อลังการแห่เทียนพรรษา อุบลราชธานี
เมื่อย่างเข้าสู่ช่วงเทศกาลเข้าพรรษา กลิ่นอายของความศรัทธาก็เริ่มอบอวลไปทั่วทุกภูมิภาคของไทย โดยเฉพาะ “การแห่เทียนพรรษา” หนึ่งในประเพณีสำคัญที่พุทธศาสนิกชนร่วมกันสืบสานมายาวนาน ด้วยความตั้งใจในการถวายเทียนพรรษาแด่พระภิกษุสงฆ์ เพื่อใช้เป็นแสงสว่างในการปฏิบัติธรรมตลอดช่วงจำพรรษา 3 เดือน
ท่ามกลางงานแห่เทียนที่จัดขึ้นทั่วประเทศ หนึ่งในเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ ต้องมีชื่อของ “ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา จ.อุบลราชธานี” งานบุญประจำปีที่สะท้อนความศรัทธาผ่านขบวนรถเทียนแกะสลักสุดตระการตา ถ่ายทอดศิลปะและภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างวิจิตรบรรจง โดยช่างฝีมือท้องถิ่นของคุ้มวัดต่างๆ ที่ร่วมกันรังสรรค์ผลงาน พร้อมขบวนฟ้อนรำอ่อนช้อย การแต่งกายพื้นเมือง และเสียงดนตรีที่ขับกล่อมไปทั่วเมือง สร้างบรรยากาศอันเปี่ยมชีวิตชีวาและอบอวลด้วยสีสันของวัฒนธรรม นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การไปเยือนสักครั้ง
ก่อนจะกลายมาเป็นหนึ่งในงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ระดับประเทศ ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี มีจุดเริ่มต้นย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2444 ในสมัยที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองอุบลฯ ชาวบ้านจะร่วมกันหล่อเทียน ตกแต่งอย่างเรียบง่ายด้วยกระดาษจังโก ติดบนลำไม้ไผ่ มัดกับปี๊บน้ำมันก๊าด พร้อมถวายแด่พระสงฆ์เพื่อใช้เป็นแสงสว่างตลอดการจำพรรษา 3 เดือน โดยแห่ไปวัดด้วยเกวียนหรือล้อเลื่อนแบบพื้นบ้าน แม้ยังไม่มีการประกวด แต่ก็มีการกล่าวขานถึงต้นเทียนที่สวยงามของแต่ละคุ้มวัด
ต่อมา งานแห่เทียนได้พัฒนาเป็นงานบุญระดับเมือง โดยจัดประกวดต้นเทียนที่บริเวณทุ่งศรีเมือง ชาวบ้านร่วมมือกับช่างฝีมือประดับตกแต่งต้นเทียนอย่างวิจิตร งานจึงค่อย ๆ เติบโตจากระดับชุมชนสู่ความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และคุ้มวัดต่างๆ กระทั่งปี พ.ศ. 2519 จังหวัดอุบลราชธานีได้เชิญองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อ.ส.ท.) มาร่วมสังเกตการณ์ และในปีถัดมาได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการให้จัดเป็นงานประเพณีระดับประเทศโดยเฉพาะในช่วงปีท่องเที่ยวไทย (Amazing Thailand 2541–2542) งานแห่เทียนพรรษาได้รับการโปรโมทในระดับนานาชาติ กลายเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมไทยที่งดงามและทรงคุณค่า เป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน
เราได้มีโอกาสเดินทางมาเยือนจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อร่วมสัมผัสกับความยิ่งใหญ่ของงานประเพณีแห่เทียนพรรษาด้วยตัวเอง ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา บรรยากาศทั่วเมืองเต็มไปด้วยความคึกคักสองข้างทางของบริเวณรอบทุ่งศรีเมืองเต็มไปด้วยผู้คนที่มาจับจองพื้นที่เพื่อชมขบวน ซึ่งในปีนี้มีขบวนเทียนพรรษากว่า 40 ต้น มีทั้งเทียนโบราณ เทียนติดพิมพ์ และเทียนแกะสลัก พร้อมขบวนฟ้อนรำกว่า 35 ขบวน จากคุ้มวัดและสถานศึกษาทั่วจังหวัด
หามุมเหมาะๆ ชมขบวนแห่เทียนพรรษา(กลางวัน) จากคุ้มวัดต่าง ๆ ทั้งวัดมหาวนาราม วัดไชยมงคล วัดแจ้ง วัดบูรพา วัดพระธาตุหนองบัว วัดศรีประดู่ วัดสุปัฏนาราม วัดผาสุการาม ซึ่งยาวสุดสายตา ขบวนเทียนแกะสลัก เทียนพิมพ์ และเทียนโบราณ มีลวดลายของทั้งพระพุทธรูป ครุฑ เทวดา นางฟ้า พญานาค ละเอียดงดงาม และขบวนนางรำหน้าขบวนเทียนจากโรงเรียน หน่วยงาน และสมาคมต่างๆ ที่แต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองสีสันสดใส ร่ายรำอย่างอ่อนช้อยไปตามจังหวะดนตรีพื้นถิ่น สร้างความสนุกสนานให้กับผู้มาเข้าชม
