว่า กระบวนการตรวจสอบมาตรฐานของอุตสาหกรรมรถทั่วโลกเป็นการแสวงหาคุณภาพที่เกินความจำเป็นและสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ และได้คิดค้นวิธีการของตัวเองที่แตกต่างและรวดเร็วกว่าในการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ ด้วยการลดรถต้นแบบและใช้ปรัชญา “ล้มได้แต่ต้องลุกให้ไว”
บริษัทจีนพึ่งพิงการสร้างแบบจำลองและปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ในการทดสอบด้านความปลอดภัยและความคงทนมากกว่าการทดสอบในโลกจริง และมองว่า การเปิดตัวรถรุ่นใหม่เป็นจุดเริ่มต้นมากกว่าจุดสิ้นสุดของการพัฒนา อีกทั้งยังทำการปรับปรุงบ่อยครั้งตามคำติชมของผู้บริโภค
นอกจากนั้นบริษัทจีนยังประหยัดเวลาและเงินด้วยการใช้แพลตฟอร์มและชิ้นส่วนที่เป็นมาตรฐานเดียวกันในรถหลากหลายรุ่นมากกว่าผู้ผลิตระดับโลกหลายแห่ง
หมิง จี ฟาง ผู้เชี่ยวชาญด้านความเป็นไปได้ทางเทคนิคและพาณิชย์ของซีเคอร์ แบรนด์อีวีพรีเมียมของจีลี่ บริษัทรถยักษ์ใหญ่ของจีน บอกว่า บริษัทใช้เอไอพัฒนาห้องสมุดดิจิทัลที่รวบรวมการออกแบบตลอดระยะเวลา 20 ปีของจีลี่ และช่วยให้วิศวกรรู้ว่า ชิ้นส่วนไหนที่จะใช้ได้ดีที่สุดและมีต้นทุนถูกที่สุด
การเร่งพัฒนาและผลิตรถส่วนหนึ่งเกิดจากการแข่งขันรุนแรงที่ทำให้มีผู้แพ้มากกว่าผู้ชนะ โดยข้อมูลของบริษัทวิจัย จาโต ไดนามิกส์ระบุว่า บริษัทรถ 93 แห่งจาก 169 แห่งที่ดำเนินการในจีนมีส่วนแบ่งตลาดไม่ถึง 0.1% ขณะที่สถาบันวิจัยแกสกูพบว่า สายการประกอบในจีนผลิตรถออกมาถึงปีละ 54 ล้านคัน หรือเกือบสองเท่าของปีที่แล้ว และด้วยซัปพลายที่ล้นเกินนี้ ผู้ผลิตจึงต้องหั่นราคาลง
สงครามราคาอีวีในจีนปะทุรอบใหม่ในเดือนพฤษภาคมเมื่อบีวายดีลดราคารถ 20 รุ่นที่รวมถึงซีกัลที่ขายในราคา 7,789 ดอลลาร์ (252,000 บาท) เว่ย เจียนจุน ประธานกรรมการเกรท วอลล์ มอเตอร์ วิจารณ์ว่า อุตสาหกรรมอีวีจีน “ไม่แข็งแรง” โดยพาดพิงถึงการนำรถใหม่ไปขายตัดราคาเป็นรถมือสองเพื่อระบายรถที่ล้นสต็อก
เพื่อชดเชยการขาดทุน บริษัทรถจีนจึงเร่งส่งเสริมการส่งออกทั่วโลก ฟิล ดันน์ กรรมการผู้จัดการสแต็กซ์ บริษัทที่ปรึกษาที่ร่วมงานกับบริษัทรถระดับโลกและบริษัทรถจีนหลายแห่ง ชี้ว่า ค่ายรถดั้งเดิมไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ และผู้ชนะมักเป็นจีนเสมอ
\
แม้ผู้ซื้อส่วนใหญ่ในตะวันตกไม่เคยได้ยินชื่อเชอรี่มาก่อน แต่ค่ายรถโตเร็วแห่งนี้กำลังเป็นภัยคุกคามสำคัญที่สุดสำหรับบริษัทรถทั่วโลก
เชอรี่เป็นผู้ส่งออกรถเบอร์หนึ่งของจีน มียอดขาย 1.14 ล้านคันใน 100 ประเทศไม่รวมจีน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของยอดขายทั้งหมดของบริษัทในปีที่ผ่านมา
นอกจากมีประสบการณ์ในตลาดต่างแดนมากกว่าคู่แข่งร่วมชาติทุกราย ไม่เว้นแม้แต่บีวายดีแล้ว ข้อได้เปรียบของเชอรี่ยังรวมถึงการผลิตรถทุกรูปแบบ ตัวอย่างเช่น เอสยูวี โอโมดา 5 ที่มีทั้งเวอร์ชันเครื่องยนต์เบนซิน และรถยนต์ไฟฟ้า 100% แถมปลายปีนี้ยังเตรียมเปิดตัวโอโมดา 7 และ 9 ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและเป็นเวอร์ชันปลั๊ก-อินไฮบริด
เชอรี่เผยว่า บริษัทสร้างการออกแบบดิจิทัล 5-10 แบบสำหรับรถแต่ละรุ่น และหากมีรุ่นใดไม่ประสบความสำเร็จ
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO