โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

วิชารัฐมนตรี (5)

ไทยโพสต์

อัพเดต 1 วันที่แล้ว • เผยแพร่ 1 วันที่แล้ว

เนื้อหาหนังสือ "วิชารัฐมนตรี" ศาสตร์และศิลป์ของ "การนำ" ผ่านมุมมองเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เขียนโดย ดร.ยุวดี คาดการณ์ไกล และณัฐธิดา เย็นบำรุง จัดทำโดยมูลนิธิสถาบันสร้างสรรค์ปัญญาสาธารณะ มีทั้งหมด 6 บท รวม 156 หน้า

บทที่ 4 (ต่อ)

การคิดเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้ว เอนก เหล่าธรรมทัศน์ได้เสนอความคิดชี้นำ ดังนี้

  • ความคิดชี้นำด้านยุทธศาสตร์การวิจัยอารยธรรมสุวรรณภูมิ

เอนก เหล่าธรรมทัศน์เสนอให้ชูเรื่องอารยธรรมสุวรรณภูมิ ด้วยความคิดที่ว่า จะทำให้ย้อนประวัติศาสตร์ชาติไทยไปไกลกว่าสองพันปี ไทยนั้นเป็นชาติวิทยาศาสตร์ ที่มีศิลปศาสตร์ สุนทรียะ อารยะ มานานแล้ว จากร่องรอยอารยธรรม หลักฐานทางโบราณคดี และบันทึกของนานาประเทศ แสดงให้เห็นความเจริญของไทยตั้งแต่สมัยเป็นดินแดนสุวรรณภูมิ สะท้อนความเป็น Globalization และ Civilization ของไทย จึงน่าเสียดายถ้าเราไม่ได้สานต่อเรื่องนี้ เรายังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากการที่เราเป็นแผ่นดินทองที่ตกทอดมาตั้งแต่อดีตเลย เขาเชื่อว่าสุวรรณภูมิจะเป็นจุดคานงัดสำคัญของไทยและจะเป็นที่ยอมรับของชาวโลกได้ไม่ยาก เป็นการเพิ่มคุณค่าให้แก่แผ่นดินสยามประเทศ

ด้วยเหตุนี้ เขาสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มนักวิจัยด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดียุคสมัยสุวรรณภูมิ โดยมีสถาบันสุวรรณภูมิ ภายใต้ธัชชา (TASSHA) เป็นกลไกส่งเสริมและขับเคลื่อนงานวิจัยประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิในทุกมิติ เพื่อส่งออกความคิดให้เป็นที่ประจักษ์ว่า ไทยนั้นเป็นดินแดนที่มีมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่ลึกซึ้งยาวนาน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าให้กับประเทศในสายตาชาวโลก อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือสร้างความภาคภูมิใจในชาติ

เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เชื่อว่าการลงทุนทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์จะเป็นก้าวสำคัญ คล้ายกับที่ประเทศไทยเคยลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจ การศึกษาวิจัยด้านสุวรรณภูมิจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถแสดงศักยภาพด้านอารยธรรมของตนเองให้เป็นที่รู้จัก เทียบเท่าอารยธรรมจีน กรีก และโรมัน แนวทางนี้ยังช่วยเสริมสร้างมิติทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมให้แก่ประเทศไทย เพราะการขับเคลื่อนแนวคิด “สุวรรณภูมิ” จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางประวัติศาสตร์ให้กับแผ่นดินไทย สร้างอัตลักษณ์ของชาติที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และอาจนำไปสู่การส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

นอกจากนี้ เขายังมั่นใจว่าประเทศไทยจะกลายเป็นแหล่งศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดียุคสุวรรณภูมิที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย เป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัยและความสะดวกในการทำงานวิจัยสำหรับนักโบราณคดีระดับโลก สิ่งเหล่านี้จะช่วยผลักดันคณะโบราณคดีของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลอีกด้วย ด้วยการนำของเขา ยังดำริให้ประสานดำเนินการความร่วมมือขอรับการสนับสนุนจากภาคเอกชนไทย เพื่อนำวัตถุโบราณยุคสุวรรณภูมิที่ขุดค้นพบในไทยไปจัดแสดงนิทรรศการ ณ พิพิธภัณฑ์ในประเทศอังกฤษ (British Museum) เพื่อให้ชาวโลกได้เรียนรู้และร่วมชื่นชมต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับความคิดเชิงยุทธศาสตร์ที่ต้องการส่งออกความรู้ไปยังต่างประเทศ

  • ความคิดชี้นำด้านยุทธศาสตร์การส่งออกความรู้ของไทยเพื่อทดแทนการนำเข้าความรู้จากต่างประเทศ

การส่งออกเอกลักษณ์และความรู้ของไทยออกสู่ต่างประเทศ ให้คนต่างชาติอยากเข้ามาเรียน อยากเข้ามาร่วมงานกับคนไทย ด้วยความเป็นคนน่ารัก เป็นมิตร ยิ้มแย้มแจ่มใส มีความคิดสร้างสรรค์ และแต่ละท้องถิ่นมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น เอนก เหล่าธรรมทัศน์จึงมีแนวความคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่ไทยควรส่งออกความรู้ เนื่องจากที่ผ่านมาไทยพึ่งพาการนำเข้าความรู้และทฤษฎีจากตะวันตกมากเกินไป โดยเฉพาะในด้านสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ นักวิชาการไทยจำนวนมากมักชื่นชมความเก่งกาจของนักวิชาการตะวันตก (ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นก็มีความสามารถอย่างแท้จริง) และยังนำทฤษฎีตะวันตกมาอธิบายและวิพากษ์สังคมไทย ด้วยความหวังว่าแนวทางดังกล่าวจะช่วยให้ประเทศไทยพัฒนาไปในทิศทางเดียวกับตะวันตก แม้แนวทางดังกล่าวจะมีข้อดี แต่ประเทศไทยมีบริบทที่แตกต่าง มีภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งบางครั้งไม่สามารถอธิบายด้วยทฤษฎีตะวันตกได้อย่างสมบูรณ์ ประการสำคัญ ประเทศไทยยังขาดการพัฒนาทฤษฎีของตนเอง รวมถึงการส่งออกความรู้สู่สากล ทำให้บทบาทของไทยทั้งที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม มีภูมิปัญญาและความสำเร็จในหลายด้าน แต่ดูเหมือนไม่โดดเด่นและยังไม่ได้รับการยอมรับในระดับสากลเท่าที่ควร

กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกอย่างจีน อินเดีย และเกาหลี กำลังส่งออกความรู้อย่างจริงจัง พวกเขาส่งออกกระบวนทัศน์ แนวคิด และวิธีปฏิบัติที่แสดงถึงความมีอารยธรรมและภูมิปัญญาที่มีลักษณะเฉพาะ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เชื่อว่าประเทศหนึ่งๆ จะได้รับการเคารพและยอมรับอย่างแท้จริง ก็ต่อเมื่อสามารถส่งออกความคิดและองค์ความรู้ของตนเองให้เป็นประโยชน์ต่อชาติอื่นๆ ในท้ายที่สุด เมื่อสามารถส่งออกความรู้ได้ ความรู้และภูมิปัญญาของไทยจะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างรายได้และยกระดับสถานะของประเทศไทยในเวทีโลก

การส่งออกปรัชญาและแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ที่เป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ 9 พระองค์ทรงพระราชทานมานานกว่า 30 ปี เป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมไทย ในฐานะรัฐมนตรี เขาจึงสนับสนุนให้ศึกษาและสังเคราะห์กรณีศึกษาการประยุกต์เศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นบทเรียนของไทย เพื่อเผยแพร่ในเวทีสากลให้กว้างขวางขึ้น โดยมีสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้ธัชชา เป็นกลไกขับเคลื่อนและส่งเสริมการวิจัย รวมทั้งพัฒนาทุนทางปัญญา เพื่อให้แนวคิดนี้กลายเป็นอีกหนึ่งโมเดลของการพัฒนาเศรษฐกิจระดับสากล ให้คล้ายกับโมเดลของ “มูฮัมหมัด ยูนุส (Muhammud Yunus)” นักวิชาการชาวบังกลาเทศที่วางรากฐานให้คนเล็กคนน้อยมีโอกาสเข้าถึงเงินทุนเพื่อทำธุรกิจ ทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก จนกลายเป็นโมเดลหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งไทยเองก็ได้วิจัยและขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติมานานแล้ว จนยูเนสโกยกย่องในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นผู้นำด้านสันติภาพและทรงเป็นแบบอย่างในการผลักดันหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ขณะนี้สหประชาชาตินำไปบรรจุในแผนพัฒนาอย่างยั่งยืนให้ชาติสมาชิกนำไปปฏิบัติภายใน พ.ศ.2573 ดังนั้นสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัยของไทยจะต้องส่งออกแนวคิดและจัดทำกรณีศึกษานี้ให้หลากหลายมากขึ้น เพื่อให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่ต้องการหาทางออกจากวิกฤต

การจูงใจนักศึกษาต่างชาติ ให้มาเรียนในหลักสูตรวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ในประเทศไทยมากขึ้น ในบทบาทรัฐมนตรี อว. เขาได้นำคณะผู้บริหารของสถาบันอุดมศึกษาสานสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยการสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยของไทยมอบทุนการศึกษาจำนวนมากแก่นักศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา เพื่อจูงใจให้พวกเขามาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในประเทศไทย ในหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต หลักสูตรการพยาบาล รังสีเทคนิค ฉุกเฉินการแพทย์ การบริหารธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งการให้ทุนการศึกษาและชักชวนนักศึกษาต่างชาติให้มาเรียนในไทยจำนวนมากนั้น ถือเป็นการส่งออกและการถ่ายทอดความรู้ของไทยด้วยผู้สอนคนไทยได้ลึกซึ้งที่สุด ขณะเดียวกัน ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระยะยาวผ่านนักศึกษาต่างชาติเหล่านี้ เมื่อกลับไปบ้าน พวกเขาจะเป็นผู้เผยแพร่ภาพลักษณ์ที่ดีของไทยในประเทศของพวกเขา และยังช่วยสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าใช้จ่ายที่พวกเขาใช้จ่ายระหว่างศึกษาในประเทศไทยอีกด้วย

  • ความคิดชี้นำด้านยุทธศาสตร์การต่างประเทศของกระทรวง อว.

สำหรับคนทั่วไป การต่างประเทศมักถูกเข้าใจว่าเป็นหน้าที่หลักของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงอื่นๆ ไม่ได้มีบทบาทสำคัญมากนักในด้านนี้ อย่างไรก็ตาม เอนก เหล่าธรรมทัศน์มองว่า กระทรวงอื่นๆ โดยเฉพาะกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) สามารถทำงานด้านการต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากกระทรวง อว.ไม่ต้องกังวลมากนักกับประเด็นความขัดแย้งระหว่างประเทศ อีกทั้งยังมีประเด็นเฉพาะที่ชัดเจนที่นำไปสู่ความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ ในบทบาทของรัฐมนตรี เขาให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับงานการต่างประเทศ เพราะเชื่อว่าการพัฒนาการศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม จะนำมาซึ่งประโยชน์มหาศาลแก่ประเทศไทย การก้าวสู่สถานะประเทศพัฒนาแล้วไม่อาจสำเร็จได้ด้วยการพึ่งพาตนเองเพียงอย่างเดียว ไทยต้องอาศัยพลังจากประเทศอื่นหรือ “ตัวช่วย” บางอย่างที่มาหนุนเสริมเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาการวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี จะทำให้อุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์ของไทยยกระดับหรือก้าวได้ยาวมากขึ้น การต่างประเทศของกระทรวง อว. จึงถูกกำหนดให้เป็น “ก้าวกระโดดใหญ่ครั้งสำคัญ” (Giant Step) ที่ช่วยยกระดับความสามารถของประเทศเพื่อให้ไทยเดินหน้าได้เร็วขึ้น ลดเวลามุ่งสู่เป้าหมายการเป็นประเทศพัฒนาแล้ว

อีกแง่หนึ่ง สถานะของประเทศไทยในปัจจุบันด้านการต่างประเทศต้องไม่ใช่เป็นเพียง “ผู้รับ” อย่างเดียวอีกต่อไป ไทยเป็นประเทศที่เจริญก้าวหน้ามากขึ้นในทุกมิติ ในด้านการต่างประเทศของไทยควรยกระดับตนเองอยู่ในสถานะ “ผู้ให้” ได้เช่นกัน แนวคิดนี้ เขากล่าวว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงตรัสว่า To take we have to give first ดังนั้น เอนก เหล่าธรรมทัศน์จึงเห็นว่าการต่างประเทศของกระทรวง อว. จึงไม่ใช่การ “ขอ” จากประเทศขนาดใหญ่เท่านั้น ควรมียุทธศาสตร์การต่างประเทศของการเป็นผู้ให้ด้วย กระทรวง อว. ควรสร้างสัมพันธ์ด้านการต่างประเทศในลักษณะที่แตกต่างกัน 2 แบบ ดังนี้

1) ความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศขนาดใหญ่ กำหนดให้ไทยอยู่ในฐานะเป็นประเทศผู้รับ

กลุ่มประเทศขนาดใหญ่ เอนก เหล่าธรรมทัศน์มองว่า กระทรวง อว.ควรมุ่งเน้นการสร้างพันธมิตรและความร่วมมือ โดยมีเป้าหมายเพื่อเร่งการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศไทยในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไทยจำเป็นต้องมีหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partners) กับมหาอำนาจที่สนใจเข้ามาใกล้ชิดทำงานกับไทย ฉะนั้น บทบาทของกระทรวง อว. จึงควรวางตัวเข้าไปฉวยโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงแบบ Game Changer นั่นคือต้องรีบไปดักรอล่วงหน้าและทำงานร่วมกับประเทศที่เก่ง โดยมุ่งเป้าไปที่ประเทศในเอเชียตะวันออก เช่น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ที่มีความสัมพันธ์อันดีมากและใกล้ชิดกับไทยมายาวนาน ในฐานะบทบาทของรัฐมนตรีกระทรวง อว. จึงเน้นทำงานเชิงรุกเข้าไปสร้างความร่วมมือกับประเทศชั้นนำเหล่านี้ทั้งด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ตัวอย่างของการริเริ่มความร่วมมือที่สำคัญกับกลุ่มประเทศขนาดใหญ่ เช่น

ความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์กับจีน กระทรวง อว. ได้ริเริ่มความร่วมมือกับจีนที่ถือเป็นการก้าวกระโดดครั้งสำคัญ ทำให้คณะกรรมการวิทยาศาสตร์ฝ่ายจีนในโครงการฉางเอ๋อ 7 ได้คัดเลือกอุปกรณ์ของไทยสำหรับสำรวจสภาพอวกาศระหว่างโลกและดวงจันทร์ ตรวจวัดรังสีคอสมิก และติดตามผลกระทบที่มีต่อโลก (Sino-Thai Sensor Package for Space Weather Global Monitoring) ให้เป็น 1 ใน 7 ของอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่จะติดตั้งไปกับยานอวกาศฉางเอ๋อ 7 ซึ่งพัฒนาโดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) และมหาวิทยาลัยมหิดล อุปกรณ์ดังกล่าวจะถูกส่งไปสำรวจบนดวงจันทร์ ความสำเร็จนี้นับเป็นก้าวกระโดดครั้งสำคัญที่สร้างโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของไทย

ความร่วมมือด้านอุดมศึกษากับญี่ปุ่น กระทรวง อว. ได้เร่งปฏิรูปหลักสูตรใหม่ๆ โดยสนับสนุนด้วยแนวทางการดำเนินงานแบบ Sandbox แก่สถาบันไทยโคเซ็น อนุมัติให้จัดทำหลักสูตรระดับสูง (Advanced Course) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีโทโยฮาชิ เพื่อผลิตวิศวกรนักปฏิบัติตามแนวทางของญี่ปุ่น และให้มหาวิทยาลัยโทโยฮาชิรองรับบัณฑิตจากสถาบันไทยโคเซ็น สามารถไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี-โท-เอกที่ประเทศญี่ปุ่นได้ เพื่อสร้างวิศวกรนักปฏิบัติที่มีความรู้ทางเทคโนโลยีชั้นสูง

2) ความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน กำหนดให้ไทยอยู่ในฐานะประเทศผู้ให้

การสร้างมิตรภาพกับผู้นำของประเทศต่างๆ ให้รู้สึกว่าไทยเป็นมิตรแท้ และยอมรับในความจริงใจของไทย ความเอื้ออาทรตามนิสัยคนไทย หากพิจารณาจากความได้เปรียบเชิงภูมิรัฐศาสตร์แล้ว การเลือกประเทศที่ทำให้ไทยบรรลุเป้าหมายได้สำเร็จ จึงควรให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้านของไทยในกลุ่ม CLMV ไม่ว่าจะเป็น สปป.ลาว กัมพูชา และพม่า สำหรับ สปป.ลาว ถือว่าเป็นประเทศที่มีภาษา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ใกล้เคียงกับไทยมากที่สุด กระทรวง อว.จึงกำหนดความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในฐานะผู้ให้ เพื่อจะช่วยเสริมศักดิ์ศรีของประเทศไทย สร้างความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนบ้าน และส่งออกความรู้ของไทยให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศเพื่อนบ้าน

สปป.ลาว ในทางปฏิบัติ กระทรวง อว.ได้มอบทุนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ระดับปริญญาโทและปริญญาเอกให้แก่นักศึกษาของ สปป.ลาว จำนวน 700 ทุน นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้มอบปริญญารัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชารัฐศาสตร์ แด่ท่านพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีของ สปป.ลาว ด้วย

กัมพูชา สำหรับความร่วมมือกับประเทศกัมพูชา กระทรวง อว.ได้ทำข้อตกลงมอบทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษากัมพูชาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในมหาวิทยาลัยต่างๆ ของไทย และอนุญาตให้นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ของกัมพูชาเข้าร่วมการศึกษาและการวิจัยในหลายๆ ด้าน รวมทั้งด้านดาราศาสตร์ ไอที ชีววิทยา อาหาร และด้านอื่นๆ กับหน่วยงานวิจัยหลักของประเทศไทย เป็นต้น

  • ความคิดชี้นำด้านยุทธศาสตร์การเร่งส่งเสริมดาราศาสตร์ไทยเพื่อรองรับเศรษฐกิจอวกาศ (Space economy)

เอนก เหล่าธรรมทัศน์เสนอว่า เวลานี้รัฐบาลจะต้องเห็นความสำคัญของดาราศาสตร์และอวกาศให้มาก ผู้นำประเทศควรประกาศก 4 ปีนี้ข้างหน้า ไทยจะไปโคจรลงที่ดวงจันทร์ และกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ (National Agenda) เพราะประเทศไทยอยู่มาเป็นพันปีแล้ว เราไม่มีสิ่งใดท้าทายไปมากกว่าการส่งยานอวกาศของคนไทยไปโคจรและจอดบนดวงจันทร์ โดยทำงานที่ดวงจันทร์ 5 ปี แล้วส่งข้อมูลกลับมาให้โลก ซึ่งนี่เป็นความฝัน ถ้างานวิทยาศาสตร์ทำแบบนี้ก็จะเกิดขบวนการ Patriotism คือ การทำให้คนรักบ้านรักเมือง เชื่อในคนไทย ว่าคนไทยเก่ง เราเริ่มยอมรับว่าคนไทยเก่งมากขึ้นแล้ว วิทยาศาสตร์ก็เก่งมาก ที่ผ่านมาเราทำแบบเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง แต่เราเรียนรู้ตลอด เราควรขอบคุณคนรุ่นก่อนที่ทำวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะคนรุ่นแรกที่ตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ขึ้นมา เอนก เหล่าธรรมทัศน์ยังเน้นย้ำว่า ดาราศาสตร์คือ มารดาของศาสตร์ทั้งปวง จะต้องเดินตามดาราศาสตร์ ทำดาราศาสตร์ให้เป็นเรื่องของมวลชนไม่ใช่แค่เรื่องของคนชั้นสูงเท่านั้น

ดาราศาสตร์ไทยไม่ควรทำซ้ำกับอเมริกา เพราะจะใช้เวลาหลายปีและใช้เงินอีกมาก นี่คือหลักการรบ ไทยต้องเลือกวิธีที่จะรบชนะ เพราะไทยไม่มีเทคโนโลยีที่สูงมาก ต้องใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ดาราศาสตร์ของไทยกำลังทำอยู่นี้เติบโตแบบอัตราเร่งสูงขึ้น โต (Exponential Growth) เพราะผลิตได้เอง หากไทยจะต้องเลือกวิทยาศาสตร์สักแขนงหนึ่งมาเป็นแชมเปียน น่าจะเลือกเอาดาราศาสตร์เป็นตัวนำ เราสามารถเติบโตได้มากเพราะดาราศาสตร์เป็นแม่ของเทคโนโลยีทั้งหลายทั้งปวง และยังจะมีอุตสาหกรรมต่อเนื่อง (Linkage Industries) ซึ่งจะบีบให้เราต้องเดินไปในแนวทางนั้นไปหมดเพราะหาซื้ออุปกรณ์ไม่ได้ ดังนั้น เวลาจะทำดาราศาสตร์และอวกาศ จึงต้องพึ่งตนเอง ดูแล้วดาราศาสตร์นี้ มีความน่าสนใจในเชิงยุทธศาสตร์ วันนี้เราไม่ควรคิดทำวิจัยทุกสาขาวิชาแบบทำไปเรื่อยๆ อันไหนโตช้าโตเร็วไม่ไปสนใจ ทำแบบนี้ เราจะแข่งกับคนอื่นยาก

สำหรับเอนก เหล่าธรรมทัศน์ แล้ว เรื่องดาวเทียม เรื่องยานอวกาศ เรื่อง “Space Economy” ที่ผ่านมารู้สึกอยู่เหนือความคาดหมาย เขากล่าวว่า “ไม่เคยคิดเลยว่าเรื่องยานอวกาศ ดาวเทียมนั้นจะไปได้ดีขนาดนี้ เห็นศักยภาพที่จะทำเรื่อง “Space Economy” ก็มีสูง วันนี้กลายเป็น “Surprise” ฉะนั้น การคิดเรื่องยุทธศาสตร์จึงต้องคอยดูเรื่อง “Surprise” เข้าไว้ ปัจจัยที่เราไม่คาดถึง แล้วเกิดขึ้นได้ ซึ่งต้องรีบฉวยเป็นโอกาสเข้ามาทันที”

รัฐมนตรีกับการนำเชิงยุทธศาสตร์

บทเรียนจากประสบการณ์ของเอนก เหล่าธรรมทัศน์ สรุปได้ว่า ยุทธศาสตร์ที่ดีนั้นต้องมาจากจุดแข็งที่แท้จริงของตนเอง และต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน นั่นหมายถึงผลลัพธ์ที่ได้จากการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ สามารถเกิดผลสะเทือนเป็นลูกโซ่ ส่งผลให้เรื่องอื่นๆ พัฒนาและแก้ไขไปพร้อมกันได้

การคิดแบบยุทธศาสตร์ หัวใจสำคัญคือ มุมมองและ Mindset สำหรับการคิดยุทธศาสตร์ของภาครัฐ สิ่งแรกที่จำเป็นคือการเปลี่ยน “Mindset” ของบุคลากรทั้งหมด การเขียนแผนหรือยุทธศาสตร์มากมายโดยที่ยังคงยึดติดกับแนวคิดเดิมๆ นั้น จะไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงได้ เพราะทุกอย่างต้องเริ่มจากความเชื่อที่ว่าสิ่งต่างๆ สามารถเปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้ ประเทศไทยจึงต้องเลิกจมอยู่กับความคิดที่ว่า ตนเป็นประเทศด้อยพัฒนา แต่ควรตั้งมั่นในศักยภาพและความสามารถที่จะพัฒนาให้เติบโตได้

ยุทธศาสตร์ที่ดีต้องนำมาเป็น “Super Indicator” ด้วย ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ไม่ง่ายต่อการบรรลุ แต่มีความท้าทายในระดับ High Risk High Return คล้ายกับการดำเนินงานในภาคธุรกิจ ถือเป็นการทดสอบและผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ เสมือนมีคำสัญญาที่ประกาศชัดเจนต่อประชาชน ทำให้รัฐบาลไม่สามารถทำงานไปเรื่อยๆ โดยไม่มีจุดมุ่งหมาย

อีกประการหนึ่งคือ การให้น้ำหนักและการจัดลำดับความสำคัญอย่างเหมาะสม เมื่อมีความพยายามที่จะพัฒนาหลายเรื่องพร้อมกันโดยไม่คำนึงถึงงบประมาณและทรัพยากรที่จำกัด อาจทำให้เกิดการกระจายความสนใจและตัวชี้วัดมากมายจนไม่สามารถบรรลุเป้าหมายหลักได้ ยุทธศาสตร์ที่มีคุณภาพจึงต้องเป็นแผนที่ “รบชนะ” แล้วจะต้องรู้ด้วยว่าจะชนะได้อย่างไร เพราะประเทศไม่ได้มีงบประมาณเพียงพอที่จะทำทุกเรื่องแบบเรื่อยๆ เมื่อหลุมมีมากมาย ต้องใช้งบประมาณไปถมหลุมไหน..ต้องคิดและเลือกให้ดี

สรุปแล้ว บทเรียนจากเอนก เหล่าธรรมทัศน์ สอนให้เราเห็นว่าการคิดเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐมนตรีนั้นต้องเกิดจากการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด (Mindset) และมีมุมมองใหม่ ผู้บริหารองค์กรและบุคลากรที่เกี่ยวข้องควรเชื่อมั่นในศักยภาพและความสามารถของประเทศที่จะพัฒนาได้จริง ยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นจากจุดแข็งและมีความชัดเจนในการดำเนินงาน จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่พัฒนาประเทศ ให้พ้นจากกับดักรายได้ปานกลางและก้าวสู่สถานะประเทศพัฒนาแล้ว.

(อ่านต่อวันพฤหัสฯ หน้า)

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก ไทยโพสต์

‘ฮุน เซน’ โต้ ‘ทักษิณ’ ไม่แปลกใจที่โจมตี ประเทศตัวเองยังทรยศ-มีส่วนสังหารมุสลิมชายแดนใต้

11 นาทีที่แล้ว

กองทุนพัฒนาการกีฬาฯ หนุนโครงการพัฒนาศักยภาพ นักกีฬาอีสปอร์ตไทยสู่เวทีโลก

12 นาทีที่แล้ว

‘เต้ อาชีวะ’ ควานหา ‘แก๊งน้ำไม่อาบเขมร’ ไร้สำนึกคุณแผ่นดินไทย

23 นาทีที่แล้ว

เอกฉันท์! นานาประเทศ มีความเห็นร่วมกัน กัมพูชาเริ่มสงคราม เปิดฉากยิงไทยก่อน

41 นาทีที่แล้ว

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความทั่วไปอื่น ๆ

วิดีโอ

ทุกสายการบินในไทย พร้อมเพิ่มที่นั่งพาคนไทยกลับประเทศ

Thai PBS

ค่ำคืนแรกในศูนย์อพยพฉุกเฉิน ของชาวกันทรลักษ์ หลังเหตุไม่สงบชายแดนกัมพูชา

THE STANDARD

ไฟไหม้คอนโด ในซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 41

สวพ.FM91

อัพเดท สถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ล่าสุด วันนี้ 25 ก.ค. 68

ฐานเศรษฐกิจ

สรุป 24 ชั่วโมง เหตุปะทะชายแดนไทย-กัมพูชา สมช. ให้อพยพปชช. พ้นรัศมี 50 กม. จากชายแดน

SpringNews

"ฮุนเซน-เขมร" หมาลอบกัดยิงก่อน จดจำตระกูลชั่วนี้ให้มั่น ให้โลกรู้ไทยนี้รักสงบแต่ถึงรบไม่ขลาด!

Manager Online

สดุดีวีรบุรุษกล้า แห่อาลัย พลทหารวรัญชิต พลีชีพสู้เขมรที่กันทรลักษ์

มุมข่าว

อุบัติเหตุ ถนนอ่อนนุช ขาเข้า บนสะพานข้ามแยกศรีนุช

สวพ.FM91

ข่าวและบทความยอดนิยม

Loading...