กลุ่มแบงก์ ‘หนี้เสีย‘ น่าห่วง 5 ปี ’เอ็นพีแอล’ พุ่งแซงโควิด
หลังประกาศผลการดำเนินงานครึ่งปีของกลุ่ม “ธนาคารพาณิชย์”ไปไม่กี่วันที่ผ่านมา แม้ผลประกาศการโดยรวม ด้านกำไรสุทธิ จะลดลงเพียงเล็กน้อยเฉียด 3% มาอยู่ที่ 65,354 ล้านบาท สำหรับกลุ่มธนาคาร หากเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2568
แต่หากเทียบกับครึ่งปี 2567 ผลการดำเนินงานกลุ่มแบงก์ยังเติบโตโดดเด่น โดยกำไรสุทธิรวมยังอยู่ที่ 132,199 ล้านบาท เติบโตข้น 27.44% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
แต่ภายใต้ผลประกาศการโดยรวมหลักแสนล้านบาท ยังมีสิ่งที่ “น่าห่วง” ทั้งภาพรวมสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ และ “หนี้เสีย”หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)
ที่หลายแบงก์ยังปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งหากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สิ้นปี 2567 หรือหากย้อนหลังไปนับตั้งแต่โควิด-19 เมื่อปี 2563 ที่หนี้เสียหลายแบงก์ยังปรับตัวเพิ่มขึ้น สวนทางกับหลายธนาคาร ที่สินเชื่อลดลง ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
แม้ส่วนหนึ่งจะมาจากการฐานสินเชื่อที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นส่งผลให้สัดส่วนเพิ่มขึ้นตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายแบงก์สินเชื่อไม่ได้เติบโต แต่หนี้เสียกลับขยายตัวเพิ่มขึ้นสูง เหล่านี้ถือว่าเป็นภาวะที่น่าห่วงอย่างยิ่ง
หากดูหนี้เสียของกลุ่มธนาคารในไตรมาส 2 ปี 2568 ที่ผ่านมา โดยรวมอยู่ที่ 547,976 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.97% หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 4.22% หากเทียบกับสิ้นปี 2567 ที่ผ่านมา
โดยธนาคารที่หนี้เสียปรับตัวเพิ่มขึ้นสูง ในไตรมาส 2 บาทอันดับแรกคือ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ที่หนี้เสียปรับตัวเพิ่มขึ้นสูง โดยหนี้เสียโดยรวมอยู่ที่ 105,521 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.90% หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 22.94% หากเทียบกับสิ้นปี 2567
ส่งผลให้สัดส่วนหนี้เสียของ BBL เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.20% หากเทียบกับ 3.0% และ 2.70% จากไตรมาสก่อนหน้าและ สิ้นปี 2567 ในขณะที่สินเชื่อของธนาคารปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 2.71 ล้านล้านบาท ลดลง 0.33% จากไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังเพิ่มขึ้น 0.73% หากเทียบกับสิ้นปี 2567
ถัดมา แลนด์แอนด์เฮ้าส์(LHFG) ที่ไตรมาส 2 ที่ผ่านมาหนี้เสียโดยรวมอยู่ที่ 7,771 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.10% จากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 14.89 %จากสิ้นปีก่อน
ส่งผลให้สัดส่วนหนี้เสียโดรมมาอยู่ที่ 2.59% จาก 2.51% และ 2.34% เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้า และสิ้นปีก่อน แต่หากดูด้านสินเชื่อรวมถือว่ายังมีการเติบโต โดยรวมอยู่ที่ 2.99 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.74% และ 3.53% จากไตรมาสก่อนหน้าและสิ้นปีก่อน
อันดับ 3 ที่หนี้เสียปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในบรรดา 11 แบงก์คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ที่หนี้เสียโดยรวมอยู่ที่ 75,617 ล้านบาท หนี้เสียเพิ่มขึ้น 2.39% จากไตรมาสก่อนหน้า และ 2.65% จากสิ้นปีก่อน
ส่งผลให้สัดส่วนหนี้เสียเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.39% และ 3.05% จากไตรมาสก่อนหน้า และสิ้นปี 2567 โดยสวนทางกับการปล่อยสินเชื่อที่ไตรมาสนี้ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 1.86 ล้านล้านบาท ลดลง 1.60% และ 1.57% หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และเทียบสิ้นปีก่อน
ส่วนอันดับ 4 ที่หนี้เสียปรับขึ้นคือ กลุ่มการเงินทิสโก้(TISCO) ที่หนี้เสียเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5,668 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.38% และ 3.75% หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและเทียบกับสิ้นปี 2567
