‘เงิน หรือ ชีวิต’ คำถามที่อาจเปลี่ยนชีวิตคุณ
ใช้แรงทำเงิน& ให้เงินทำงาน กดSubscribe รอเลย…
Youtube | Facebook | TikTok | Instagram | Line
เคยรู้สึกมั้ยว่า? ตัวเองต้องตื่นเช้าไปทำงานทุกวันจันทร์ แล้วก็วนลูปทำงานเพื่อจ่ายบิลที่ไม่มีวันหมด รู้สึกเหมือนชีวิตมีไว้เพื่อหาเงินอย่างเดียว ถ้าเราตอบว่า ‘ใช่’ แสดงว่าเราไม่ใช่คนเดียวแน่นอน Vicki Robin และ Joe Dominguez ผู้เขียนหนังสือสุดคลาสสิก ‘Your Money or Your Life’ ก็เคยรู้สึกแบบนั้นเหมือนกัน และนั่นคือจุดเริ่มต้นของแนวคิดที่จะเปลี่ยนมุมมองการเงินไปตลอดกาล
เงินทุกบาท คือ ‘พลังชีวิต’
ลองเปลี่ยนวิธีคิดง่ายๆ แทนที่จะมองว่าเงิน 2,400 บาท ให้ลองคิดว่านี่คือ 8 ชั่วโมงของชีวิตที่ต้องไปทำงาน (สมมติว่าได้ค่าแรงชั่วโมงละ 300 บาท) เมื่อคิดแบบนี้ก็จะเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า เสื้อผ้าตัวนี้ราคา 2,000 บาท คุ้มกับ 8 ชั่วโมงของชีวิตเราหรือไม่
นี่คือแก่นของแนวคิดที่ผู้เขียนเรียกว่า พลังชีวิต (Life Energy) เงินทุกบาททุกสตางค์ที่เราได้มา คือ เวลาและแรงกายที่เราแลกไป และทุกครั้งที่เราใช้จ่าย นั่นหมายถึงเรากำลังแลกเปลี่ยนพลังชีวิตของเราไปเช่นกัน
เพื่อเห็นภาพชัดๆ ลองนึกถึงกาแฟแก้วละ 150 บาท ที่ดื่มทุกวัน ถ้าเรามีค่าแรงชั่วโมงละ 300 บาท กาแฟแก้วนี้เท่ากับ 30 นาทีของชีวิต และถ้าลองคำนวณดูตลอด 1 ปี จะใช้เงินไปกับกาแฟถึง 54,750 บาท หรือเทียบเท่ากับ 182.5 ชั่วโมง หรือเกือบ 5 สุดสัปดาห์ของการทำงาน
คำถามคือ กาแฟที่ซื้อดื่มทุกวันคุ้มกับ 5 สัปดาห์ชีวิตจริงหรือไม่ หรือมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า เช่น ชงกาแฟดื่มเองที่บ้าน แล้วเอาเงินส่วนต่างไปลงทุนดีกว่าหรือไม่
9 ขั้นตอนสู่อิสรภาพทางการเงินและชีวิตที่มีความหมาย
หนังสือ Your Money or Your Life ไม่ได้แค่พูดถึงทฤษฎีการเก็บเงินหรือใช้เงินเท่านั้น แต่ยังให้ 9 ขั้นตอนที่ชัดเจน เพื่อไปสู่การเป็นเจ้าของชีวิตตัวเอง ไม่ใช่แค่การเกษียณเร็วเท่านั้น แต่คือการมีอิสระที่จะเลือกใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการโดยไม่ต้องกังวลเรื่องเงินอีกต่อไป
1. ทบทวนอดีตทางการเงิน
มาดูกันว่าตลอดชีวิตหาเงินมาได้เท่าไหร่ แล้วหายไปไหนหมด ซึ่งจะทำให้เห็นภาพรวมและเตรียมใจสำหรับการเปลี่ยนแปลง
เช่น ทำงานมา 10 ปี มีรายได้รวม 3,000,000 บาท แต่ตอนนี้มีทรัพย์สินสุทธิแค่ 500,000 บาท อาจจะเริ่มตั้งคำถามว่าเงิน 2,500,000 บาทหายไปไหน เพื่อช่วยให้มองเห็นว่าใช้เงินไปกับอะไรบ้างในอดีต ซึ่งอาจจะไม่ได้สร้างความสุขที่ยั่งยืน
2. อยู่กับปัจจุบัน ติดตามพลังชีวิตที่ใช้แลกเงิน
จดทุกรายรับรายจ่ายแบบละเอียดสุดๆ แม้แต่ค่าซื้อของ 5 บาท แล้วคำนวณค่าแรงต่อชั่วโมงที่แท้จริง อาจจะตกใจว่าค่าแรงจริงของตัวเองน้อยกว่าที่คิด และการใช้จ่ายเท่ากับเวลาชีวิตใช้ไปเท่าไหร่
เช่น มีเงินเดือน 30,000 บาท ทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์ (160 ชั่วโมงต่อเดือน) แต่ต้องเสียเวลาเดินทางไปกลับวันละ 2 ชั่วโมง (40 ชั่วโมงต่อเดือน) และเตรียมตัวอีกครึ่งชั่วโมง (10 ชั่วโมงต่อเดือน) รวมเป็น 210 ชั่วโมงต่อเดือน ค่าแรงจริงจะเหลือประมาณ 142 บาทต่อชั่วโมง (30,000 ÷ 210) ไม่ใช่ 187.5 บาทต่อชั่วโมง (30,000 ÷ 160) ดังนั้น ค่าแรงที่แท้จริงน้อยกว่าที่คิดมาก และเมื่อซื้อเสื้อผ้า 1,000 บาท แปลว่าไม่ได้แค่เงิน 1,000 บาท แต่คือ 7 ชั่วโมงของชีวิตที่ต้องไปทำงาน
3. สรุปยอดรายจ่ายประจำเดือน
จัดหมวดหมู่รายจ่ายให้ชัดเจน เช่น อาหาร ค่าเดินทาง ความบันเทิง แล้วคำนวณเป็นชั่วโมงการทำงาน เพื่อให้เห็นว่าพลังชีวิตไปอยู่กับอะไรมากที่สุด
4. ตั้งคำถามเปลี่ยนชีวิตกับแต่ละหมวดรายจ่าย
นี่คือหัวใจสำคัญ ลองถามตัวเอง 3 คำถามกับทุกหมวดรายจ่าย ซึ่งคำถามเหล่านี้จะช่วยให้ค้นพบว่าอะไรคือสิ่งที่สร้างความสุขจริงๆ และอะไรเป็นเพียงความเคยชิน
- ได้รับความสุขหรือความคุ้มค่าคุ้มกับพลังชีวิตที่แลกไปหรือไม่
- รายจ่ายนี้สอดคล้องกับคุณค่าหรือเป้าหมายในชีวิตหรือไม่
- ถ้าไม่ต้องทำงานเพื่อเงิน รายจ่ายนี้จะเปลี่ยนไปหรือไม่
เช่น มีรายจ่ายค่าบริการสตรีมมิ่งหลายค่าย รวมกันเดือนละ 500 บาท เมื่อคำนวณเป็นพลังชีวิตแล้ว อาจจะเท่ากับ 3-4 ชั่วโมงของชีวิต ลองถามตัวเองว่าดูครบทุกแพลตฟอร์มหรือไม่ แต่ละแพลตฟอร์มให้ความสุขคุ้มกับเวลาชีวิตที่แลกไปหรือไม่ ถ้าไม่ต้องทำงานเพื่อเงินจะยังสมัครทุกแพลตฟอร์มอยู่หรือไม่ ก็อาจจะพบว่าดูแค่ 1 สตรีมมิ่งก็เพียงพอ ส่วนแพลตฟอร์มอื่นๆ ไม่ได้ใช้เต็มที่ควรยกเลิกเพื่อช่วยประหยัดพลังชีวิตไปได้โดยไม่ลดทอนความสุขที่แท้จริง
5. ทำให้เห็นภาพพลังชีวิตที่ใช้ไป
สร้างกราฟหรือแผนภูมิแสดงรายรับรายจ่าย การเห็นภาพจะช่วยสร้างแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนและติดตามความก้าวหน้า
6. ลดรายจ่ายให้เหลือแต่สิ่งที่มีคุณค่า
เมื่อรู้แล้วว่าอะไรที่ไม่จำเป็นหรือไม่ได้สร้างความสุข ก็ถึงเวลาตัดทิ้งมองหาทางเลือกที่ถูกกว่าแต่ยังคงให้ความสุขเท่าเดิม เน้นคุณภาพชีวิต ไม่ใช่ปริมาณสิ่งของ
7. เพิ่มรายได้
การเพิ่มรายได้ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าคุ้มค่ากับพลังชีวิตที่ต้องแลกไปหรือไม่ อย่าเพิ่มรายได้ที่ทำให้เครียดหรือเสียคุณภาพชีวิต
8. สร้างอิสรภาพทางการเงิน
ถือเป็นเป้าหมายสูงสุด ด้วยการสะสมเงินลงทุนจนกระทั่งได้ผลตอบแทนจากการลงทุนเท่ากับหรือมากกว่ารายจ่ายประจำปี
ตัวอย่างการคำนวณ
- รู้รายจ่ายต่อปี สมมติรายจ่าย 240,000 บาทต่อปี (20,000 บาทต่อเดือน)
- รู้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่คาดหวัง ต้องคาดการณ์ว่าเงินที่นำไปลงทุนนั้น จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยกี่เปอร์เซ็นต์ต่อปี สมมติว่าเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่ค่อนข้างมั่นคงและให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ โดยคาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 4% ต่อปี
- คำนวณเงินลงทุนที่ต้องมี นำข้อมูลข้อ 1–2 มารวมกันเพื่อหาว่าต้องมีเงินลงทุนเท่าไหร่
สูตร เงินลงทุนที่ต้องมี = รายจ่ายต่อปี ÷ อัตราผลตอบแทนต่อปี
เงินลงทุนที่ต้องมี = 240,000 บาท (รายจ่ายต่อปี) ÷ 4%
= 6,000,000 บาท
หมายความว่า ถ้าสามารถสะสมเงินลงทุนได้ถึง 6,000,000 บาท และเงินก้อนนี้สามารถสร้างผลตอบแทนให้ได้เฉลี่ย 4% ต่อปี ก็จะมีรายได้จากดอกผล (6,000,000 x 0.04 = 240,000 บาท) ซึ่งเพียงพอต่อการใช้จ่าย เมื่อถึงจุดนี้ก็มีอิสรภาพทางการเงิน เพราะไม่จำเป็นต้องทำงานเพื่อเงินอีกต่อไป
9. บริหารเงินเพื่อความมั่นคงระยะยาว
เมื่อมีอิสรภาพทางการเงินแล้ว ก็ต้องบริหารจัดการเงินด้วยการติดตามสถานะการเงินอย่างต่อเนื่อง ปรับแผนตามสถานการณ์ สิ่งสำคัญคือ การใช้ชีวิตตามเป้าหมายที่แท้จริง ไม่ใช่เพื่อเงิน
สิ่งสำคัญ!!
- ‘พลังชีวิต เงินทุกบาท’ คือ เวลาชีวิตและแรงกายที่แลกมา ทุกการใช้จ่าย คือ การแลกเปลี่ยนพลังชีวิต
- ‘การใช้จ่ายอย่างมีสติ’ ถามตัวเองทุกครั้งก่อนใช้จ่ายว่าสิ่งนี้จำเป็นและสอดคล้องกับคุณค่าหรือไม่
- ‘อิสรภาพทางการเงิน’ เป้าหมายไม่ใช่แค่เกษียณเร็ว แต่คือการมีอิสรภาพเลือกใช้ชีวิตอย่างที่ต้องการโดยไม่ต้องกังวลเรื่องเงิน
- ‘พอเพียง vs อยากได้มากขึ้น’ หนังสือเล่มนี้ชวนให้ค้นหาจุดพอเพียงของตัวเอง แทนที่จะไล่ล่าความอยากได้ไม่รู้จบ
หนังสือเล่มนี้ไม่ได้สอนให้ขี้เหนียว แต่สอนให้ใช้เงินอย่างมีสติ และสอดคล้องกับคุณค่าของตัวเอง ผู้เขียนเล่าว่าจากการสอบถามผู้ที่อ่านหนังสือ พบว่าหลายคนที่ทำตามได้ใช้เงินน้อยลง แต่กลับมีความสุขมากขึ้น เพราะได้ใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการจริงๆ
หลายคนที่กำลังเหนื่อยกับการวิ่งไล่ล่าเงินทอง อยากหลุดพ้นจากวังวนหาเงินใช้หนี้ หรืออยากใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับคุณค่าของตัวเองหนังสือเล่มนี้จะเป็นเหมือนเข็มทิศที่จะให้ผู้อ่านหันกลับมาหาตัวเอง และค้นพบว่าชีวิตที่ร่ำรวยจริงๆ คืออะไร