เมื่อฟ้ามืด เมืองอุบลราชธานีก็เปลี่ยนบรรยากาศสู่ความงดงามในอีกมิติหนึ่งที่ชวนหลงใหล เพราะในค่ำคืนนี้เปล่งประกายด้วยแสงสีของการจัดงาน VIJIT GASTRONOLIGHT @อุบลราชธานีศรีศิลป์ ที่เนรมิตเมืองอุบลฯ ให้สว่างไสวราวกับเมืองแห่งความฝัน ภายใต้แนวคิด “วิจิตรแสงศรัทธา เมืองธรรมรุ่งเรือง” แสงไฟหลากสีถูกออกแบบอย่างร่วมสมัย ผสานเข้ากับเรื่องราวของศรัทธา ความเชื่อ และวัฒนธรรมของชาวอุบลฯ ได้อย่างลงตัว
ค่ำคืนนี้เรายังได้ชมความงดงามของขบวนแห่เทียนพรรษากันอีกรอบ ที่แตกต่างจากช่วงกลางวันอย่างชัดเจน แสงไฟจากดวงไฟหลากสีที่ประดับประดาอยู่บนขบวนแห่ รวมถึงในพื้นที่โดยรอบ แสงจากดวงไฟสว่างไสวทำให้เทียนที่ถูกแกะสลักดูโดดเด่นราวกับมีชีวิต
งาน VIJIT GASTRONOLIGHT @อุบลราชธานีศรีศิลป์ ได้จัดขึ้นครอบคลุมพื้นที่สำคัญของเมืองอุบลราชธานีถึง 11 จุด ภายในงานมีการแสดง แสง สี ด้วยเทคนิคใหม่ ผสมผสานกับการสร้างสีสันบรรยากาศยามค่ำคืนให้กับสถานที่สำคัญ ๆ ของจังหวัดอุบลราชธานี ด้วยนวัตกรรมแสง สี เสียง และสื่อประสมที่ทันสมัย หรือแนว Projection Mapping & Lighting เชื่อมโยงวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้ากับศิลปะร่วมสมัยอย่างสร้างสรรค์
เราเดินทางมาถึงจุดที่ 1 “แสงเทียนศรีอุบล รวมใจศรัทธา” ณ อภิมหาเทียนพรรษาเฉลิมพระเกียรติ กลางสวนทุ่งศรีเมือง เมื่อเดินเข้าไปจะพบกับเทียนพรรษาแกะสลักขนาดใหญ่ที่งดงามอลังการ รายล้อมด้วยแสงไฟที่สาดสีสวยระยิบระยับ และไม่ไกลกันมากนักคือ จุดที่ 2 “บัวงามกลางศรีศิลป์ ศรีแผ่นดินอีสาน” ณ สนามหญ้า ในทุ่งศรีเมือง ซึ่งดอกบัวถือเป็นสัญลักษณ์ของเมืองอุบล
จุดที่ 3 “แสงแห่งแผ่นดิน ถิ่นตำนานอุบล” ณ อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี มีดอกบัวพริ้วไหวบนผนังอย่างงดงาม ส่วนจุดที่ 6 “หอธรรมเรืองรอง ทองแห่งธรรม” ณ หอไตรปิฎกกลางน้ำ วัดทุ่งศรีเมือง หอไตรในยามค่ำคืนสวยงามจับตาด้วยแสงไฟหลากสีสันที่ส่องฉายลงบนสถาปัตยกรรมไม้ทรงไทยอย่างวิจิตร พร้อมควันสโมกที่พวยพุ่งออกมาเบา ๆ ยิ่งเพิ่มบรรยากาศให้ดูขลังมาหขึ้น
มาถึงจุดที่ 9 “วนาแสงวิมุตติพุทธศิลป์” ณ วัดมหาวนาราม พระอารามหลวง บรรยากาศยามค่ำคืนเต็มไปด้วยแสงสีอันสวยงาม ด้านหน้าพระวิหารมีการฉาย Projection Mapping & Lighting เป็นภาพดอกบัวบาน พริ้วไหวเคลื่อนไหวจากหน้าบันไหลลงมาสู่พื้น สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวที่มาร่วมเวียนเทียนในวันอาสาฬหบูชา นอกจากได้สืบสานประเพณีอันดีงามแล้ว ยังได้เก็บภาพความงดงามของแสงและศิลป์ไว้เป็นความทรงจำอีกด้วย
ความสวยงามที่น่าชมยังมีจุดที่ 4 “ไทรศิลป์แสงเงา เล่าขานเมือง” ณ ต้นไทรย้อย อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี จุดที่ 5 “Hi Light : PROJECTION MAPPING การแสดง แสงสุปัฏธรรมบูชาแห่งอุบล” ณ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร, จุดที่ 7 “ผดุงแสงสาร สื่อศิลป์เมือง” ณ ตึกโรงพิมพ์ผดุงสาร, จุดที่ 8 “ทองศิลป์วิจิตรศรี” ณ ห้างทองสินประเสริฐ, จุดที่ 10 “หลวงธรรมล้ำค่า แสงศรัทธาเหนือกาล” ณ วัดหลวงอุบลราชธานี และ จุดที่ 11 “แสงอุ่นละไม ปลายทางแห่งศิลป์” ณ ตึกเหลือง
สำหรับกำหนดการกิจกรรมในงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา จ.อุบลราชธานี ประจำปี 2568 วันที่ 4 กรกฎาคม – 15 สิงหาคม 2568 ชม Amazing ทุ่งดอกเทียนเรืองแสง ณ สวนสัตว์อุบลราชธานี, 13 – 31 กรกฎาคม 2568 ชมเทียนอุบล ยลได้ตลอดเดือน ณ วัดพระธาตุหนองบัว และงาน VIJIT GASTRONOLIGHT @อุบลราชธานีศรีศิลป์ สามารถเข้าชมได้ในวันที่ 7-16 กรกฎาคม 2568 เวลา 18.00-23.00 น.