โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

3 เรื่องประวัติศาสตร์น่ารู้ จาก The Sandman Season 2, Vol. 1

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 2 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 3 ชั่วโมงที่ผ่านมา
(ภาพจาก : https://www.netflix.com/tudum/articles/sandman-new-episodes)

3 เรื่องประวัติศาสตร์น่ารู้ จาก The Sandman Season 2, Vol. 1

“The Sandman” ซีรีส์สร้างจากการ์ตูนของดีซีคอมิกส์ (DC Comics) ในแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งออนไลน์ Netflix ว่าด้วยเรื่องราวของ“Dream” เจ้าแห่งความฝัน 1 ในสมาชิกทั้ง 7 ของ The Endless ซึ่งเป็นตัวแทนอันทรงพลังของธรรมชาติอันไม่มีที่สิ้นสุด

พี่น้องสมาชิก The Endless ประกอบไปด้วย Destiny โชคชะตา, Death ความตาย, Dream ความฝัน, Destruction การทำลายล้าง, Desire ความปรารถนา, Despair ความสิ้นหวัง และ Delirium ความโกลาหล

ความน่าสนใจของซีรีส์ The Sandman นอกจากจะพาผู้ชมไปสำรวจเรื่องราวชีวิตของ Dream และบรรดาพี่น้องแล้ว การที่สมาชิก The Endless มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์บน “โลกแห่งยามตื่น” มาเนิ่นนานนับพันนับหมื่นปี ทำให้ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติถูกเชื่อมโยงเกี่ยวพันกับเหล่า The Endless มาโดยตลอด ซีรีส์เรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่การนำเสนอความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังสอดแทรกเรื่องราวประวัติศาสตร์จริง ๆ เอาไว้ด้วย

ในซีรีส์ The Sandman ซีซั่นสองได้สอดแทรกประวัติศาสตร์น่ารู้หลายเรื่องราวแฝงไว้หลายตอน ในที่นี้จะขอพาไปสำรวจ 3 เรื่องประวัติศาสตร์ อันได้แก่ 1. ละครของเชกสเปียร์ 2. ปริซึมของนิวตัน และ 3. การปฏิวัติฝรั่งเศส

Spoiler Alert! บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของซีรีส์

1. ละครของเชกสเปียร์

วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) กวีชื่อดังชาวอังกฤษ เขาปรากฏตัวมาตั้งแต่ซีซั่นแรก แต่สำหรับซีซั่นสองเขามีบทบาทที่เด่นชัดมากขึ้นในตอนที่ 3 “More Devils Than Vast Hell Can Hold”

ใน ค.ศ. 1593 เชกสเปียร์มาพบกับ Dream ณ ที่แห่งหนึ่ง ซึ่งมีรูปสลักเหมือนคนถือไม้เท้าสองข้างบนเนินเขาลาดชัน สถานที่แห่งนี้มีชื่อว่า “The Long Man of Wilmington” หรือเนินลองแมนแห่งวิลมิงตัน เพื่อทำการแสดงละครที่เชกสเปียร์แต่งขึ้น

ตามประวัติศาสตร์ นักโบราณคดียังคงหาคำตอบไม่ได้ว่า รูปสลักบุคคลลึกลับแห่งวิลมิงตันนี้ถูกสร้างขึ้นมาเมื่อใด และด้วยเหตุผลใด บ้างเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ บ้างว่าเป็นรูปผู้พิทักษ์ บ้างเชื่อว่ามีความเก่าแก่หลายพันปี บ้างว่าเพิ่งสร้างขึ้นในยุคหลังเพียงไม่กี่ร้อยปีนี้เอง

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ในซีรีส์ได้นำเสนอ “The Long Man of Wilmington” ว่าเป็นประตูมิติที่เชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับอาณาจักรของเหล่า “The Fairies” หรือนางฟ้า ภูติ พราย ฯลฯ

Dream ต้องการให้เชกสเปียร์แสดงละครเรื่องหนึ่งเพื่อให้กษัตริย์โอเบอรอน (King Oberon) และราชินีไททาเนีย (Queen Titania) ผู้ปกครองเหล่านางฟ้าได้รับชม ละครเรื่องนั้นก็คือ “A Midsummer Night’s Dream” ผลงานอมตะสุดคลาสิกอีกชิ้นของเชกสเปียร์

“เราตกลงกันไว้เมื่อหลายปีก่อน มหากาพย์จะคงอยู่คู่อารยธรรมมนุษย์ผ่านคำประพันธ์ของเขา นั่นคือความฝันของเขา” นี่คือคำพูดของ Dream ระหว่างสนทนากับราชินีไททาเนีย โดยเป็นไปได้ว่า Dream ได้ทำสัญญากับเชกสเปียร์เพื่อให้ “ความฝัน” ในการสร้างสรรค์ผลงานกวี บทละคร วรรณกรรม ฯลฯ ให้เป็นจริง และไม่เพียงแค่เป็นจริง แต่ยังเป็นผลงานที่คลาสิกและอมตะมาจนถึงทุกวันนี้

แม้ในซีรีส์จะไม่ได้บอกว่า เชกสเปียร์สร้างผลงาน “A Midsummer Night’s Dream” ขึ้นมาอย่างไร แต่เชื่อว่าเขาน่าจะได้มาจาก “ความฝัน” ที่มีเค้าโครงมาจาก “ความจริง” ของกษัตริย์โอเบอรอน ราชินีไททาเนีย และอาณาจักรของเหล่า “The Fairies” ซึ่ง Dream น่าจะอยู่เบื้องหลังในการส่งต่อเรื่องราวเหล่านี้ให้เชกสเปียร์ไปสร้างสรรค์งาน

กษัตริย์โอเบอรอน กล่าวว่าละครเรื่องนี้ไม่ใช่ “เรื่องจริง” ที่เกิดขึ้นกับเหล่านางฟ้า ซึ่งนั้นก็เป็นสิ่งที่ Dream น่าจะต้องการไว้ตั้งแต่แรก โดย Dream กล่าวด้วยประโยคสุดกินใจว่า

“Things need not have happened to be true. Tales and dreams are the shadow-truths that will endure when mere facts are dust and ashes, and forgotten.”

“สิ่งต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเพื่อให้เป็นจริง นิทานและความฝันเป็นเพียงเงาของความจริงที่คงอยู่ต่อไป เมื่อข้อเท็จจริงเป็นเพียงฝุ่นและเถ้าถ่าน และถูกลืมเลือน”

Dream คงต้องการให้เชกสเปียร์แต่งละครเรื่องนี้เพื่อรำลึกถึงการมีอยู่ของเหล่านางฟ้า ซึ่งครั้งหนึ่งพวกเขาเคยท่องไปบนโลกมนุษย์ แต่ถึง ณ ช่วงเวลานั้น พวกเขาก็ได้ละทิ้งดินแดนแห่งนั้นไปแล้ว และหวนกลับคืนสู่อาณาจักรของตน โดยสิ่งที่คงเหลืออยู่ก็มีแค่เพียงตำนาน นิทาน และบทละครสุดสลาสิกของเชกสเปียร์

2. ปริซึมของนิวตัน

ในตอนที่ 5 “The Song of Orpheus” Destruction หรือเจ้าแห่งการทำลายล้าง น้องชายของ Dream เขาละทิ้งหน้าที่ของตัวเอง นั่นคือ “การทำลายล้าง” ไปยาวนานกว่า 300 ปี ซึ่งปมประเด็นนี้เป็นปริศนามาตั้งแต่ซีซั่นแรก และในซีซั่นสองก็ได้เฉลยถึงปูมเหตุที่ Destruction ไม่อาจรักษาหน้าที่ของตนเองได้อีกต่อไป

ใน ค.ศ. 1675 ที่ อารันเดล เฮาส์ (Arundel House) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ Dream มาพบกับน้องชายที่นั่น Destruction บอกกับพี่ชายถึงเหตุผลที่เชิญมาพบที่นี่ว่า

“ข้าเรียกเจ้ามาที่นี่เพราะเรื่องนั้น เพราะสมาชิกคนหนึ่งของราชสมาคม ได้ใช้ปริซึมผ่าแสงอาทิตย์ออกเป็นลำแสงหลากสีสัน แต่มิสเตอร์นิวตัน ผู้สั่งสายรุ้ง ยังมีอีกมากที่จะพูดว่าด้วยเรื่องของทัศนศาสตร์ แสงและสสารมิสามารถแปรสภาพสลับไปมาได้หรือ”

โดยในช่วงเวลานั้น อารันเดล เฮาส์ เป็นที่ทำการและนัดพบของสมาชิกแห่ง “ราชสมาคม” หรือ Royal Society ซึ่งถือกำเนิดขึ้นเมื่อช่วงกลางศตวรรษที่ 17 อันเป็นสถาบันวิทยาศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังคงดำรงมาจนถึงปัจจุบัน โดยราชสมาคมมีสมาชิกที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังหลายคน หนึ่งในนั้นก็คือ ไอแซก นิวตัน (Isaac Newton)

จากคำกล่าวของ Destruction นั้น เขากำลังอ้างถึงการศึกษาสำรวจด้านทัศนศาสตร์ของนิวตัน โดยนิวตันได้แรงผลักดันมาจากความสงสัยในวิธีการที่ปริซึมหักเหแสงขาว หรือแสงอาทิตย์ให้แยกออกเป็นสีต่าง ๆ

ก่อนหน้าการค้นพบของนิวตัน เชื่อกันมานานว่าแสงขาวเป็นแสงบริสุทธิ์ และสีต่าง ๆ เกิดจากการที่วัตถุหรือตัวกลางไปปนเปื้อน หรือดัดแปลงแสงขาวนั้น แต่การค้นพบสเปกตรัมของนิวตัน พิสูจน์แล้วว่าแสงขาวนั้นแท้จริงแล้วประกอบขึ้นจากแสงสีต่าง ๆ ซึ่งมีความยาวคลื่นแตกต่างกัน และปริซึมทำหน้าที่เพียงแค่แยกส่วนประกอบออกจากกัน ไม่ได้สร้างสีขึ้นมา

การค้นพบนี้เป็นรากฐานสำคัญของทัศนศาสตร์สมัยใหม่ ทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจธรรมชาติของแสง และพฤติกรรมการหักเห การสะท้อน และการกระจายแสงได้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น และแนวคิดเรื่องแสงมีองค์ประกอบที่แตกต่างกันก็ได้ปูทางไปสู่การพัฒนาฟิสิกส์ควอนตัม และทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างแสงกับสสารในเวลาต่อมา

ความรู้เรื่องนี้ส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เช่น กล้องโทรทรรศน์ กล้องจุลทรรศน์ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการวิเคราะห์สเปกตรัมอื่น ๆ และการเข้าใจว่าสีคือคุณสมบัติโดยธรรมชาติของแสง ไม่ใช่ของวัตถุ ทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับสี การพิมพ์ และการถ่ายภาพ

ไม่เพียงแค่แวดวงวิทยาศาสตร์เท่านั้น การที่นิวตันจัดเรียงสีเป็นสเปกตรัมและวงล้อสี ได้ส่งผลกระทบต่อความเข้าใจ และการใช้งานสีในวงการศิลปะ การออกแบบ และแม้แต่เรื่องจิตวิทยาของสีอีกด้วย ดังนั้น การค้นพบครั้งนี้จึงนับเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งไม่แพ้การค้นพบแรงโน้มถ่วงของนิวตัน

ผลพวงของความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์นี่เอง จึงทำให้ Destruction รู้สึกหวาดกลัวต่อสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะสุดท้ายไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง วิทยาศาสตร์ย่อมจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาอารยธรรมมนุษย์ และใช้เป็นอาวุธในการทำลายล้างเหล่ามรรตัย ดังที่เขากล่าวเอาไว้ในซีรีส์ว่า

“That is how they will destroy each other and themselves”

“นั่นคือหนทางที่มนุษย์จะทำลายกันและกัน และตัวเอง”

3. การปฏิวัติฝรั่งเศส

ในตอนที่ 6 “Family Blood” ตัวละคร เลดี้โจห์อันน่า (Lady Johanna Constantine) ได้กลับมาบอกเล่าเรื่องราวของเธออีกครั้ง หลังจากที่เธอปรากฏตัวมาแล้วในซีซั่นแรก โดยในซีซั่นนี้ เรื่องราวดำเนินในช่วง ค.ศ. 1794 ขณะที่เธอกำลังพำนักอยู่ที่วิชครอช (Wych Cross) ประเทศอังกฤษ Dream ได้มาพบเธอเพื่อยื่นข้อเสนอให้ทำภารกิจนำ “หัว” ของออร์เฟียส หรือออร์ฟิอุส (Orpheus) บุตรชายของ Dream กลับไปยังเกาะเลสบอส (Lesbos)

หัวของออร์เฟียสถูกขโมยจากเกาะมายังประเทศฝรั่งเศส ซึ่งช่วงเวลานั้นตรงกับยุคที่เรียกว่า “สมัยแห่งความหวาดกลัว” (Reign of Terror) หลังจากผ่านพ้นการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution) ค.ศ. 1789 มาไม่นานนัก

เลดี้โจห์อันน่าต้องฝ่าฝันทำภารกิจที่อันตรายนี้โดยลำพัง ซึ่งเธอก็ต้องมาเผชิญหน้ากับบุคคลผู้เลื่องชื่อในหน้าประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศสอย่าง มักซีมีเลียง รอแบสปีแยร์ (Maximilien Robespierre) ที่ต้องการหัวของออร์เฟียสมาเพื่อลบล้างความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติให้หมดไป

ตามประวัติ รอแบสปีแยร์เป็นบุคคลสำคัญและเป็นผู้นำที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งของการปฏิวัติฝรั่งเศส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสมัยแห่งความหวาดกลัว ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่การปฏิวัติมีความรุนแรงถึงขีดสุด

ในช่วงก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส รอแบสปีแยร์ได้รับเลือกเป็นผู้แทนจากฐานันดรที่ 3 (Third Estate) เขาได้กล่าวคำปราศรัยที่ทรงพลังและยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย ทั้งยังต่อต้านระบอบกษัตริย์ และเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ให้กับประชาชนทุกคน จนทำให้ชื่อเสียงของรอแบสปีแยร์เป็นที่กล่าวถึงโด่งดังในวงกว้าง

ต่อมา รอแบสปีแยร์กลายเป็นสมาชิกคนสำคัญของ “สโมสรฌากอแบง” (Jacobin Club) ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองที่มีอิทธิพลอย่างมากในช่วงปฏิวัติ โดยภายหลังจากที่ระบอบกษัตริย์ถูกโค่นล้ม พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถูกประหารชีวิตใน ค.ศ. 1793 รอแบสปีแยร์ได้ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดของอำนาจในฐานะผู้นำคนสำคัญของคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะ (Committee of Public Safety) ซึ่งมีอำนาจบริหารและปกครองประเทศฝรั่งเศสอย่างเบ็ดเสร็จในช่วงเวลานั้น โดยคณะกรรมการได้ดำเนินนโยบายที่เข้มงวด และรุนแรงอย่างมาก ซึ่งนำไปสู่สมัยแห่งความหวาดกลัวนั่นเอง

ช่วงนั้น หากใครถูกสงสัยว่าเป็นศัตรูของการปฏิวัติ ไม่ว่าจะเป็นพวกกษัตริย์นิยม ขุนนาง หรือแม้แต่พวกเสรีนิยมที่ถูกมองว่ามีความคิดแตกต่างจากแนวทางของฌากอแบงก็จะถูกจับกุม และนำไปประหารชีวิตด้วยเครื่อง “กิโยตีน” (Guillotine) รอแบสปีแยร์เชื่อว่าความรุนแรงนี้เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อกวาดล้างศัตรูของการปฏิวัติ

แต่ท้ายที่สุด รอแบสปีแยร์ก็ถูกประหารชีวิตด้วยเครื่องกิโยตีนในวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1794 การเสียชีวิตของรอแบสปีแยร์ถือเป็นการสิ้นสุดสมัยแห่งความหวาดกลัว และเป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้งของการปฏิวัติฝรั่งเศส

การผูกเส้นเรื่องของออร์เฟียสกับภารกิจทวงคืน “หัว” ของเลดี้โจห์อันน่าเข้ากับช่วงเหตุการณ์การปฏิวัติฝรั่งเศส นับว่าเป็นอีกจุดเด่นของการเล่าเรื่องของซีรีส์ในตอนที่ 6 ก็ว่าได้

