สามเณรี คือใคร เส้นทางนักบวชหญิง ทำไมยากกว่าผู้ชาย ต้องถือศีลกี่ข้อ
ย้อนประวัติศาสตร์ สามเณรี นักบวชหญิง ตามพระวินัย แตกต่างจาก แม่ชี อย่างไร พบด่านทดสอบสุดเข้มข้น 2 ปีเต็ม ที่สตรีต้องผ่านก่อนอุปสมบท คุณสมบัติเบื้องต้นและศีล 10 ข้อ
ในเส้นทางแห่งการสละโลกของสตรีในพระพุทธศาสนา มีลำดับขั้นที่ชัดเจนและลึกซึ้ง โดยมีจุดเริ่มต้นที่สำคัญคือการเป็น สามเณรี ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่าหน่อเนื้อของสมณะ หรือ สามเณรผู้หญิง ถือเป็นบันไดก้าวแรกสุดสำหรับสตรีทุกคนผู้มีจิตศรัทธาแรงกล้าและปรารถนาจะอุปสมบทเป็นพระภิกษุณีในอนาคต
ประวัติ “สามเณรี” ในสมัยพุทธกาล
บทบาทของสามเณรีนั้นถือกำเนิดขึ้นควบคู่มากับการที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สตรีบวชเป็นภิกษุณีได้นั่นเอง เพราะตามพระวินัยแล้ว สตรีจะต้องผ่านการบวชเป็นสามเณรีเพื่อถือศีล 10 ข้อให้บริสุทธิ์เสียก่อน หลักฐานจากคัมภีร์ยังชี้ให้เห็นว่า ในช่วงเวลาเพียง 6 พรรษาหลังการตรัสรู้ ก็มีสามเณรีปรากฏอยู่ในพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมากแล้ว
น่าเสียดายที่ภายหลังพุทธปรินิพพาน คณะภิกษุณีสงฆ์ในสายเถรวาท (เช่นในลังกาและไทย) ได้ขาดช่วงและสูญสิ้นไปจากภัยสงครามและความไม่มั่นคงทางการเมือง เมื่อไม่มีภิกษุณีผู้เป็นอุปัชฌาย์ การบวชสามเณรีและภิกษุณีสายเถรวาทจึงต้องยุติลงเป็นเวลาหลายร้อยปี
แต่ด้วยพลังศรัทธาของสตรีที่ต้องการปฏิบัติธรรม จึงเกิดรูปแบบของ “แม่ชี” ขึ้นมาทดแทน ซึ่งก็คือสตรีที่ครองเพศบรรพชิตด้วยการนุ่งขาวห่มขาวและถือศีล 8 หรือ 10 ข้อ อย่างไรก็ตาม สถานะของแม่ชีนั้นถือเป็นอุบาสิกาหรือคฤหัสถ์ผู้ถือศีล ไม่ใช่นักบวชโดยสมบูรณ์เหมือนสามเณรี เพราะไม่ได้ผ่านพิธีบรรพชาอย่างเป็นทางการ
ความพยายามในการฟื้นฟูการบวชสตรีสายเถรวาทได้กลับมาอีกครั้งในยุคปัจจุบัน โดยมีจุดเริ่มต้นครั้งประวัติศาสตร์ที่ประเทศศรีลังกาในปี พ.ศ. 2514 ซึ่งได้มีการฟื้นฟูคณะภิกษุณีสงฆ์เถรวาทขึ้นอีกครั้ง
สำหรับประเทศไทย การกลับมาของนักบวชหญิงเริ่มต้นจากสายมหายานโดย ภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ และในสายเถรวาทโดย ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ (ปัจจุบันคือ พระภิกษุณีธัมมนันทา) ซึ่งท่านได้เดินทางไปบรรพชาเป็นสามเณรีที่ศรีลังกาเมื่อปี พ.ศ. 2544 และอุปสมบทเป็นภิกษุณีในอีกสองปีต่อมา ถือเป็นการจุดประกายความหวังให้กับการบวชสตรีในไทยอีกครั้ง
ขณะที่ในสายมหายาน (เช่น จีน, ไต้หวัน, เกาหลี, เวียดนาม) การสืบทอดคณะภิกษุณีสงฆ์ไม่เคยขาดสาย ทำให้การบวชสามเณรีและภิกษุณียังคงดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องและเป็นที่ยอมรับในสังคมมาจนถึงปัจจุบัน
เงื่อนไขและข้อปฏิบัติบนเส้นทางแห่งธรรมของ “สามเณรี”
เส้นทางสู่การเป็น สามเณรี หรือสามเณรหญิงในพระพุทธศาสนานั้น มีความคล้ายคลึงกับฝ่ายชายในหลักการพื้นฐาน แต่ก็มีรายละเอียดและขั้นตอนที่แตกต่างและซับซ้อนกว่าอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงบริบททางสังคมในสมัยพุทธกาล
คุณสมบัติเบื้องต้นและศีล 10 ข้อ
