“ดีลการค้าสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น” มีเงื่อนงำ หลังตัวเลขในเอกสารสรุปไม่ตรงกับคำประกาศของทรัมป์
ข้อตกลงการค้าระหว่าง สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น ที่ทรัมป์ประกาศว่าเป็น “ดีลครั้งประวัติศาสตร์” กลับถูกตั้งข้อสงสัย หลังภาพเอกสารสรุปบนโต๊ะทำงานในทำเนียบขาวเผยตัวเลขภาษีและเงินลงทุนไม่ตรงกับที่เขาโพสต์ใน Truth Social ทำให้เกิดความคลุมเครือว่า ข้อตกลงนี้มีผลจริงหรือเป็นเพียงกลยุทธ์การเมือง
วันที่ 23 กรกฎาคม 2568 สำนักข่าว CNBC รายงานว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศว่าสหรัฐได้บรรลุข้อตกลงการค้าครั้งใหญ่กับญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงการเก็บภาษีแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ที่อัตรา 15% และการลงทุนมูลค่าสูงถึง 550,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากฝั่งญี่ปุ่น แต่ในเวลาต่อมา ข้อมูลที่ปรากฏบนเอกสารสรุปข้อมูลบนโต๊ะทำงานของทรัมป์กลับสร้างความสับสน โดยมีรายละเอียดไม่ตรงกับคำแถลงอย่างเป็นทางการ
การประกาศข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นผ่าน Truth Social แพลตฟอร์มโซเชียลของทรัมป์เมื่อคืนวันอังคาร โดยเขาอ้างว่า “ญี่ปุ่นจะจ่ายภาษี 15% ให้กับสหรัฐ” และ “จะลงทุน 550,000 ล้านดอลลาร์ในสหรัฐซึ่งจะทำให้เกิดงานนับแสนตำแหน่ง”
อย่างไรก็ตามภาพถ่ายจากห้องประชุมทำเนียบขาวที่เผยแพร่โดยแดน สกาไวโน รองหัวหน้าคณะทำงานของทรัมป์ บนแพลตฟอร์ม X แสดงให้เห็นเอกสารสรุปข้อมูล (Cue Card) ที่ระบุรายละเอียดต่างออกไป โดยแสดงอัตราภาษีทั่วไปที่ 10% และ 15% สำหรับเฉพาะอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ ยา และเซมิคอนดักเตอร์
นอกจากนี้ตัวเลขการลงทุนที่ปรากฏดังกล่าวคือ ตัวเลข 400,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถูกขีดฆ่าและแก้เป็น 500,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ทรัมป์กลับระบุในโพสต์ว่าเป็น 550,000 ล้านดอลลาร์ โดยไม่มีคำอธิบายว่าเหตุใดตัวเลขจึงเพิ่มขึ้นอีก 50,000 ล้านดอลลาร์
ทำเนียบขาวยังไม่ออกมาแสดงความเห็นต่อคำขอของสื่อ CNBC เกี่ยวกับความไม่สอดคล้องกันระหว่างข้อมูลในโพสต์และเอกสารสรุป ขณะที่ยังไม่ชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงตัวเลขดังกล่าวเป็นผลจากการเจรจาในนาทีสุดท้าย ความผิดพลาด หรือเจตนาอื่นใด
ฮาวเวิร์ด ลัทนิค รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐ ให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg ว่าเขาเป็นผู้จัดทำข้อมูลดังกล่าวว่า “ผมเป็นคนวางบอร์ดนั้นเอง แต่ผู้ที่นั่งอยู่หลังโต๊ะ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ คือผู้นำการเจรจาตัวจริง”
ด้านสกอตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐ กล่าวเสริมว่า ญี่ปุ่นได้รับอัตราภาษี 15% สำหรับรถยนต์ที่ส่งออกมายังสหรัฐเนื่องจากให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนโครงการลงทุนในสหรัฐด้วยกลไกทางการเงินรูปแบบใหม่ เช่น การรับประกันทุนและการสนับสนุนสินเชื่อ
อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์หลายรายยังตั้งคำถามเกี่ยวกับความชัดเจนของข้อตกลง โดย Andy Laperriere หัวหน้านักวิเคราะห์นโยบายสหรัฐแห่ง Piper Sandler ชี้ว่าเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นมองการลงทุน 550,000 ล้านดอลลาร์ว่าเป็น “เพดานสูงสุด” ซึ่งรวมถึงวงเงินค้ำประกันจากภาครัฐ ไม่ใช่เม็ดเงินจริงทั้งหมด
“โดยเฉพาะเมื่อญี่ปุ่นรู้สึกว่าถูกกดดันให้ทำตามข้อตกลงนี้ พวกเขาก็น่าจะชะลอการลงทุนบางส่วน โดยเฉพาะในโครงการที่ไม่เอื้อต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนเอง”
ความไม่ชัดเจนนี้ทำให้วอลล์สตรีทสับสน แม้ตลาดโดยรวมจะตอบรับเชิงบวกกับข่าวการค้าระหว่างประเทศ แต่บรรดานักลงทุนยังรอความชัดเจนว่า ข้อตกลงนี้จะมีผลจริงเพียงใด และจะส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐและญี่ปุ่นในระยะยาวอย่างไร
อ้างอิง : www.cnbc.com
เปิดไทม์ไลน์ โดนัลด์ ทรัมป์ ป่วนโลก! สหรัฐ VS ประเทศคู่มิตร เดินเกมตอบโต้