ไทยพาณิชย์ ปรับใหญ่รับเศรษฐกิจชะลอ ย่อขนาดองค์กร-ลุยดิจิทัล-เจาะลูกค้ามั่งคั่ง
ไทยพาณิชย์ เล็งย่อขนาดองค์กร รับมือเศรษฐกิจชะลอจากภาษีสหรัฐฯ-หนี้ครัวเรือน ปรับลดสาขาเร่งสานต่อ Digital Banking มุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าธุรกิจ รุกบริหารความมั่งคั่ง
นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยเผชิญกับความท้าทายที่สูงขึ้นในช่วง 6 -18 เดือนข้างหน้า โดยมีปัจจัยหลักมาจากภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่ยังไม่ชัดเจนและประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกเก็บในอัตราที่สูงกว่าประเทศคู่เทียบในอาเซียน
ความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ต่อการส่งออกของไทย จะเป็นปัจจัยฉุดรั้งการเติบโตของการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เพราะไทยมีสัดส่วนส่งออกไปยังสหรัฐฯ ประมาณ 20% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศ
“ธนาคารคาดการณ์ว่า GDP ของไทยในปี 2568 จะเติบโตประมาณ 1.5% และมีความกังวลมากขึ้นว่าอาจจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค (technical recession) นอกจากนี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยจะยังคงเป็นแรงกดดันต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศและการเติบโตของสินเชื่อในภาคการธนาคาร”
นายกฤษณ์กล่าวว่า ท่ามกลางปัจจัยท้าทายเหล่านี้ธนาคารวางแผนที่จะดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังมากขึ้นตลอด 6 - 18 เดือนข้างหน้า โดยหนึ่งในแผนคือ การปรับลดขนาดการดำเนินงานลง ให้สอดคล้องกับแผนที่ธนาคารจะเร่งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในบริการธนาคาร จากเป้าหมายการมีสัดส่วนการให้บริการจากดิจิทัลแบงก์กิ้ง 25% ( Digital 25) ในปี 2568
“หากบรรลุแผน Digital 25 ในปีนี้ จะเป็นฐานตั้งต้นในการเดินหน้าระยะถัดไปคือการย้ายบริการจากออฟไลน์สู่ออนไลน์ได้มากขึ้น ทำให้ธนาคารสามารถปรับลดขนาดของธุรกิจในบางส่วนลงได้ เช่นจำนวนสาขาที่ปัจจุบันมี 800 สาขาก็อาจจะลดลงได้อีกตามความเหมาะสม แต่ไม่มีทางที่จะไม่มีสาขาเลย ซึ่งหากกระชับองค์กรลงได้จะช่วยลดต้นทุน ลดอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ (cost-to-income ratio) ลงได้อีก หลังจากที่ลดลงมาอยู่ที่ 36.8% ในไตรมาสแรกของปีนี้แล้ว”
นอกจากนี้ จะหันมาเน้นในธุรกิจลูกค้ารายใหญ่ (corporate banking) เน้นการเติบโตสินเชื่อกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) แบบเลือกกลุ่มเป้าหมาย เน้นรักษาการเติบโตของสินเชื่อที่อยู่อาศัย รวมทั้งธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (wealth management)