4 เหตุผลเบื้องหลัง เศรษฐกิจสหรัฐไม่แย่ แม้เจอภาษีทรัมป์
เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศนโยบายภาษีนำเข้าในวัน "Liberation Day" เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2025 ที่ผ่านมา เสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังก้องทั่วแวดวงเศรษฐกิจ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่พากันคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอเมริกาจะตกต่ำ ตลาดหุ้นจะพังทลาย และอัตราเงินเฟ้อจะทะยาน
แต่เมื่อเวลาผ่านมาสามเดือน ภาพที่เกิดขึ้นกลับตรงข้ามกับการคาดการณ์ ดัชนี S&P 500 กลับขึ้นมาทำสถิติใหม่อีกครั้ง ราคาสินค้าในร้านค้าไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง และอัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ
คำถามสำคัญจึงเกิดขึ้น จริงๆ แล้วทรัมป์คิดถูกใช่ไหม? หรือสิ่งที่เกิดขึ้นมีเหตุผลอื่นรองรับ?
บทวิเคราะห์ของดิอีโคโนมิสต์ ระในบทความ “How America’s economy is dodging disaster” เผยแพร่เมื่อวันที่ 6 ก.ค. ว่า เหตุผลที่แท้จริงเบื้องหลังไม่ใช่เพราะนโยบายดี แต่เพราะมี “เครื่องกันกระแทก” ทั้งหมด 4 ประการด้วยกัน
1. ธุรกิจปรับตัว สต็อกของ
สิ่งที่ช่วยให้เศรษฐกิจอเมริกาผ่านพ้นช่วงวิกฤตไปได้คือการเตรียมตัวล่วงหน้าของภาคธุรกิจ บริษัทต่างๆ ได้เก็บสต็อกสินค้านำเข้าไว้เป็นจำนวนมหาศาลก่อนที่ภาษีนำเข้าจะมีผลบังคับใช้จริง การนำเข้าในปริมาณมากนี้ทำให้ตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรกติดลบ แต่กลับกลายเป็นเครื่องกันกระแทกในช่วงหลัง
ปัจจุบันธุรกิจต่างๆ ยังคงใช้สต็อกเก่าอยู่ ยังไม่จำเป็นต้องรับผลกระทบจากภาษีนำเข้าอย่างเต็มที่ แต่เมื่อสต็อกเหล่านี้หมดลง ธุรกิจจะต้องเผชิญกับความจริงที่ว่าต้องจ่ายภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น
2. ธุรกิจรับภาระเอง-ไม่ผลักให้ผู้บริโภค
อีกเหตุผลสำคัญคือธุรกิจส่วนใหญ่เลือกที่จะรับภาระภาษีนำเข้าเอง แทนที่จะขยายต้นทุนไปให้ผู้บริโภค ทั้งนี้เพราะผู้บริหารหลายคนคิดว่าทรัมป์อาจเปลี่ยนใจ หากยกราคาแล้วต้องลดราคาทีหลัง จะเสียลูกค้า
ผลลัพธ์คือราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเพียง 1-2% ทั้งที่ภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 12% ซึ่งต้องใช้ "กล้องจุลทรรศน์ทางเศรษฐกิจ" ถึงจะสามารถมองเห็นผลกระทบได้
3. นโยบายพักภาษีชั่วคราว-ซื้อเวลาได้
การที่ทรัมป์ประกาศพักการเก็บภาษีนำเข้า 90 วันหลังจากวันประกาศ และขยายเวลาออกไปอีกจากวันที่ 9 ก.ค. เป็น 1 ส.ค. ทำให้ทุกฝ่ายเข้าสู่โหมด "รอดู" ความไม่แน่นอนนี้กลับช่วยทำให้ตลาดสงบลงได้
4. เศรษฐกิจแข็งแกร่งเป็นพื้นฐาน
อีกหนึ่งปัจจัยคือเศรษฐกิจอเมริกาเติบโตอย่างต่อเนื่อง 2-3% ต่อปีตั้งแต่ปี 2022 ความแข็งแกร่งพื้นฐานนี้ทำให้สามารถรับมือกับแรงกระแทกจากภาษีนำเข้าได้ในระยะสั้น โดยไม่ตกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
บทวิเคราะห์ของดิอีโคโนมิสต์ ยังระบุอีกว่า สิ่งที่น่าสนใจคือภาษีนำเข้ากลับสร้างผลกระทบที่ไม่คาดคิด โดยทำให้ราคาสินค้าบางอย่างถูกลง เนื่องจากการประกาศนโยบายทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง ส่งผลให้ความต้องการซื้อสินค้าลดลง และราคาสินค้าถูกลงตามไปด้วย
ข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่าการใช้จ่ายของครัวเรือนในเดือนพ.ค.ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนต่ำกว่าที่คาดการณ์
อนาคตยังไม่แน่นอน: ดีเดย์ 1 ส.ค.
สิ่งที่เกิดขึ้นจนถึงขณะนี้เป็นเพียงการ "หลบหลีก" ชั่วคราวเท่านั้น ความจริงคือการจับตาดูวันที่ 1 ส.ค. จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ หากทรัมป์ตัดสินใจเก็บภาษีนำเข้าเต็มรูปแบบ หรือเพิ่มมากขึ้น ผลกระทบที่แท้จริงจะเริ่มปรากฏ
การวิเคราะห์เปรียบเทียบกับกรณี Brexit แสดงให้เห็นว่าความไม่แน่นอนเพียงอย่างเดียวก็สามารถกดดันการลงทุนได้เป็นเวลาหลายปี และข้อมูลล่าสุดของ Goldman Sachs บ่งชี้ว่าการชะลอตัวปัจจุบันมีรูปแบบคล้ายคลึงกับวิกฤตที่นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอดีต
ไม่ใช่ชัยชนะ แต่ก็ไม่ใช่หายนะ
บทวิเคราะห์ของดิอีโคโนมิสต์ ระบุว่า หากจะให้สรุปสถานการณ์ครั้งนี้สั้นๆ อาจสรุปได้ว่า “ไม่ใช่ชัยชนะของทรัมป์ แต่เศรษฐกิจก็ไม่ถึงกับหายนะ” เศรษฐกิจอเมริกาหลีกเลี่ยงวิกฤตได้ในระยะสั้น ไม่ใช่เพราะนโยบายภาษีนำเข้าของทรัมป์ดี แต่เพราะเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่งพอที่จะรับมือกับนโยบายที่ไม่เหมาะสม ธุรกิจมีการเตรียมตัว และมีมาตรการพักชั่วคราวที่ช่วยซื้อเวลา
อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ในระยะยาวยังคงไม่แน่นอน หากภาษีนำเข้าดำเนินต่อไป ผลกระทบที่แท้จริงจะตามมา และอาจทำให้คนอเมริกัน “ยากจนลง” โดยที่แทบจะไม่รู้สึกตัว
สำหรับทรัมป์ สถานการณ์ปัจจุบันไม่ใช่ชัยชนะยิ่งใหญ่ที่เขาอาจอ้างได้ แต่ก็ไม่ใช่หายนะที่ฝ่ายค้านคาดการณ์ไว้ มันเป็นเพียงการที่เศรษฐกิจที่แข็งแกร่งสามารถ "หลบหลีก" ผลกระทบจากนโยบายที่ไม่เหมาะสมได้ชั่วคราวเท่านั้น
อ้างอิง: The Economist