Forbes เปิด 10 อันดับมหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2568
แม้สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในภาพรวม จะชะลอตัวหรือเติบโตช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่การเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลของทรัพย์สินในกลุ่มมหาเศรษฐีไทยใน 3 อันดับแรกส่งผลให้ให้มูลค่าทรัพย์สินรวมของกลุ่มมหาเศรษฐีในไทยพุ่งขึ้นมากกว่า 11% แตะระดับ 170.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยการจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีในไทยประจำปี 2568 ของ Forbes พบว่า“ตระกูลกระทิงแดง” (Red Bull) ที่นำโดย “เฉลิม อยู่วิทยา” ครองอันดับ 1 ติดต่อกันเป็นปีที่สอง และมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอย่างมากทำสถิติสูงสุดที่ 44.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนรายได้ของบริษัทเครื่องดื่มชูกำลังระดับโลก ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 11.2 พันล้านยูโร (หรือประมาณ 12.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2024 จากยอดขายทั่วโลกเกือบ 13,000 ล้านกระป๋อง
ขณะที่อันดับ 2 คือ พี่น้องตระกูลเจียรวนนท์ แห่งกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ ยังคงรักษาอันดับเศรษฐีอันดับ 2 ของประเทศไว้ได้ โดยมีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 23% แตะระดับ 35.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ กลุ่มซีพีกำลังเดินหน้าอย่างหนักในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล โดยร่วมลงทุน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐกับบริษัท BlackRock เพื่อสร้างศูนย์ข้อมูล (Data Centers) ขณะเดียวกัน บริษัทในเครือด้านฟินเทคอย่าง Ascend Money ก็เพิ่งได้รับการอนุมัติให้จัดตั้งธนาคารเสมือน (Virtual Bank) ด้วย
ขณะที่ “สารัชถ์ รัตนาวะดี” นักธุรกิจพลังงานและโทรคมนาคม ขยับขึ้นสองอันดับ ขึ้นมาอยู่ในอันดับ 3 เป็นครั้งแรก ด้วยทรัพย์สินสุทธิ 12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากการควบรวมระหว่างบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และ อินทัช โฮลดิ้งส์ เสร็จสิ้นสมบูรณ์ และนำบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อ “Gulf Development” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อเดือนเมษายน ซึ่งเป็นแรงส่งสำคัญที่ผลักดันทรัพย์สินของเขาให้เพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น
อันดับที่ 4 คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี และครอบครัว มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิทรงตัวอยู่ที่ 10.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อยู่อันดับที่ 4 โดยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีการโอนหุ้นบางส่วนให้กับทายาททั้งห้าคน แต่ในฐานะผู้ก่อตั้งกลุ่มทำให้ทรัพย์สินยังคงถูกรวบรวมในชื่อของคุณเจริญ
อันดับที่ 5 คือ ตระกูลจิราธิวัฒน์ แห่งอาณาจักรเซ็นทรัล ซึ่งขณะนี้ภาคค้าปลีกยังคงเผชิญกับภาวะความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อ่อนแอ ส่งผลให้ทรัพย์สินของตระกูลจิราธิวัฒน์ลดลง 13% เหลือ 8.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามกลุ่มเซ็นทรัลได้พันธมิตรใหม่ คือ กองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะแห่งซาอุดีอาระเบีย (Public Investment Fund) ที่เข้าซื้อหุ้น 40% ของห้างหรู Selfridges จาก Signa Holdings ของออสเตรีย (โดยกลุ่มเซ็นทรัลยังคงถือหุ้นอีก 60%)
อันดับที่ 6 ตระกูลไชยวรรณ
ทรัพย์สินสุทธิ: 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
อุตสาหกรรม: การเงินและการลงทุน
อันดับที่7 อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา และครอบครัว
ทรัพย์สินสุทธิ: 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
อุตสาหกรรม: แฟชั่นและค้าปลีก
อันดับที่8 ประเสริฐ ปราสาททองโอสถ
ทรัพย์สินสุทธิ: 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
อุตสาหกรรม: ธุรกิจสุขภาพ
อันดับที่9 เสถียร เศรษฐสิทธิ์
ทรัพย์สินสุทธิ: 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
อุตสาหกรรม: อาหารและเครื่องดื่ม
อันดับที่10 พรเทพ พรประภา และครอบครัว
ทรัพย์สินสุทธิ: 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
อุตสาหกรรม: ยานยนต์
เรื่องน่ารู้ อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ติดอันดับที่ 11 เศรษฐีไทย ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
สรุปการจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทยในปี 2568 นี้มีผู้ติดอันดับ 19 รายที่มูลค่าทรัพย์สินลดลง โดยในจำนวนนี้รวมถึง “เจ้าพ่อกาแฟ” ประยุทธ มหากิจศิริ ซึ่งได้รับผลกระทบหลังจากกลุ่ม PM ที่เขาก่อตั้งมายาวนาน ยุติการร่วมทุนกับเนสท์เล่
นอกจากนี้ ยังมีมหาเศรษฐี 2 รายที่ถึงแก่อสัญกรรมหลังการจัดอันดับครั้งก่อน ได้แก่ “วนิช ไชยวรรณ” อดีตประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ของบริษัทไทยประกันชีวิต และ “พงษ์ศักดิ์ วิทยากร” ผู้ร่วมก่อตั้งเครือโรงพยาบาลกรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) ซึ่งภายหลังได้ขยายธุรกิจสุขภาพภายใต้บริษัท Principal Capital โดยทรัพย์สินของทั้งสองท่านได้ถูกเปลี่ยนไปแสดงภายใต้ชื่อของ “ครอบครัวไชยวรรณ” และ “ครอบครัววิทยากร” ตามลำดับ
แม้ว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของทรัพย์สินสุทธิในการติดอันดับมหาเศรษฐีปีนี้ลดลงเหลือ 420 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปีก่อนที่อยู่ที่ 550 ล้านดอลลาร์ แต่ก็ยังมีมหาเศรษฐีถึง 4 รายที่หลุดจากการจัดอันดับไป โดยหนึ่งในผู้ที่น่าจับตามองคือ “สมโภชน์ อาหุนัย” เจ้าของธุรกิจพลังงานหมุนเวียน EA ซึ่งบริษัทกำลังเผชิญกับปัญหาด้านการเงิน
สำหรับการจัดทำอันดับมหาเศรษฐีของ Forbes ได้ถูกรวบรวมขึ้นจากข้อมูลเกี่ยวกับการถือหุ้นและข้อมูลทางการเงิน ซึ่งได้รับจากครอบครัวและบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ นักวิเคราะห์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหน่วยงานกำกับดูแลต่าง ๆ
สำหรับทรัพย์สินที่เป็นหลักทรัพย์ในตลาด (public fortunes) จะคำนวณจากราคาหุ้นและอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 13 มิถุนายน ขณะที่ทรัพย์สินในบริษัทเอกชนจะประเมินมูลค่าโดยอ้างอิงจากการเปรียบเทียบกับบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์
ที่มา : Forbes