‘นั่งสมาธิ 10 นาที คิดพล็อตละครแค้นไป 10 ซีซัน’ จะทำยังไง ใจอยากคิดทำสิ่งดี แต่สมองดันจัดคิว ‘ความชั่วร้าย’ มาให้
ระหว่างที่กำลังนั่งสมาธิ ใจดันคิดถึงไอ้เป็ดที่แอบเอาเราไปด่าให้เพื่อนฟัง จนสมองที่ควรจะโล่งบริสุทธิ์ กลับไปหยุดที่การคิดพล็อต ‘การเอาคืน’ ซะนี่
หรือระหว่างที่กำลังไหว้พระใส่บาตร สายตาดันไปหยุดที่พระรูปหนึ่ง แล้วความคิดก็แว็บเข้ามา ‘แหม ตักข้าวเยอะจังนะ’
เคยใช่ไหม อุตส่าห์ตั้งใจจะทำดี ให้จิตมีกุศล เพื่อจะได้บุญ แต่ความคิดเจ้ากรรมดันพาเลี้ยวหักศอกไปหา ‘บาป’ แทน นั่นเป็นเพราะจิตใจเรายังไม่ยอมรับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ และการหงุดหงิด หรือความคิดชั่ว คือกลไกแห่งการยึดติด สนามความบริสุทธิ์จึงเป็นเวทีฝึกสติทันที
และเป็นเพราะสมองคนเรามักถูกฝึกให้คิดอยู่ตลอดเวลา เมื่อถึงตอนที่จิตใจกำลังจะว่างเปล่าด้วยความบริสุทธิ์ จิตที่เสพติดความฟุ้งซ่านจึงเริ่มต่อต้าน ความคิดขัดแย้งจึงโผล่เพื่อให้สมองเรากลับไปเป็นแบบเดิม
แต่เอาเข้าจริง นั่นไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมันคือกลไกธรรมชาติของจิตใจ อย่างไรก็ดี อุตส่าห์ตั้งใจจะคิดดี ทำดี แต่กลับมีความคิดเป็น ‘มารผจญ’ เสียเอง มันก็อาจไม่ดีเท่าไหร่
เพราะในทุกการคิดทำดี ‘กิเลส’ มักแวะมาทักทายเสมอ จนทำให้เราตกใจ กังวลใจ กลัวว่าตนเองจะกลายเป็นคนใจไม่บริสุทธิ์ จนได้ ‘บาปซ้อนบุญแทน’ แล้วจะมีวิธีคิดกับเรื่องนี้ยังไงดี
การคิดลบไม่ได้ทำให้เราเป็นคนเลวเสมอไป
ทุกคนต่างก็มีความคิดเชิงลบ นั่นเป็นเพียงการทำงานของสมองมนุษย์ ในขณะที่เราใช้ชีวิตและสัมผัสกับอารมณ์ต่างๆ ความคิดทั้งดีและไม่ดีจะผุดขึ้นมาในหัวของเรา ซึ่งความคิดที่แทรกเข้ามาโดยไม่ได้ตั้งใจเหล่านี้เป็นเพียง ‘ความคิด’ ไม่ใช่ ‘การกระทำ’ ในชีวิตจริง ซึ่งในฐานะมนุษย์ เรามักจะมีความคิดเชิงลบอยู่เสมอ แต่สิ่งสำคัญกว่านั้น คือต้องไม่ปล่อยให้ความคิดเหล่านี้มาบงการชีวิตของเรา
หลีกเลี่ยงการหมกมุ่นอยู่กับภาพเชิงลบ
‘ใส่บาตรให้พระอยู่ แต่ใจอยากเขวี้ยงข้าวเหนียวใส่เพื่อนเก่า’ เมื่อความคิด หรือภาพเชิงลบเช่นนี้โผล่เข้ามาในใจ ให้ ‘รับรู้’ และระบุความคิดนั้นตามความเป็นจริง จากนั้นให้พยายามดึงสติกลับไปหาสิ่งที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน หรือ ‘คิดถึง’ หัวข้ออื่นที่เป็นเชิงบวกกว่านั้นทันที เช่น เดี๋ยวจะได้กินของอร่อย หรือคืนนี้จะนอนดูซีรีส์ กลยุทธ์นี้จะช่วยฝึกให้เรารับรู้เมื่อมีความคิดเชิงลบเข้ามา และหลีกเลี่ยงการครุ่นคิดถึงมัน
ลองเปลี่ยนความคิด
สมอง คือจุดเริ่มต้นของความคิด ดังนั้นการกลับไปหาจุดนั้นและปรับสมองให้คิดบวกมากขึ้น ด้วยการเปลี่ยนความคิดลบทุกครั้งที่เกิดขึ้นก็สามารถช่วยได้ เช่น เราอาจมีความคิดว่า ‘ทุกคนในที่ทำงานต้องเกลียดเราแน่ๆ เพราะเรามันพวกอินโทรเวิร์ต’ แต่ลองเปลี่ยนความคิดเป็น ‘คนในที่ทำงานคงไม่ได้รู้สึกอะไรกับเรามากก็ได้ เราแค่เป็นคนที่มีบุคลิกเฉพาะตัว คนที่จริงใจ เข้าใจจะยอมรับเราเอง’ มันคือเทคนิคง่ายๆ ในการ ‘ปรับมุมมอง’ บางครั้งแค่คลิกเดียวก็ทำให้เราเลิกคิดเรื่องแย่ๆ ได้เลย
ปล่อยความคิดออกไปเหมือนวัตถุชิ้นหนึ่ง
บางครั้งสมองของเราก็ฟุ้งซ่านเกินไป ลองนั่งลงและจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน ปล่อยให้ความคิดเหล่านั้นลอยเข้ามาและออกไปจากใจ แทนที่จะจดจ่ออยู่กับความคิด หรือภาพเชิงลบ ให้ลอง ‘มอง’ มันในฐานะผู้สังเกตการณ์เฉยๆ ไม่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยว และลองจินตนาการว่าเรากำลังปล่อยมันออกไปเหมือนวัตถุชิ้นหนึ่ง และเฝ้ามองมันล่องลอยออกไปจากใจ
จดบันทึกความคิดเชิงลบที่เกิดขึ้น
การเขียนบันทึกอาจไม่ใช่สิ่งที่หลายคนสนใจอยากทำ แต่มันก็เป็นวิธีที่มีประโยชน์ในการทำให้จิตใจปลอดโปร่งและกำจัดความคิดแย่ๆ ออกไปได้ หากเรากังวลว่าเราไม่ใช่คนที่เขียนเก่ง ให้จำไว้ว่า ไม่มีสิ่งที่ ‘ถูก’ หรือ ‘ผิด’ ในการเขียนบันทึก เพียงแค่เขียนสิ่งที่อยู่ในใจ ในความคิด ออกมาตามที่เขาเข้าใจก็พอ หรือหากไม่ชอบเขียนจริงๆ ก็ลองเปลี่ยนเป็น ‘การวาดรูป’ แทนก็ยังได้
ระบายความรู้สึกกับคนใกล้ชิด
ยังคงเป็นวิธีคลาสสิกเสมอ บางครั้งความคิดชั่วที่อยู่ในสมองของเรามาจากเรื่องราวในชีวิตที่เราเผชิญอยู่ และไม่เคยถูกระบายออก มันจึงวนเวียนจมอยู่เป็นความคิด การระบายเรื่องราว หรือแม้กระทั่งความคิดชั่วที่เรามีในใจออกมาอย่างจริงใจ (หากกล้าพอ) กับคนใกล้ตัวที่วางใจจะช่วยให้เรา ‘ยอมรับ’ ความคิดเหล่านั้นจากมุมมองที่ชัดเจนและมีเหตุผลมากขึ้น แทนที่จะเป็นเพียงความคิดแย่ๆ ที่กัดกินจิตใจเราคนเดียว
เป็นเรื่องธรรมดาที่จิตใจเราจะมี ‘ความเคยชินเก่า’ อยู่มากมาย เมื่อความคิดที่จะทำสิ่งดีเริ่มก่อตัว ความเคยชินที่ชั่วร้าย หรือไม่สอดคล้องกับแสงสว่างเหล่านั้นก็จะปรากฏขึ้นแบบไม่รู้ตัว
แม้จะยาก แต่หากเราฝึกตามความคิดนั้นทัน จิตใจจะเริ่มหยุดแกว่งและนิ่งขึ้น เมื่อถึงเวลานั้น ถึงความคิดชั่วอาจโผล่มา เราก็จะสามารถมองมันโดยไม่ตกเป็นทาสได้
ความคิดชั่วนั้นไซร้ คือบททดสอบว่าเรากำลังพยายามเป็นคนที่ดีขึ้น ไม่ใช่ข้อสอบที่บอกว่าเราสอบตกไปเรียบร้อยแล้ว