The Sandman จึงไม่ใช่เพียงแค่ความบันเทิง แต่ยังแฝงประวัติศาสตร์หลากหลายประเด็นเข้าไว้อย่างแนบเนียน แฝงแนวคิดและปรัชญาผ่านบทสนทนาคำพูดที่เฉียบคม ทำให้เห็นความเป็นไปของ “มนุษย์” ผ่านมุมมอง “เทพเจ้า”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

https://www.netflix.com/tudum/articles/sandman-new-episodes

https://www.radiotimes.com/tv/fantasy/sandman-season-2-neil-gaiman-involvement-explained/

https://fandomwire.com/the-sandman-season-2-every-endless-in-the-story-and-their-abilities-explained/

https://www.cbr.com/the-sandman-honored-william-shakespeare/

https://screenrant.com/sandman-william-shakespeare-deal-explained/

https://sussexpast.co.uk/a-short-history-of-the-long-man-of-wilmington/

https://shelfdust.com/2021/11/10/sandman-19-neil-gaiman-made-up-a-guy-for-me-to-get-mad-at-online/

https://royalsociety.org/about-us/who-we-are/history/

https://royalsocietypublishing.org/doi/10.1098/rsnr.1967.0002

https://www.cabinet.ox.ac.uk/newtons-prism-experiment-0

https://www.britannica.com/biography/Maximilien-Robespierre

https://www.history.com/this-day-in-history/july-27/robespierre-overthrown-in-france

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กรกฎาคม 2568

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : 3 เรื่องประวัติศาสตร์น่ารู้ จาก The Sandman Season 2, Vol. 1

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก ศิลปวัฒนธรรม

เผยคำตอบโครงกระดูกมนุษย์ท่าพิสดาร ณ จุดสร้างสถานีรถไฟฟ้าศิริราช ใน “ไขปริศนาความตายท้ายเมืองธนบุรี”

2 ชั่วโมงที่ผ่านมา

“กาแฟ” กับ “อาหารเช้า” ความลงตัวที่เกิดขึ้นมาเพราะต้องการ “ความบริสุทธิ์”

2 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความไลฟ์สไตล์อื่น ๆ

คอนเสิร์ต BLACKPINK ที่ Goyang Stadium มีคนดูรวม 2 วันทะลุ 78,000 คน

THE STANDARD

ใครหยุดบ้าง 10-13 ก.ค. 2568 เช็กวันเปิดทำการธนาคาร - ไปรษณีย์ - เอกชน

Thai PBS

“Price War: สงครามราคาครั้งนี้ ใครได้ ใครเสีย?!”

GM Live

ยิ่งใหญ่สมการรอคอย “งานบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช” ปี 2568 จังหวัดนครพนม

Manager Online

MEYOU แท็กทีม JAONAAY-JAOKHUN ร่วมกันถ่ายทอดอารมณ์คนเหงาผ่านซิงเกิลล่าสุด 4TH JULY

THE STANDARD

สีก็มีผล! เลือกสีกระดาษขอพรวันทานาบาตะอย่างไรให้ปัง!

conomi

Doh Kyungsoo ปล่อยอัลบั้ม BLISS ผลงานเต็มชุดแรกในฐานะศิลปินเดี่ยว

THE STANDARD

เผยคำตอบโครงกระดูกมนุษย์ท่าพิสดาร ณ จุดสร้างสถานีรถไฟฟ้าศิริราช ใน “ไขปริศนาความตายท้ายเมืองธนบุรี”

ศิลปวัฒนธรรม

ข่าวและบทความยอดนิยม

“อึ้งเมี่ยวเหงี่ยน” เจ้าสัวค้าไม้ผู้ใจบุญ ต้นตระกูล “ล่ำซำ” มหาเศรษฐีหมื่นล้านของเมืองไทย

ศิลปวัฒนธรรม

3 เรื่องประวัติศาสตร์น่ารู้ จาก The Sandman Season 2, Vol. 1

ศิลปวัฒนธรรม

เจดีย์ไม้อิ้งเซี่ยน เจดีย์ไม้ที่เก่าแก่สุด สูงที่สุดในโลก อายุเกือบ 1,000 ปี

ศิลปวัฒนธรรม
ดูเพิ่ม
Loading...