คลัง เตรียมอัดซอฟต์โลนดอกเบี้ย 0.01% อุ้มส่งออกฝ่าวิกฤตภาษีสหรัฐ
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “กรอบเจรจาและรับมือผลกระทบภาษีทรัมป์” ในงานเสวนาโต๊ะกลม “กรุงเทพธุรกิจ Roundtable : The Art of The Deal” ว่า รัฐบาลเตรียมออกมาตรบรรเทาผลกระทบผู้ส่งออกไทยที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ซึ่งอาจสูงถึง 40% ในบางกลุ่มสินค้า ด้วยการเตรียม “สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษ (Soft Loan)” คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.01% ต่อปี วงเงินราว 2 แสนล้าบาท ผ่านการสนับสนุนของธนาคารออมสิน โดยให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และธนาคารพาณิชย์ไปปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการ
มาตรการดังกล่าวครอบคลุมภาคส่งออกไปสหรัฐ ธุรกิจใน Supply Chain และเอสเอ็มอี ที่ต้องแข่งขันกับสินค้านำเข้าราคาถูก ที่มีความเสี่ยงต่อการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีสัดส่วนมากถึง 1 ใน 3 ของดุลการค้ารวมระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท ในปี 2567
นายพิชัยระบุว่า ปัจจุบันสหรัฐฯ กำลังเดินหน้านโยบายกีดกันทางการค้าภายใต้นโยบาย "America First" ซึ่งมุ่งลดการขาดดุลการค้ากับประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่มีสัญญาณของ “Transshipment” หรือการสวมสิทธิ์ถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ภาษีนำเข้าสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
หากสินค้าไทยมี Local Content ต่ำ หรือใช้วัตถุดิบจากต่างประเทศมากเกินไป อาจเจอภาษีนำเข้า 20% และสูงสุดถึง 40% หากมีลักษณะของการสวมสิทธิ์ถิ่นกำเนิด ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่หลายประเทศในภูมิภาคกำลังเผชิญอยู่เช่นกัน
ปัจจุบัน ไทยพึ่งพาการส่งออกในสัดส่วนประมาณ 58% ของ GDP จากเดิมที่เคยสูงถึง 70% และส่งออกไปสหรัฐฯ ราว 18% ของมูลค่ารวม โดยในหลายอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ยังมีสัดส่วน Local Content ต่ำเพียง 30–40% เท่านั้น
วันนี้เราไม่สามารถอยู่นิ่งได้ ต้องปรับตัว โดยเฉพาะการเพิ่ม Local Content ในห่วงโซ่การผลิตให้สูงขึ้นถึง 60-70% ให้ได้ในอนาคต ซึ่งจะเป็นเกราะป้องกันภาษีได้อย่างยั่งยืง
นายพิชัยเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ภายใต้กรอบ Preferential Trade Agreement (PTA) ไทยได้ยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมที่ระบุว่า ไทยเปิดตลาดให้สหรัฐฯ แล้วในสัดส่วน 63–64% และเตรียมขยายเป็น 69% โดยการเปิดตลาดรอบใหม่นี้ครอบคลุมรายการสินค้าที่ในอัตรา 0% ที่ไทยไม่เคยเปิดมาก่อน เช่น ลำไย ปลานิล และ รถยนต์พวงมาลัยซ้าย โดยเฉพาะรถยนต์พวงมาลัยซ้าย ซึ่งเดิมไม่เคยเปิดตลาดเพราะไทยผลิตเองเป็นจำนวนมาก แต่หากจะเปิดให้สหรัฐฯ นำเข้าได้ ก็ไม่น่าจะกระทบผู้ผลิตภายในประเทศ เพราะรถกลุ่มนี้ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดไทย และสหรัฐฯ เองก็มีตลาดหลักอื่นอยู่แล้ว
สินค้ารถยนต์พวงมาลัยซ้ายไทยไม่ได้ผลิตเองอยู่แล้ว ไทยจะพิจารณาปรับอัตราภาษีนำเข้า 0% เพื่อไม่ให้กระทบอุตสาหกรรมในประเทศ และอาจส่งผลบวก เช่น การขยายการส่งออกสินค้าไทยที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน ขณะที่ผลไม้ เช่น ลำใย ปลานิล เป็นรายการสินค้าเกษตรไทยมีข้อได้เปรียบด้านปริมาณและราคา แม้เราจะเปิดให้สหรัฐสามารถนำเข้าได้ ก็ไม่กระทบต่อการผลิตในประเทศ
นายพิชัยย้ำว่า กรอบการเจรจาของไทยยังคงยึดหลัก "win-win" โดยมุ่งรักษาผลประโยชน์ร่วมกันและความสมดุลระหว่างทั้งสองฝ่าย โดยเปิดตลาดเฉพาะในสินค้าที่ไทยไม่สามารถแข่งขันได้ แลกกับการส่งเสริมการลงทุนจากไทยในสหรัฐฯ โดยเฉพาะในกลุ่มพลังงาน เช่น ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีราคาถูกในตลาดสหรัฐฯ 2–3 ดอลลาร์ต่อล้าน BTU เทียบกับราคาตลาดโลกที่ 11 ดอลลาร์สหรัฐ และกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป
นายพิชัยสรุปว่า รัฐบาลใช้โอกาสจากวิกฤตภาษีนี้ในการ “เร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ” ด้วยการลดการพึ่งพาการส่งออก และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก ผ่านการยกระดับแรงงาน พัฒนานวัตกรรม และวางแผนโครงสร้างอุตสาหกรรมใหม่อย่างรอบด้าน