3 แนวคิด ‘ราชพฤกษ์โมเดล’ จาก Healing Environment สู่ธุรกิจสุขภาพที่เติบโตอย่างยั่งยืน
นพ.ธีระวัฒน์ ศรีนัครินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลราชพฤกษ์ จำกัด (มหาชน) ตัวจริงในอุตสาหกรรม Wellness ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ความสำเร็จของ ‘ราชพฤกษ์โมเดล’ หนึ่งในโรงพยาบาลเอกชนในต่างจังหวัดที่สามารถเติบโตได้ท่ามกลางการแข่งขันอันเข้มข้นของธุรกิจโรงพยาบาลในเมืองใหญ่ ในงาน The Secret Sauce Business Weekend อีสาน 2025
โรงพยาบาลราชพฤกษ์มีแนวทางในการออกแบบและดูแลผู้ป่วยให้มีความรู้สึกเหมือนบ้านมากกว่าสถานที่ทางการแพทย์ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายและสะดวกสบายมากขึ้น เมื่อมาเข้ารับการรักษา ซึ่งส่งผลให้เกิดการเยียวยาตัวเอง ให้มีความรู้สึก ‘Healing and Environment’ เป็นสัปปายะสถาน
นพ.ธีระวัฒน์ระบุว่า ชีวิตของคนเราคือธรรมชาติ ฉะนั้นการที่เราสามารถใช้ชีวิตสอดคล้องกับธรรมชาติที่เรียกว่า ‘Healing Environment’ ซึ่งไม่เพียงแต่เน้นการสร้างบรรยากาศที่ดีเท่านั้น แต่ยังต้องมีการอบรมและเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรในการให้บริการที่มีคุณภาพและแสดงความเป็นมนุษย์ในทุกขั้นตอนของการดูแลผู้ป่วย
ดังนั้นแนวคิด Healing Environment ของโรงพยาบาลราชพฤกษ์ ไม่ได้หยุดอยู่แค่บรรยากาศและสถานที่เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงปัจจัยสำคัญอีก 3 ด้านที่ถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริมการเยียวยาอย่างเป็นองค์รวม
Internal: ความสงบภายในจิตใจของผู้ป่วย เมื่อจิตใจสงบ กระบวนการเยียวยาตัวเองก็สามารถทำงานได้ดีขึ้น
Interpersonal: ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การปฏิสัมพันธ์อย่างเป็นมนุษย์ คือหัวใจของ Healing Environment เพราะความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ และการสื่อสารที่ดีสามารถส่งเสริมการเยียวยาระหว่างกันได้อย่างแท้จริง
Behavioral: พฤติกรรมที่ส่งเสริมการเยียวยาตัวเอง การออกแบบระบบและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อพฤติกรรมเชิงบวก ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูได้อย่างมีพลังใจ
แนวคิด Healing Environment เหล่านี้ ถูกนำมาผสานกับโครงสร้างของ Humanized Care กล่าวคือ การดูแลแบบยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Person-Centered Care) โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การดูแลจิตใจของผู้ป่วย ซึ่งมักเผชิญกับความกลัว ความวิตกกังวล และความเครียดเมื่อเข้ามาในโรงพยาบาล
“สิ่งสําคัญที่สุดของโรงพยาบาลราชพฤกษ์ เรามองว่า การดูแลจิตใจเป็นเรื่องใหญ่ มองข้ามไม่ได้สําหรับคนไข้”
นพ.ธีระวัฒน์ยังแนะนำ 3 หลักการสำคัญสำหรับธุรกิจที่ต้องการสอดคล้องกับเทรนด์ Wellness ดังนี้
Quality and Safety (คุณภาพและความปลอดภัย): ธุรกิจควรให้ความสำคัญกับคุณภาพของบริการและผลิตภัณฑ์ รวมถึงความปลอดภัย เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ใช้บริการได้รับประสบการณ์ที่ดี และปลอดภัย
Standard (มาตรฐาน): ธุรกิจจะต้องมีมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานระดับโลคอล หรือมาตรฐานของตัวเอง เพื่อรักษาคุณภาพที่สม่ำเสมอ มีกระบวนการในการให้บริการหรือการผลิต
Experience (ประสบการณ์ของมนุษย์): ธุรกิจใหม่ต้องดูประสบการณ์ของความเป็นมนุษย์ด้วย เพราะสิ่งที่ทำเกี่ยวกับมนุษย์ เศรษฐกิจเกิดขึ้นเกิดจากมนุษย์ ต้องดูว่าจะสร้างประสบการณ์กับมนุษย์ กับคนได้อย่างไร จะทำให้ธุรกิจมีความพร้อมเมื่อ Wellness โตขึ้น
ดังนั้นสิ่งที่อยากฝากไว้คือ ขอให้กลับไปเตรียมความพร้อมทางเศรษฐกิจและธุรกิจของตัวเอง ด้วย 3 หลักสำคัญ ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจได้จริง
มองลูกค้า และผู้รับบริการในฐานะเพื่อนมนุษย์ ถือประโยชน์ของผู้อื่นเป็นกิจที่หนึ่ง โดยมองว่าประโยชน์ของตัวเองเป็นกิจที่สอง
ไม่ยึดติดกับลาภ ยศ หรือสรรเสริญ ปล่อยให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นเอง
รักษาความสุจริตในการดำเนินธุรกิจให้ดี ให้ตอบสนองเป้าหมายที่แท้จริงขององค์กรให้ได้ โดยเชื่อว่าธุรกิจจะเติบโตได้อย่างแท้จริง