คอนติเนนทอล เพิ่มศักยภาพโรงงาน จ.ระยอง ดันไทยฐานใหญ่ผลิตยางรถยนต์ในเอเชีย
ถึงวันนี้คอนติเนนทอล ไทร์ส ลงหลักปักฐานในไทยเต็มตัวครับ ด้วยโรงงานที่ยังสามารถเพิ่มศักยภาพได้อีกมากในทุกมิติ ทั้งเรื่องการจัดการทรัพยากร กระบวนการผลิต และผลผลิตคุณภาพ ที่ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีมาจากเยอรมนี
คอนติเนนทอล ไทร์ส มีฐานการผลิตใหญ่ในเอเชีย 4 แห่ง คือที่จีน อินเดีย มาเลเซีย และไทย จาก 20 แห่งทั่วโลก กำลังผลิตรวมกว่า 180 ล้านเส้น/ปี
แบรนด์ยางรถยนต์ระดับท็อป 3 ของโลก ยังเดินหน้าลงทุนในไทยต่อเนื่อง หลังจากประเดิมลงเงินกว่า 10,000 ล้านบาท สร้างโรงงานที่ จ.ระยอง ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2560 และเริ่มผลิตในอีก 2 ปีถัดมา
ผ่านมา 5 ปี โรงงานคอนติเนนทอล ไทร์ส ในไทย เพิ่มกำลังการผลิตเป็นขั้นบันได ทั้งยางสำหรับรถยนต์นั่ง รถบรรทุกขนาดเล็ก และรถจักรยานยนต์ โดยปีที่แล้วมีกำลังผลิต 3.28 ล้านเส้น และคาดว่าปีนี้จะเพิ่มเป็น 3.58 ล้านเส้น ในจำนวนนี้เป็นการผลิตเพื่อส่งออก 90%
ตลาดส่งออกของ คอนติเนนทอล ไทร์ส ก็น่าสนใจครับ หลักๆได้ลูกค้าในเอเชียแปซิฟิก เช่น มาเลเซีย เวียดนาม เกาหลี ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน ออสเตรเลีย ข้ามไปถึงยุโรป และสหรัฐอเมริกา
เรื่องสงครามการค้า ภาษีทรัมป์ จริงๆ เป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ครับ และเหมือนไทยจะโดนขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาเต็มๆ อีกด้วย แต่ คอนติเนนทอล บอกว่าโรงงานผลิตในเมืองลุงแซม เขาก็มีตั้ง 4 แห่ง สามารถบริหารจัดการเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ได้
ส่วนเมืองไทย ก่อนหน้านี้เคยส่งออกยางไปสหรัฐอเมริกาช่วงหนึ่ง และหยุดไป แต่ในปี 2569 เตรียมจะส่งยางประเภทรถบรรทุกขนาดเล็ก ไปอีกครั้ง แต่เป็นจำนวนไม่มาก และไม่ใช่ตลาดหลักของเขา
จากความวุ่นวายของการจัดระเบียบการค้าโลก และเศรษฐกิจที่ซบเซา แต่ล่าสุด คอนติเนนทอล ไทร์ส ประเทศไทย เพิ่งประกาศเพิ่มการลงทุนในเฟสที่ 2 ขยายพื้นที่การผลิตของโรงงานในปัจจุบันอีก 35,000 ตารางเมตร
โดยตั้งเป้ากำลังการผลิตในปี 2569 ไว้ 4.2 ล้านเส้น และหากทุกอย่างดำเนินไปตามแผน ปี 2571 เป็นต้นไปจะผลิตเกิน 5 ล้านเส้นต่อปี รองรับตลาด OEM โรงงานผู้ผลิตรถยนต์ และ REM ตลาดทดแทน
ผมมีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมกระบวนการผลิตที่ทันสมัยของโรงงานคอนติเนนทอล จ.ระยอง ด้วยเครื่องจักร และแรงงานกว่า 900 คน (200 คน พนักงานออฟฟิส, 700 คน พนักงานในสายการผลิต) โรงงานยาวใหญ่หากนับระยะทางจากขวาสุดไปซ้ายสุด ประมาณ 1 กิโลเมตร
จากอาคารที่รวบรวมวัตถุดิบ ซึ่งยางหนึ่งเส้นจะประกอบด้วย คาร์บอนแบลค (ผงถ่าน) 30% ยางสังเคราะห์30% และยางธรรมชาติ (ยางพารา)15% ที่เหลือเป็นเส้นใยเหล็กและอื่นๆ
เมื่อผสมวัตถุดิบตามสูตรเนื้อยางแล้ว ก็เข้าสู่กระบวนการผลิต ที่จะใช้ความร้อนในการประกอบเป็นหน้ายาง แก้มยาง และโครงสร้างเก็บลม ซึ่งขั้นตอนนี้ใช้เวลานานครับ กว่าจะได้เป็นยางรถยนต์หนึ่งเส้น ก่อนจะส่งไปเก็บที่คลังสินค้า ปัจจุบันบริหารให้มีสต๊อกหมุนเวียนไว้ประมาณ 3 แสนเส้น
นอกจากแรงงานคนที่ผลัดกันทำงาน 3 กะ และกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ระบบโลจิสติกส์แบบอัตโนมัติระดับสูง โรงงานแห่งนี้ยังมีส่วนในการทำธุรกิจแบบยั่งยืน มุ่งสู่เป้าหมายสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน ด้วยการขยายกําลังการผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์เป็น 4.2 เมกะวัตต์ ด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในพื้นที่โรงงาน ที่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้เป็นสัดส่วน 13% ของไฟฟ้าที่จําเป็นในกระบวนการผลิตทั้งหมด