เจ้าสัวธนินท์ชี้ ‘ไทย’ ต้องรีบร่วม CPTPP ย้ำ ‘ไม่มีเหตุผล’ ที่ไม่เข้าร่วม! ชี้นโยบายกีดกันจากทรัมป์จะอยู่ไม่นาน
เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group) หนึ่งในกลุ่มบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ออกมาแสดงให้ความเห็นว่าว่าท่ามกลางนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ที่กำลังสั่นคลอนระบบการค้าโลก ประเทศไทยควรเข้าร่วม CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) โดยทันที เพื่อรับประโยชน์จากความร่วมมือกับเศรษฐกิจอื่นๆ
“ประเทศไทยควรเข้าร่วมทันที ไม่มีเหตุผลใดที่จะไม่เข้าร่วม” เจ้าสัวธนินท์กล่าวในการให้สัมภาษณ์พิเศษกับ Nikkei Asia เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ระหว่างงาน Nikkei’s Future of Asia conference ในกรุงโตเกียว
CPTPP เป็นข้อตกลงการค้าที่มีสมาชิก 12 ประเทศ ประกอบด้วย ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, เวียดนาม, ออสเตรเลีย และอีก 8 ประเทศ โดยมีจีนและอินโดนีเซียได้ยื่นสมัครเข้าร่วมแล้ว ขณะที่ประเทศไทยยังไม่ได้ดำเนินการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เจ้าสัวธนินท์แห่ง CP วิเคราะห์ ภาษีทรัมป์ ‘ไม่สะเทือน’ อาเซียนเท่าจีน ชี้ ‘ญี่ปุ่น’ อาจพลิกวิกฤตเป็นโอกาสทอง
- เจ้าสัวธนินท์ แห่งเครือ CP ชี้ ‘สหรัฐฯ’ เสี่ยง ‘สูญเสียตำแหน่งผู้นำโลก’ หากการค้ายังป่วนไม่เลิก
- นายกฯ ยอมรับ หากไม่เข้าร่วม CPTPP จะทำให้ไทยเสียโอกาส แม้มีข้อเสียแต่ก็มีข้อดีด้วย แต่ยังไม่ใช่เวลานี้
ท่าทีดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจไทยซึ่งพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากนโยบายภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จนทำให้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้องปรับลดคาดการณ์การเติบโตของ GDP ในปี 2025 ลงเหลือ 1.3% ถึง 2.3% จากประมาณการเดิมที่ 2.3% ถึง 3.3%
ประธานอาวุโสเครือ CP ผู้เชื่อมั่นในหลักการค้าเสรีว่าจะนำมาซึ่งความมั่งคั่ง “ผมเชื่อว่าผู้คนจะร่ำรวยขึ้นหากทุกประเทศช่วยเหลือเกื้อกูลและร่วมมือกัน” เขากล่าว พร้อมมองว่านโยบายกีดกันทางการค้าของทรัมป์นั้น “กำลังสวนกระแสโลก และเป็นไปไม่ได้ที่จะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ การกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ จะอยู่ได้ไม่นาน”
นอกจากนี้ เจ้าสัวธนินท์ยังย้ำว่าภาคเอกชนควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปเกี่ยวข้องกับประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ เช่น ความสัมพันธ์กับจีน และมุ่งเน้นไปที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นหลัก
นอกเหนือจาก CPTPP แล้ว เจ้าสัวธนินท์ยังกล่าวถึงแนวคิดการสร้างระบบการค้าแห่งเอเชีย (Asian trading system) ภายใต้การนำของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ญี่ปุ่น และจีน
“หากญี่ปุ่น จีน และอาเซียนสามารถสร้างกรอบการค้าเป็นหนึ่งเดียวกันได้ การเจรจากับสหภาพยุโรปในเรื่องภาษีและประเด็นอื่นๆ ก็จะสามารถทำได้ง่ายขึ้น ความคิดริเริ่มนี้จะนำไปสู่ความพยายามที่จะปรับโครงสร้างระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ในที่สุด”
ขณะเดียวกันในมุมมองของเจ้าธนินท์ สถานการณ์ปัจจุบันยังสร้างโอกาสให้กับญี่ปุ่น “ภาษีที่สูงของสหรัฐฯ กำลังสร้างความได้เปรียบให้กับญี่ปุ่น” เขากล่าว โดยเปรียบเทียบกับช่วงทศวรรษ 1980 และ 1990 ที่สหรัฐฯ เคยกังวลกับเทคโนโลยีขั้นสูงของญี่ปุ่น แต่ตอนนี้กลับหันไปให้ความสำคัญกับจีนเป็นหลัก ทำให้ญี่ปุ่นสามารถพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองได้อย่างเต็มที่โดยไม่ถูกจับตามอง
นอกจากนี้ เจ้าสัวธนินท์ยังชี้ว่าญี่ปุ่นมีสินค้าเกษตรชั้นเลิศ อาทิ เนื้อวัวโกเบ หมูคุโรบุตะ องุ่นชายน์มัสคัต และมะม่วง แต่ปริมาณการผลิตยังน้อย หากญี่ปุ่นเพิ่มการผลิตสินค้าเหล่านี้ ก็จะสามารถรุกตลาดโลกได้
สำหรับกลุ่ม CP เอง เจ้าสัวธนินท์เผยว่าบริษัทเล็งเห็นศักยภาพในเทคโนโลยีขั้นสูงของญี่ปุ่น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ซึ่งมีอนาคตสดใส และต้องการลงทุนในบริษัทญี่ปุ่นเพื่อเร่งพัฒนาธุรกิจและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้นหลายเท่า
แม้ว่า CP จะเพิ่งประกาศยุติข้อตกลงการลงทุนร่วมกับ Itochu แต่ยังคงรักษาความเป็นพันธมิตรทางธุรกิจเชิงกลยุทธ์ไว้ และต้องการที่จะร่วมมือกับบริษัทอื่นๆ ในญี่ปุ่นเพิ่มเติม รวมถึงมีความเป็นไปได้ที่ CITIC บริษัทเพื่อการลงทุนของรัฐบาลจีนที่ CP Group เข้าไปลงทุนในปี 2015 จะเข้ามาลงทุนในญี่ปุ่นด้วย
ภาพ: ฐานิส สุดโต/THE STANDARD
อ้างอิง: