เงินเฟ้อ มิ.ย.68 หดตัว 0.25% หดตัว 3 เดือนติด เสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืด
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือน มิ.ย.2568 อยู่ที่ระดับ 100.42 ลดลง 0.25% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 0.02% จากเดือนก่อน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 6 เดือนแรกของปี 2568 เพิ่มขึ้น 0.37%
ทั้งนี้ เงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มิ.ย.2568 จากที่ตลาดคาดการณ์ ลดลง 0.10% และเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยปัจจัยหลักมาจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง และค่ากระแสไฟฟ้า ประกอบกับราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดหลายรายการโดยเฉพาะไข่ไก่ ผักสด และผลไม้สด ปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ดี ยังมีสินค้าอาหารบางรายการที่มีราคาสูงขึ้น อาทิ เนื้อสุกร และอาหารสำเร็จรูป สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน มิ.ย.2568 อยู่ที่ 101.43 เพิ่มขึ้น 1.06% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 0.04% จากเดือนก่อน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เฉลี่ย 6 เดือนแรกของปี 2568 เพิ่มขึ้น 0.97%
ทางด้านแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไตรมาส 3/2568 คาดว่าจะอยู่ระดับใกล้เคียงกับไตรมาส 2/2568 ที่ลดลง 0.35% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ได้แก่
(1) ราคาน้ำมันดิบดูไบในตลาดโลกต่ำกว่าปีก่อนหน้า เนื่องจากสถานการณ์ในตะวันออกกลางผ่อนคลายลง หลังจากมีการทำข้อตกลงหยุดยิง ซึ่งช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวของความขัดแย้ง
(2) ภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับลดค่า Ft งวดเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2568 ลง 17 สตางค์ ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าลดลงเหลือ 3.98 บาทต่อหน่วย
(3) ฐานราคาผักสดในปีก่อนหน้าที่อยู่ระดับสูง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ขณะที่ในปี 2568 สภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกมากขึ้น ทำให้ผลผลิตเข้าสู่ระบบมากขึ้น
(4) การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2568 อยู่ระหว่าง 0.0 – 1.0% (ค่ากลาง 0.5%) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อไทยในเดือน มิ.ย.2568 ลดลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันที่ -0.25% โดยยังมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด โดยถูกกดดันจากด้านอุปทานเป็นสำคัญ อาทิ ราคาพลังงาน ผักและผลไม้สด
ทั้งนี้ มองไปยังไตรมาส 3/2568 คาดเงินเฟ้อไทยอาจหดตัวต่อเนื่อง แต่จะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2568
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการอัตราเงินเฟ้อไทยปี 2568 อยู่ที่ 0.3% โดยมีปัจจัยกดดันจากแนวโน้มราคาพลังงานโลกที่ลดลง การนำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีน และเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัว