ถ้า ‘ตู้เต่าบิน’ เปลี่ยนไป กลายเป็นพื้นที่ ‘จอโฆษณา’ สินค้า ต่อยอด data ลูกค้า 11 ล้านคนในอนาคต?
ตู้เครื่องดื่มอัตโนมัติในประเทศไทยอาจจะยังไม่บูมเท่ากับ ‘ญี่ปุ่น’ ประเทศที่มีตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติต่อประชากรมากกว่าไทยซะอีก แต่แบรนด์ที่คิดว่าคุ้นหน้าคุ้นตาคนไทยเป็นอย่างดีในปัจจุบันก็คือ ‘ตู้เต่าบิน’
ถือว่า ‘ตอง-วทันยา อมตานนท์’ สาววิศวะฯ ที่ชื่นชอบเรื่องของ ‘data’ และเป็นผู้ก่อตั้งธุรกิจ ‘เต่าบิน’ ตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติที่ปัจจุบันมีให้บริการมากกว่า 7,000 ตู้ เธอจับตลาดตู้อัตโนมัติฯ ได้อย่างฉลาด เพราะปัจจุบันตลาดนี้มีมูลค่าราวๆ 2,000-3,000 ล้านบาททีเดียว
ถึงแม้ว่าในปี ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2562-2566 ข้อมูลจาก data creden จะเผยให้เห็นกราฟรายได้ที่ดิ่งลงของธุรกิจตู้เต่าบิน โดยผลประกอบการติดลบ 5 ปีซ้อน แต่ในปี 2567 ถือว่าธุรกิจเริ่มฟื้นตัวจากหลายๆ ปัจจัย
โดยบริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้บริการตู้เต่าบิน มีรายได้ในปี 2567 แตะ 2,267 ล้านบาท กำไร 342 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2566 ที่ยอดขายติดลบ เพิ่มขึ้นมาประมาณ 1.77% และมีแนวโน้มที่ปีนี้ยอดขายจะดีขึ้นเช่นกัน
ตอง-วทันยา เธอได้แชร์ข้อมูลน่าสนใจบนเวที Marketing Oops Summit 2025 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องdata ว่ามันคือ ‘คำตอบ’ ของทุกอย่างสำหรับเธอ
[ ถ้าไม่มี data เต่าบินก็อยู่ไม่ได้ ]
เธอเล่าความสำคัญของ data กับสำหรับยุคนี้มันคือ คำตอบของทุกอย่าง หรือเกือบจะทุกอย่าง
อย่าง ‘เต่าบิน’ อุปกรณ์ข้างในทั้งหมดต้องใช้ data ไม่งั้นก็อยู่ไม่ได้ ซึ่งถ้าให้ยกตัวอย่างง่ายๆ เกี่ยวกับการทำงานของตู้เต่าบิน ก็คือ สูตรเครื่องดื่มเมนูต่างๆ ต้องมี data และภายในเครื่องก็มี ‘ตัวชั่งน้ำหนัก’ ประมาณ 15 ตัวได้ เพื่อตวงทุกอย่าง รวมถึงตัวเซ็นเซอร์ที่ช่วยให้เมนูเครื่องดื่มมีรสชาติที่นิ่ง เหมือนกันทุกครั้ง
“ถ้าถามว่า 5 ปีก่อนชงกาแฟเป็นไหม ก็ไม่เป็น แล้วตอนนี้ก็ยังชงไม่เป็น แต่เราทำให้เครื่องดื่มอร่อยได้” ตอง-วทันยา แชร์บนเวทีในงาน
นอกจากนี้ เธอได้ยกตัวอย่าง ‘กาแฟ’ ที่ดี 1 แก้วว่าจะต้องมีอะไรบ้าง? เพื่อทำให้เห็นว่า data มันสำคัญมากแค่ไหน เช่น
- การไหลเวียนของกาแฟ
- แรงดันในการสกัดกาแฟ
- การเพิ่มน้ำในกาแฟ
- อุณหภูมิของน้ำที่ใช้กับกาแฟ
- วิธีการเก็บรักษาเมล็ดกาแฟ
[ เต่าบินไม่มีพนักงาน แต่มีต้นทุนอื่นๆ ]
ถ้าพูดว่าจำนวน 7,000 ตู้ที่มีในปัจจุบัน แม้ว่าแทบจะไม่ได้ใช้ ‘พนักงาน’ (ไม่รวมเซอร์วิสตู้) แต่สำหรับ ‘ตอง-วทันยา’ ก็เหมือนมีคาเฟ่ที่ต้องบริหารอยู่ 7,000 สาขา ทั้งยังเป็นคาเฟ่ที่มีถึง 180 เมนู ให้บริการ 24 ชั่วโมง ทุกวัน ในหลากหลายโลเคชั่นด้วย
โดยเธอเล่าว่า ใน 1 ตู้จะมีอายุการใช้งานประมาณ 8 ปีจากนั้นก็ต้องบำรุงรักษา รวมถึงต้องพัฒนาปรับปรุงตู้ให้สมัยตลอดด้วย ดังนั้น แต่ละตู้ก็จะมี ‘ต้นทุน’ ที่ต้องจ่าย
ต้นทุนที่ต้องจ่ายของตู้เต่าบินมีอะไรบ้าง เช่น
- การบำรุงรักษาตู้ที่เพิ่มขึ้นตลอด
- การเก็บรักษาวัตถุดิบ
- การทำความสะอาดตู้
- ต้นทุนการพัฒนาปรับปรุงตู้
[ ถ้าวันหนึ่งตู้เต่าบินยิงแอดโฆษณาได้? ]
ปัจจุบัน ลูกค้าเต่าบินที่เป็นเบอร์โทรมีจำนวน 11 ล้านคน ยอดขายเสิร์ฟทั้งหมดอยู่ที่ 225 ล้านแก้ว และอีก 2 ล้านคน เป็นสมาชิกที่ระบุรายละเอียดเพิ่มเติมได้ เช่น ชื่อ และเพศ
ดังนั้น คลังข้อมูลทั้งหมดที่มาจาก ‘ตู้เต่าบิน’ ตลอดที่เปิดให้บริการกว่า 4 ปี ทำให้ในอนาคตสามารถต่อยอดธุรกิจเป็นรูปแบบอื่นได้
ตอง-วทันยา เล่าว่า จากข้อมูลที่มีเราสามารถสันนิษฐานพฤติกรรมลูกค้าได้ เช่น ถ้าเห็นลูกค้าผู้หญิงที่ปกติสั่ง ‘เครื่องดื่มเย็น’ ในวันหนึ่ง หรือช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่งเขาจะสั่ง ‘เครื่องดื่้มร้อน’ เป็นช่วงเวลาเดิมๆ อาจเดาได้ว่า “เธอกำลังมีประจำเดือน”
โดยต่อยอดข้อมูลจากตรงนั้น คือ สมมุติว่าเธอกำลังมีประจำเดือน ตู้เต่าบินอาจจะยิงแอดโฆษณาเป็น‘ผ้าอนามัย’ บนหน้าจอก็ได้ ซึ่งในอนาคต
ตอง-วทันยา กล่าวว่า “นี่จะเป็นโอกาสสำหรับนักการตลาด เพราะตู้เต่าบินเราเห็นพฤติกรรมลูกค้า เรามี 7,000 จอที่เข้าถึงชุมชนและรู้ว่าใครกำลังยืนอยู่หน้าตู้”
“เรามีข้อมูลการซื้อ, โลเคชั่น, ความชอบของลูกค้า, ท็อปปิ้งแบบไหนที่ลูกค้าชอบ ทั้งหมดผ่านเบอร์มือถือ”
สำหรับ ตอง-วทันยา เธอก็ยังมองว่า data เป้นเรื่องสำคัญของธุรกิจ data ที่ดีคือ data ที่เยอะ เก็บมาก่อน อนาคตเราจะรู้เองว่า data เหล่านั้นมีประโยชน์อย่างไร
ปัจจุบันเต่าบินได้ขยายไปแล้ว 6 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ฮ่องกง, ดูไบ และอังกฤษ และได้รับการตอบรับที่ดีมาก และรายได้ก็ดีเพราะค่าครองชีพสูงกว่าเมืองไทย
เธอยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า “สำหรับการได้เป็น Unicorn ยังสนใจ แต่ไปแบบช้าๆ ไปแบบเต่าๆ ดีกว่า ขอขยายเพิ่มอีกสัก 10 ประเทศ แล้วมีทราฟฟิกความถี่ในการซื้อเหมือนในไทย คิดว่า Unicorn ก็น่าจะพอเป็นไปได้”