สำหรับสตรีผู้ที่ประสงค์จะบวชเป็นสามเณรีนั้น โดยทั่วไปต้องมีอายุมากพอที่จะดูแลตนเองได้ (ราว 7-8 ปีขึ้นไป) และที่สำคัญคือต้องได้รับอนุญาตจากบิดามารดาหรือสามีเสียก่อน เมื่อเข้าสู่พิธีบรรพชาแล้ว สามเณรีจะต้องสมาทานถือ ศีล 10 ข้อ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติชุดเดียวกันกับสามเณรชายทุกประการ ครอบคลุมตั้งแต่การไม่เบียดเบียนชีวิต, การไม่ลักทรัพย์, การประพฤติพรหมจรรย์, ไปจนถึงการงดเว้นจากสิ่งมึนเมาและการรับเงินทอง
- เว้นจากการฆ่าสัตว์
- เว้นจากการลักทรัพย์ (ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้)
- เว้นจากการประพฤติผิดพรหมจรรย์ (การเสพเมถุน)
- เว้นจากการพูดเท็จ
- เว้นจากการดื่มสุราเมรัยและของมึนเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
- เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล (หลังเที่ยงวันไปจนถึงรุ่งเช้าของอีกวัน)
- เว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการละเล่นที่เป็นข้าศึกต่อกุศล
- เว้นจากการทัดทรงดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ และเครื่องประดับตกแต่งร่างกาย
- เว้นจากการนอนบนที่นอนสูงใหญ่และที่นอนอันโอ่อ่า
- เว้นจากการรับทองและเงิน
ขั้นตอนการ อุปัชฌาย์
จุดแตกต่างที่สำคัญที่สุดเริ่มต้นที่นี่ การบวชสามเณรีจะต้องมี พระภิกษุณี ผู้มีพรรษาอย่างน้อย 12 พรรษาขึ้นไปมาทำหน้าที่เป็น “ปวัตตินี” หรือพระอุปัชฌาย์ฝ่ายหญิง ซึ่งแตกต่างจากฝ่ายชายที่พระภิกษุสามารถบวชให้สามเณรได้โดยตรง
นอกจากนี้ เส้นทางของสตรียังมีความซับซ้อนกว่า กล่าวคือ ไม่ว่าผู้หญิงจะอายุเท่าใดก็ตาม หากต้องการบวชเป็นภิกษุณี จะต้องเริ่มต้นจากการเป็นสามเณรี, ผ่านการเป็น สิกขมานา (ผู้ถือศีล 6 ข้ออย่างเคร่งครัดเป็นเวลา 2 ปี) แล้วจึงจะสามารถอุปสมบทเป็นภิกษุณีได้ ซึ่งต่างจากฝ่ายชายที่หากอายุเกิน 20 ปี ก็สามารถบวชเป็นพระภิกษุได้ทันที
รากฐานแห่งข้อปฏิบัติ ครุธรรม 8 ประการ
แม้ในชั้นสามเณรีจะถือศีลเท่ากับสามเณร แต่เส้นทางสู่การเป็นภิกษุณีนั้นถูกกำกับด้วยหลักปฏิบัติเพิ่มเติมที่เรียกว่า “ครุธรรม 8 ประการ” ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ในการอนุญาตให้สตรีบวชในครั้งแรก
โดยหลักการสำคัญของครุธรรมคือการกำหนดให้ภิกษุณีต้องมีความอ่อนน้อมและอยู่ภายใต้การดูแลของคณะสงฆ์ฝ่ายภิกษุ เช่น ต้องให้ความเคารพพระภิกษุแม้จะบวชใหม่กว่า หรือต้องฟังโอวาทจากพระภิกษุทุกกึ่งเดือน เป็นต้น ซึ่งข้อกำหนดเหล่านี้ได้สะท้อนบริบททางสังคมในยุคนั้น และยังคงถูกใช้อ้างอิงในการจัดระบบของคณะสงฆ์มาจนถึงปัจจุบัน
ส่วนสามเณรีคนล่าสุดในไทย ที่ได้รับการบรรพชาและตกเป็นข่าวใหญ่ที่สุด คือ เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ นักแสดงชื่อดัง ซึ่งเข้าพิธีบรรพชาเมื่อเช้ามืด 1 กรกฎาคม 2568 ที่ศูนย์ปฏิบัติธรรม ศรีวรญาลัย อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี ในโครงการบวชสามเณรี รุ่น 3 ธรรมวิจิตร เธอได้รับฉายาทางธรรมว่า “ธัมมกัลยาณี” แปลว่า ผู้มีความงามทางธรรม
เปิดภาพสามเณรี เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ หลังโกนผม-ห่มผ้าเหลือง รับบาตรญาติโยมครั้งแรก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ เข้าพิธีบวชสามเณรี ได้รับฉายาทางธรรม “ธัมมกัลยาณี” ผู้มีความงามทางธรรม
- เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ ปลงผมบวชสามเณรีแล้ว ที่ศรีลังกา แฟนๆ ร่วมอนุโมทนาบุญ
อ้างอิง : กัลยาณมิตร, สุขภาพคนไทย