นักวิชาการ แนะทางออกจากความล้มเหลวทางการเมืองไทย สร้างกระบวนการสู่การปฏิรูปโปร่งใส
14 ก.ค.2568-นายกมล กมลตระกูล นักวิชาการอิสระ โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “ทางออกจากความล้มเหลวทางการเมืองไทย” ระบุว่า ประเทศถึงทางตัน กลายเป็นประเทศที่ล้มเหลว เหลวแหลกในทุกด้าน ซึ่งมีการคอรัปชั่นทุกระดับ แม้แต่ในสถาบันศาสนา และไร้ศักดิ์ศรีในสายตาของนานาชาติ และสื่อนานาชาติ
ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่มั่นคงทางการเมืองในประเทศไทยเป็นความท้าทายที่ซับซ้อน ต้องแก้ไขทั้งระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไปพร้อมกัน ทางออกที่อาจช่วยให้สังคมไทยหลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์นี้ได้ ก็ด้วย:แนวนโยบายพื้นฐานของรัฐที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับก้าวหน้าที่ควรจะร่างขึ้นใหม่มีดังต่อไปนี้
1. ปฏิรูปการเมือง: สร้างระบบที่โปร่งใสและมีส่วนร่วม
1.1 ร่างรัฐธรรมนูญใหม่มาใช้แทนรัฐธรรมนูญปี 60 ที่จากการรัฐประหารของ ค.ส.ช.
1.2 ลดอำนาจรัฐบาลผูกขาด: ปรับปรุงระบบเลือกตั้งให้เป็นการเลือกตั้งทางตรงทั้งระบบตั้งแต่ระดับชาติ ถึงระดับท้องถิ่น คือการเลือกนายกรัฐมนตรี รวมทั้งคณะรัฐมนตรี และผู้ว่าราชการจังหวัด ทางตรง
1.3 ลดจำนวน ส.ส.ให้เหลือจังหวัดละ 4 คน ยกเลิกวุฒิสภา เพราะฝ่ายบริหารมาจากการเลือกตั้งทางตรง สภาเดียวจึงทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหารได้เพียงพอแล้ว
1.4 กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น: ให้จังหวัด/ชุมชนมีอำนาจตัดสินใจเรื่องงบประมาณ เก็บภาษีท้องถิ่นเอง ไม่ต้องส่งเข้าส่วนกลาง มีอำนาจกำหนดนโยบายสาธารณะ และทรัพยากรในพื้นที่
1.5 ปฏิรูปกองทัพให้เล็ก มีประสิทธิภาพ เป็นมืออาชีพ ใช้นโยบายพึ่งตัวเองในด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ ตัดงบซื้ออาวุธต่างชาติมาใช้ในการวิจัยและพัฒนา และการผลิต รวมทั้งส่งเสริมเอกชนผลิตอาวุธป้อนให้กองทัพ
1.6 ปฏิรูปสถาบันตุลาการ: เน้นความเป็นกลางทางการเมือง โปร่งใส และตรวจสอบได้ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจแค่ตีความกฎหมาย แต่ไม่มีอำนาจบังคับ โดยใช้กลไกของรัฐสภา และองค์กรอิสระเป็นผู้บังคับใช้
1.7 บังคับใช้กฎหมายต่อต้านการทุจริตอย่างจริงจัง: เพิ่มโทษประหารชีวิต เสริมอำนาจ ป.ป.ช. และองค์กรอิสระอย่างให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีความรับผิด (Accountability) ต่อหน้าที่
2. ปฏิรูปเศรษฐกิจ: ลดความเหลื่อมล้ำด้วยนโยบายปฏิรูปเชิงโครงสร้าง
2.1 ปฏิรูประบบภาษีก้าวหน้า: เพิ่มภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สิน และภาษีรายได้กลุ่มผู้มีรายได้สูง และภาคธุรกิจ ใช้รายได้นี้พัฒนาสวัสดิการสังคม
2.2 ปฏิรูป และเพิ่มรัฐวิสาหกิจ ให้รับใช้ประเทศและประชาชน ไม่ใช่เพื่อค้ากำไร สร้างระบบธรรมาภิบาลให้มีการตรวจสอบจากสังคมและหน่วยงานตรวจสอบ ( ระบบของจีน)
2.3 ขยายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า: เช่น สาธารณสุขฟรีทั่วถึง เพิ่มศูนย์บริการสาธารณสุข(สถานอนามัย) ในทุกจังหวัดและอำเภอ อย่างมีคุณภาพและสวัสดิภาพ เพิ่มบำนาญผู้สูงอายุ ที่อยู่อาศัยราคาถูก โดยใช้ภาษีท้องถิ่น บวกกับภาษีจากส่วนกลาง แบบระบบอเมริกัน
2.4 ยกระดับแรงงานและเกษตรกร ส่งเสริมการทำการเกษตรแบบทันสมัย เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำตามความเป็นจริง ปรับปรุงสวัสดิการแรงงาน สนับสนุนระบบสหกรณ์การเกษตรทั้งด้านการผลิตและการขาย และสร้างอำนาจการต่อรองในด้านราคา
2.5 ส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งระบบบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย ลดการผูกขาดทางเศรษฐกิจ: ปรับกฎหมายแข่งขันทางการค้า สนับสนุน SME และเศรษฐกิจชุมชน
2.6 สร้างระบบอินเตอร์เนตของรัฐฟรี (ใช้รายได้จากรัฐวิสาหกิจ)
3. ปฏิรูปการศึกษา: สร้างโอกาสที่เท่าเทียม
3.1 ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา: ใช้งบประมาณเท่าเทียมระหว่างโรงเรียนรัฐ-เอกชนในเมืองและชนบท
3.2 เรียนฟรีจนถึงระดับอุดมศึกษา: รวมถึงพัฒนาทักษะอาชีพตามความต้องการตลาด
3.3 ส่งเสริมการศึกษาเชิงวิพากษ์ ปลูกฝังความเป็นพลเมือง ที่มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ผลประโยชน์ของสาธารณะและสิ่งแวดล้อม
3.4. สร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยเพื่อสังคม ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมือง: ใช้กลไกประชาพิจารณ์ (Public Hearing) และการลงประชามติในประเด็นสำคัญทั้งของระดับพื้นที่ ท้องถิ่น และระดับชาติ
3.5 พัฒนาสื่อสาธารณะอิสระ: สนับสนุนสื่อที่ตรวจสอบอำนาจและให้ข้อมูลรอบด้าน
3.6 ส่งเสริมการเจรจาระหว่างกลุ่มการเมืองที่ขัดแย้ง: สร้างพื้นที่กลางสำหรับการแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติวิธี
5. แก้ไขปัญหาความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง
5.1 ปฏิรูปที่ดิน: แก้ปัญหาการถือครองที่ดินกระจุกตัวด้วยระบบภาษีที่ดินแบก้าวหน้าเป็นขี้นบันไดตามจำนวนที่ถือครอง ส่งเสริมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร
5.2 รับรองความหลากหลายทางวัฒนธรรม: เคารพสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์และความแตกต่างทางความคิด
5.3 ยุติการใช้อำนาจรัฐปราบปรามการแสดงออก รับรองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ห้ามใช้อาวุธในการควบคุมฝูงชน จัดพื้นที่อนุญาตให้ชุมนุมเสรี เช่นสนามหลวง สนามกีฬา กรีฑา
6. ปฏิรูปสถาบันศาสนา
6.1 ทรัพย์สินของวัดและเงินบริจาคต้องมีระบบบัญชีมาตรฐาน มีคณะกรรมการร่วมภาคประชาชนดูแลเงินดูและและตรวจสอบการใช้เงินของวัดให้ใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์ของชุมชน เท่านั้น ห้ามเจ้าอาวาสมีอำนาจดูแลการเงิน
6.2 ส่งเสริมวัดให้มีบทบาทในด้านให้บริการชุมชน
6.3 ยกเลิกระบบพัดยศ สมณศักดิ์แบบราชการ พระทุกองค์มีสถานะเท่ากันแบบสมัยพุทธกาล การบริหารวัดใช้ระบบองค์คณะ มีกรรมการชุมชน หรือองค์กรท้องถิ่นเข้าร่วมบริหาร
7 อุปสรรคและ ความท้าทายสำคัญ:
7.1 ความขัดแย้งเชิงอำนาจ: กลุ่มผลประโยชน์ และกลุ่มอำนาจเดิมต่อต้านการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทุกวิถีทาง
7.2 การแบ่งขั้วทางสังคม: ต้องใช้เวลาในการสร้างความไว้วางใจระหว่างกลุ่มต่างๆในภาคเอกชน ภาคเอ็นจีโอ และประชาชนทั่วไป
7.3 บริบทระหว่างประเทศ: เศรษฐกิจโลกและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศส่งผลต่อเสถียรภาพไทย หากประเทศไทยดำเนินนโยบายที่ขัดประโยชน์กับมหาอำนาจ
บทสรุป:
ทางออกที่ยั่งยืนต้องอาศัยการตื่นตัว ความสามัคคี ความเป็นเอกภาพของประชาชนที่เป็นพลังในการกดดันให้มีการการปฏิรูปทั้งระบบ เพื่อให้ประเทศก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและมีศักดิ์ศรี หากขาดพลังประชาชน แนวนโยบายของรัฐและการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่มีวันจะเกิดขึ้นได้ เพราะกลุ่มผลประโยชน์ และกลุ่มอำนาจเดิมจะไม่ยอมให้เกิดขึ้นเพราะพวกเขาจะสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์ โดย:
เริ่มจากสร้างเวทีสาธารณะระหว่างทุกภาคส่วน ทั้งพรรคการเมือง ภาคธุรกิจ เอกชน ประชาสังคม นักวิชาการ ได้มาพบปะเสวนากัน ประเด็นที่เห็นพ้องร่วมกันได้ก่อน เช่น ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปการศึกษาให้เรียนฟรีถึงอุดมศึกษา การักษาพยาบาลอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ อัตราภาษีก้าวหน้า การเพิ่มค่าจ้างให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ การจัดสวัสดิการให้เกษตรกรเหมือนลูกจ้างทั่วไป การเพิ่ม และลดราคาบริการด้านการคมนาคมขนส่ง /สวัสดิการสังคม เป็นต้น
สร้างกลไกการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเกษตรกรและคนชายขอบใช้หลักธรรมาภิบาล (Good Governance) เป็นแกนกลางไม่มีทางออกแบบ "สูตรสำเร็จ" แต่การเริ่มต้นด้วยการยอมรับปัญหาอย่างตรงไปตรงมา ว่า ประเทศไทยได้มาถึงทางตัน กลายเป็นประเทศที่ล้มเหลว เหลวแหลกในทุกด้าน ซึ่งมีการคอรัปชั่นทุกระดับ แม้แต่ในสถาบันศาสนา และไร้ศักดิ์ศรีในสายตาของนานาชาติ และสื่อนานาชาติ
การสร้างกระบวนการที่จะนำไปสู่การปฏิรูปที่โปร่งใส ครอบคลุมทุกกลุ่มในสังคม จะเป็นก้าวแรกที่สำคัญสู่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง ซึ่งขึ้นอยู่กับประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียมากที่สุดจากระบบเดิมที่ล้มเหลว หากไม่ลุกขึ้นมาแก้ด้วยพลังของตนเอง ก็ต้องยอมรับสภาพและสถานะเดิมที่ชอกช้ำต่อไป