ส่งผลให้สัดส่วนหนี้เสียมาอยู่ที่ 2.41% ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 2.42% แต่เพิ่มขึ้นหากเทียบกับสิ้นปีที่หนี้เสียอยู่ที่ 2.35%
- หนี้เสีย5 ปีย้อนหลังพุ่งต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม หากย้อนสถิติ “หนี้เสีย”ไปในช่วง 5 ปี นับตั้งแต่ โควิด-19 (ครึ่งปีแรก2567-2563) พบว่า หลายธนาคารหนี้เสียกลับมาเติบโตขึ้น
โดยหนี้เสียโดยรวมในครึ่งปีแรกอยู่ที่ 547,976 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.22% หากเทียบกับสิ้นปี 2567 และเพิ่มขึ้น 5.90% เทียบกับจากปี2566 และเพิ่มขึ้น 6.10% จากปี 2565 และเพิ่มขึ้น 1.84% จากปี 2564 และ 3.68% หากเทียบกับปี 2563 ในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
โดยธนาคารที่หนี้เสียปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง นับตั้งแต่โควิด อาทิ ธนาคารกรุงเทพ ที่หนี้เสียเพิ่มขึ้น 22.94% จากสิ้นปี 2567 และเพิ่มขึ้น 22.76% เทียบกับสิ้นปี 2566 และเพิ่มขึ้น 8.57% จากปี 2565 เพิ่มขึ้น 4.37% เทียบปี2564 และเพิ่มขึ้น 1.07% เทียบกับปี 2563
ถัดมากรุงศรี นี้เสียโดยรวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมา โดยหนี้เสียเพิ่มขึ้น 2.65% จากปี 2567 เพิ่มขึ้น 22.99%จากปี 2566 เพิ่มขึ้น 40.36% ,59.37%,65.57% หากเทียบกับปี 2565-2563
เช่นเดียวกับ “ทิสโก้” ที่หนี้เสียเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 5 ปี นับโควิด โดยหนี้เสียเพิ่มขึ้น 3.75% ในครึ่งปีแรก หากเทียบกับสิ้นปี 2567 และเพิ่มขึ้น 8.54%,23.86%,14.34,0.89% หากเทียบกับปี2566-2563
ส่วนหนี้เสียของ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร แม้หนี้เสียในครึ่งปีแรก 2568และเทียบกับสิ้นปี 2567 ลดลง ที่ 2.38% 0.14% แต่หากเทียบย้อนหลัง 5 ปี หนี้เสียของธนารคารปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยครึ่งปี 2568 หนี้เสียเพิ่มขึ้น 22.57% หากเทียบกับปี 2566 และหนี้เสียเพิ่มขึ้น 25.23%,62.99%,99.73% นับตั้งแต่ปี 2565-2563
- หนี้เสียพุ่งจากผลกระทบเศรษฐกิจโตช้า-หนี้ครัวเรือนสูง
ด้านธนาคารทิสโก้ ระบุว่า ด้านสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (NPLs) อยู่ที่ 5,668 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.4 % จากไตรมาสก่อนหน้า และคิดเป็นอัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) ที่ 2.41% ของสินเชื่อรวม
โดยคุณภาพสินเชื่อยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตช้าและปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง
อย่างไรก็ดี บริษัทยังคงดำเนิน
นโยบายการขยายสินเชื่ออย่างระมัดระวังและรอบคอบ รวมถึงการช่วยเหลือลูกหนี้ตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย ส่งผลให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (NPLs) ยังคงอยู่ในกรอบที่คาดการณ์ไว้
นอกจากนี้ บริษัทยังคงดำเนินนโยบายการบริหารความเสี่ยงและการตั้งสำรองที่รัดกุม โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2568 บริษัทมีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นรวมจำนวน 8,773 ล้านบาท และมีระดับค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
ด้านธนาคากรุงเทพ ระบุว่า สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 3.2 % ซึ่งอยู่
ในระดับที่บริหารจัดการได้โดยมีอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับ แข็งแกร่งที่ร้อยละ 283.6 เป็นผลจากการที่ธนาคารยึดหลักการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังอย่างรอบคอบต่อเนื่อง
- กรุงศรีฯรับหนี้เสียขยับจากเอสเอ็มอี
สำหรับธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2568 สินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่จํานวน 75,617 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจํานวน 1,766 ล้านบาทหรือร้อยละ 2.4 จากสิ้นเดือนมีนาคม 2568 และจํานวน 1,951 หรือร้อยละ 2.7 จากสิ้นเดือนธันวาคม 2567
โดยการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อด้อยคุณภาพส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ขณะที่คุณภาพสินเชื่อของธุรกิจในอาเซียนปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง