"อินโดนีเซีย"ชี้ได้เปรียบชาติอาเซียน ดีล"ภาษีทรัมป์"เหลือ 19% มั่นใจต่ำสุดในภูมิภาค
"บูดี ซานโตโซ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของอินโดนีเซีย กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่กรุงจาการ์ตา เมื่อวันพุธ (16 กรกฏาคม 2568) หลังเสร็จสิ้นการประชุมกับคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่าว่า อินโดนีเซียถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน และเขาพอใจอัตราภาษีที่ 19% เชื่อจะทำให้อินโดนีเซียได้เปรียบในการเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ พร้อมกล่าวย้ำว่าในอาเซียน เรามีอัตราภาษีที่ต่ำที่สุด
รัฐมนตรีการค้ายังเปิดเผยอีกว่า ก่อนการเจรจาภาษีกับทางรัฐบาลสหรัฐฯ รัฐบาลอินโดนีเซียได้เตรียมมาตรการเพื่อการบรรเทาหรือลดหย่อน โดยอินโดนีเซียได้ลิสต์รายการสินค้า 10 อันดับแรกที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ เพื่อบรรลุข้อตกลงที่เป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย พร้อมย้ำอีกว่า อัตราภาษีที่ 19% ยังถือว่าน่าพอใจ เพราะทำให้อินโดนีเซียมีโอกาสเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ ได้มากขึ้น
พร้อมกล่าวเสริมว่า "จนถึงตอนนี้ การส่งออกของเรายังคงทำได้ดี หากเราสามารถรักษาอัตราภาษีนี้ไว้ได้จนถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2568 นั่นหมายความว่าโอกาสของเราในการเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ จะยิ่งมากขึ้น”
นอกจากนี้ ในระหว่างการประชุมกับคณะกรรมาธิการฯ รัฐมนตรีการค้ายังเผยด้วยว่า ข้อตกลงระหว่างอินโดนีเซียและสหรัฐฯ ไม่ใช่แค่เรื่องการเข้าถึงตลาดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการลงทุนด้วย โดยสหรัฐฯ จะลงทุนในหลายภาคส่วนของอินโดนีเซีย เช่น ภาคพลังงาน แต่อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีคลังอินโดนีเซียไม่ได้กล่าวถึงสิงคโปร์ ซึ่งถูกสหรัฐฯ กำหนดอัตราภาษีพื้นฐาน (Baseline Tariff) ที่ 10% ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในกลุ่มชาติอาเซียนที่แท้จริง
ก่อนหน้านี้ ทางการอินโดนีเซียได้ประกาศว่ารัฐบาลได้บรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ แล้ว ในวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา หลังการเจรจาที่ยืดเยื้อและเข้มข้น ส่งผลให้สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีศุลกากรต่อสินค้านำเข้าจากอินโดนีเซียในอัตรา 19% จากเดิม 32%
โฆษกของ "ประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต" ผู้นำอินโดนีเซีย ได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่า นี่เป็นความพยายามที่ยอดเยี่ยมของทีมเจรจา ซึ่งนำโดยรัฐมนตรีกระทรวงประสานงานเศรษฐกิจ พร้อมเสริมว่า ข้อตกลงครั้งนี้ถือเป็นจุดลงตัวที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับร่วมกันได้ โดยอัตราภาษีที่อินโดนีเซียได้รับนั้นต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียน
พร้อมเปิดเผยว่า ผู้นำอินโดนีเซียได้ต่อสายตรงพูดคุยกับ"ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์" ผู้นำแห่งสหรัฐฯ และเตรียมแถลงข่าวทันทีที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ
ด้านประธานาธิบดีปราโบโวระบุผ่านทางอินสตาแกรมว่า อินโดนีเซียและสหรัฐฯ เห็นพ้องก้าวสู่ยุคใหม่ของความสัมพันธ์ทางการค้า ภายหลังการหารือทางโทรศัพท์ที่เป็นไปอย่างดี
ขณะที่ประธานาธิบดีทรัมป์ กล่าวว่า ภายใต้ข้อตกลงฉบับนี้ อินโดนีเซียได้ให้คำมั่นว่าจะซื้อพลังงานจากสหรัฐฯ วงเงิน 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ สินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ วงเงิน 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์ และเครื่องบินโบอิ้ง 50 ลำ ซึ่งหลายลำเป็นรุ่น 777
สำหรับโครงสร้างข้อตกลงการค้าในครั้งนี้นับว่าคล้ายคลึงกับข้อตกลงที่สหรัฐฯได้เคยลงนามเบื้องต้นกับเวียดนาม ซึ่งกำหนดให้สินค้าที่ส่งออกจากสหรัฐฯ ไปยังอินโดนีเซียจะได้รับการยกเว้นทั้งภาษีและอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี หรือภาษี 0% และเป็นครั้งแรกที่เกษตรกร ผู้เลี้ยงสัตว์ และชาวประมงของสหรัฐฯ จะได้รับสิทธิ์เข้าถึงตลาดอินโดนีเซีย ซึ่งมีประชากรกว่า 280 ล้านคนอย่างเต็มรูปแบบ ขณะเดียวกันยังมีมาตรการป้องกันกรณีมีการลักลอบนำเข้าสินค้าจีนผ่านอินโดนีเซียด้วย
นักวิเคราะห์มองว่า 19% อย่างน้อยก็ยังดีกว่า 32% แม้สินค้าส่งออก เช่น รองเท้าและสิ่งทอ อาจได้รับผลกระทบบ้าง แต่หมวดพลังงานและเกษตรน่าจะได้ประโยชน์เต็มที่ ส่วนเจ้าหน้าที่อินโดนีเซียก็คงพอใจ เพราะอยู่ในกลุ่มประเทศที่ทรัมป์พอใจ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจอินโดนีเซียยังอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีน ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนเมษายน 2568 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศอัตราภาษีตอบโต้ หรือภาษีต่างตอบแทน (reciprocal tariff) ต่ออินโดนีเซียที่ 32% ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะสามารถบรรลุข้อตกลงเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (15 กรกฎาคม 2568 ) ส่งผลให้อัตราภาษีดังกล่าวลดลงมาอยู่ที่ 19% โดยจะมีผลในวันที่ 1 สิงหาคม 2568 นี้
ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ปัจจุบันนี้ เวียดนามและฟิลิปปินส์อยู่ที่ 20% มาเลเซียและบรูไน 25% ไทยและกัมพูชา 36% เมียนมาและลาว 40%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง