โพลจี้อิ๊งค์ออก/รทสช.ส้มหล่น
"อิ๊งค์" อยู่ยาก นิด้าโพลเผยคนอยากให้ลาออก ตามด้วยยุบสภา กระแสเอา "ลุงตู่" กลับมาอีกรอบนำโด่ง อนุทินแซงปู่ชัยเกษม ลุ้นกลางสัปดาห์นี้ วัดใจแพทองธารครบกำหนดยื่นเอกสารแก้ข้อกล่าวหาสู้คดีคลิปเสียงหรือจะลากยาวดึงเกมยื้อขอขยายเวลาอีก 15 วัน รุมทึ้งแย่งเก้าอี้รอง ปธ.สภาฯ พท.แจกโควตา รทสช. แต่ “สุทิน” โวเป็นโควตากลุ่มอีสาน
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 ก.ค. ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจเรื่อง การเมืองไทย ไปต่อแบบไหนดี ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 4-7 ก.ค.2568 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ รวม 1,310 หน่วยตัวอย่าง
ผลสำรวจให้ข้อมูลว่า เมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อสถานการณ์ทางการเมืองไทยในปัจจุบัน พบว่า 42.37% ระบุว่านายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ควรประกาศลาออกจากตำแหน่ง เพื่อหานายกฯ คนใหม่ รองลงมา 39.92% ระบุว่านายกรัฐมนตรีแพทองธารควรยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจัดการเลือกตั้งทั่วไป, 15.04% ระบุว่านายกรัฐมนตรีแพทองธารควรบริหารประเทศต่อไปเหมือนเดิม, 1.37% เรียกร้องให้มีการรัฐประหาร, 0.99% อย่างไรก็ได้ และ 0.31% ไม่ตอบ
ด้านบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ คนต่อไป ตามรายชื่อผู้มีสิทธิเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่ น.ส.แพทองธารต้องพ้นจากตำแหน่ง พบว่า 32.82% ระบุว่าเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, 27.94% ไม่สนับสนุนใครเลยตามรายชื่อผู้มีสิทธิเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ, 11.53% นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย),
10.92% นายชัยเกษม นิติสิริ (พรรคเพื่อไทย), 9.77% ใครก็ได้ตามรายชื่อผู้มีสิทธิเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ, 3.82% นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (พรรครวมไทยสร้างชาติ), 1.83% นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ (พรรคประชาธิปัตย์), 0.84% พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ (พรรคพลังประชารัฐ) และ 0.53% ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการที่พรรคประชาชนควรร่วมลงชื่อกับพรรคฝ่ายค้านเพื่อขอเปิดอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯ และ/หรือรัฐมนตรี จากสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน พบว่า ตัวอย่าง 64.43% ควรลงชื่อเพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯ และ/หรือรัฐมนตรี รองลงมา 26.26% ไม่ควรลงชื่อเพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ, 7.48% อย่างไรก็ได้ และ 1.83% ไม่ตอบ
ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในกลางสัปดาห์นี้ ช่วง 16-17 ก.ค. จะครบกำหนดที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ น.ส.แพทองธารส่งเอกสารคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาในคำร้องคดีถอดถอนออกจากตำแหน่ง กรณีคลิปเสียงฮุน เซน ที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเมื่อ 1 ก.ค. และสั่งให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยหากเอกสารส่งถึงนายกฯ ในช่วงวันที่ 2-3 ก.ค. ก็จะครบกำหนดช่วง 16-18 ก.ค. คือจะครบภายในสัปดาห์นี้ จึงต้องรอดูว่านายกฯ จะยื่นเอกสารเลยหรือว่าจะใช้วิธียื่นคำร้องขอขยายเวลาออกไปอีก 15 วัน ซึ่งหากขอขยายเวลา ก็ทำให้กระบวนการพิจารณาคดีก็จะขยายเวลาออกไปอีกร่วมครึ่งเดือน แต่หากไม่ขยายเวลา ก็ทำให้การพิจารณาคดีของศาลเสร็จเร็วขึ้น ที่คาดว่าคงจะมีความชัดเจนภายในต้นสัปดาห์นี้
แย่งเก้าอี้รอง ปธ.สภาฯ ป่วน!
นายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีแกนนำพรรคเพื่อไทยนัดพรรคร่วมรัฐบาลรับประทานอาหารในวันที่ 22 ก.ค.ว่า ไม่มีอะไร เพราะตั้งแต่ฟอร์มรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นมา และเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรมา เรายังไม่ได้เจอกัน จึงมีแนวคิดที่จะอยากพบปะกัน คงจะมีการรับประทานอาหารร่วมกันเฉยๆ ไม่มีอะไร ส่วนที่มีการมองว่าเสียงของรัฐบาลปริ่มน้ำ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยได้มีการกำชับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคอยู่แล้วว่าให้สมาชิกช่วยกันเป็นองค์ประชุม
เมื่อถามว่า จะมีการพูดคุยถึงโควตารองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 กันด้วยหรือไม่ นายสรวงศ์กล่าวว่า ยังไม่แน่ใจ แต่คร่าวๆ ที่มีการพูดคุยกันนั้น อาจเป็นของพรรคร่วมรัฐบาล และหากดูตามโควตาแล้วอาจจะเป็นของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เนื่องจากเป็นพรรคอันดับสองในพรรคร่วมรัฐบาล หลังจากที่พรรคภูมิใจไทยถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาล
เมื่อถามว่า ได้มีการทำความเข้าใจกับ สส.ในพรรคเพื่อไทยแล้วหรือไม่ นายสรวงศ์กล่าวว่า เป็นไปตามโควตาอยู่แล้วที่พรรคอันดับสองควรจะได้
นายสุทิน คลังแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงตำแหน่งรองประธานสภาฯ คนที่ 2 ที่มีกระแสข่าวว่าจะเป็นโควตาของ สส.อีสานของพรรค พท.ว่า ยังไม่ทราบเลยว่าตำแหน่งดังกล่าวจะเป็นโควตาของ สส.อีสานจริงหรือไม่ ขณะที่ สส.อีสานก็ยังไม่ได้พูดคุยกันถึงเรื่องนี้ ต้องแล้วแต่นโยบายของผู้บริหารพรรคว่ามีมุมมองอย่างไร จะพิจารณาตามความเหมาะสมหรือตามโควตา
“หากคิดแบบโควตาก็ต้องเป็น สส.อีสาน แต่ถ้าคิดแบบตัวบุคคลก็คงพิจารณาตามความรู้ความสามารถและความเหมาะสม” นายสุทิน สส.ปาร์ตี้ลิสต์จากมหาสารคามระบุ
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวเรื่องการนัดพบกันของแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลและ สส.รัฐบาลวันที่ 22 ก.ค.เช่นกันว่า ไม่มีนัยพิเศษทางการเมืองที่ต้องมาพูดคุยกันซีเรียส เรื่องการเมืองอาจนำมาคุยกันบ้าง แต่คงเป็นแค่การปรับทุกข์ ไม่ได้หารือเป็นทางการ เช่น เรื่ององค์ประชุมสภาฯ ก็ได้กำชับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค ขอความร่วมมือไปแล้ว่า ถ้ายังอยากเป็นรัฐบาลต่อ สัมพันธ์ภาพต้องแน่นแฟ้น มี สส.และรัฐมนตรีมาประชุมสภาทุกวันพุธ วันพฤหัสบดีอย่างเต็มที่ ทุกคนต้องมีความรับผิดชอบถึงจะไปต่อได้ และไม่ใช่แค่มาประชุม แต่ต้องอยู่ร่วมในห้องประชุมด้วย ห้ามออกไปไหน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากกำชับทุกพรรคอย่างจริงจังแล้ว รับประกันได้หรือไม่จะไม่เกิดปัญหาเรื่ององค์ประชุมจนต้องสั่งปิดประชุมหนีสภาล่มเหมือน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา นายวิสุทธิ์ตอบว่า ได้พยายามเต็มที่ดีที่สุด แต่ไม่รับประกัน หวังว่าจะได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่
นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตประธานรัฐสภา เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้ทำหนังสือไปถึงประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้กำลังใจในการทำหน้าที่โดยยึดตัวบทกฎหมายเป็นหลัก ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า กกต.ทำหน้าที่ล้มเหลว ไม่เข้มแข็ง เลยทำหนังสือให้กำลังใจประธาน กกต.ว่า ขอให้มีความกล้าหาญในการตัดสิน สิ่งที่ผิดก็ให้ผิด สิ่งที่ถูกก็ให้ถูก โดยยึดตัวบทกฎหมายเป็นหลัก เพราะ กกต.เป็นส่วนสำคัญยิ่งด่านแรกในการคัดนักการเมืองเข้ามาทำงาน
"สถานการณ์ของรัฐบาลในขณะนี้มีปัญหาในเรื่องสมาธิในการทำงานที่ไม่ปกติ จากสารพัดปัญหาที่รุมเร้าทำให้สับสน แต่เพราะมีการละเมิดกฎหมายบ้านเมือง มีการทำสิ่งผิดจนมีการร้องเรียนกัน เมื่อมีมูลก็ต้องสอบ บ้านเมืองก็แก้ปัญหาได้ไม่เต็มที่เพราะมัวแต่แก้ปัญหาความเลวร้ายที่สร้างมาโดยนักการเมือง มีวิธีแก้เดียวคือทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้คนที่คิดทำไม่ดีได้เลิกคิด ดังนั้นถ้าสิ่งที่ต้องตัดสินลงโทษรุนแรงถึงขั้นต้องยุบ ต้องสั่งให้หมดสมาชิกภาพก็ต้องทำ เพื่อเปลี่ยนแปลงให้คนใหม่เข้ามา ไม่ใช่ว่าคนใหม่เข้ามาจะดีกว่าเดิม แต่คนใหม่ที่เข้ามาจะได้กลัวว่ากฎหมายศักดิ์สิทธิ์" นายชวนกล่าว
นายชวนกล่าวว่า กลไกการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระต่างๆ จึงมีความสำคัญ หากผิดต้องตัดสิน ไม่ใช่ให้เกิดเสียงวิจารณ์ว่าไปวิ่งเต้นได้ อย่าไปประมาทนักวิ่ง บางคนศาลตัดสินจำคุก 3 ปี บางคนเลือกปฏิบัติ ต้องทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ ตนพูดตั้งแต่สมัยนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ ว่ารัฐบาลมีสิทธิ์เลือกได้ระหว่างหลักนิติธรรมบ้านเมือง หรือเลือกพวก ตั้งแต่ตอนนายทักษิณ ชินวัตร ไปรักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ แต่น่าเสียดายที่เลือกพรรคพวก ปล่อยข้อยกเว้นให้นายทักษิณ ไม่ปฏิบัติมาตรฐานเสมอกันกับคนทั้งประเทศ ในที่สุดประเทศก็ต้องมาวนเวียนกับเรื่องเหล่านี้ เพราะนายทักษิณประกาศก่อนกลับมาแล้วว่าจะไม่ติดคุก ตอนนั้นได้ทำหนังสือถึงแพทยสภาขอให้ปกป้องหมอตัวเล็กๆ เพราะเกรงจะถูกบังคับให้เซ็นรับรองบางอย่างที่ไม่ถูกต้อง แต่สุดท้ายปัญหาก็ย้อนกลับมาจริง รัฐบาลจึงประสบปัญหาทุกวันนี้จนไม่มีสมาธิทำงาน แค่เรื่องชั้น 14 ได้ลามไปหมดทุกเรื่องทุกวงการ ไปจนถึงศาลฎีกาฯ ถึงแพทยสภา จะไม่มีปัญหาเลยถ้าคนคนหนึ่งทำตามกฎหมายไม่มีข้อยกเว้นที่ไม่ยึดหลักนิติธรรม ดังนั้นต้องทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ คนจะได้กลัว ไม่ทำผิดกฎหมาย บ้านเมืองจึงจะเดินต่อไปได้
คดีฮั้ว สว.หนังยาว
ด้านความคืบหน้าการสอบสวนคดีฮั้วเลือกสมาชิกวุฒิสภา หรือคดีฮั้ว สว. มีรายงานว่า คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนกลางชุดที่ 26 ของสำนักงาน กกต. ซึ่งรับผิดชอบคดีฮั้วเลือก สว. นัดประชุมในวันที่ 17 ก.ค.นี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของกรอบระยะเวลาที่ขอขยาย โดยไม่พบว่าจนถึงขณะนี้คณะกรรมการสืบสวนฯ ได้ขอขยายเวลาการสอบสวนเพิ่มเติมต่อ กกต.อีก จึงมีความเป็นไปได้ว่าการประชุมในวันดังกล่าวคณะกรรมการสืบสวนฯ จะมีการสรุปสำนวนว่าตามพยานหลักฐาน เห็นควรที่ กกต.จะดำเนินการเอาผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.2561 มาตรา 77 (1) ประกอบมาตรา 62 กับผู้ใดบ้าง ก่อนที่จะเสนอมายังสำนักงานให้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
โดยตามขั้นตอน เมื่อสำนวนดังกล่าวเข้ามาสู่ขั้นตอนที่ 2 ที่พนักงานสืบสวนและไต่สวนผู้รับผิดชอบสำนวนจะดำเนินการวิเคราะห์สำนวนและจัดทำความเห็นเสนอผ่านผู้อำนวยการฝ่าย รองผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการสำนักแล้ว และเลขาธิการ กกต.จะต้องมีความเห็นต่อสำนวนดังกล่าวด้วยนั้น โดยในขั้นตอนนี้ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวนการไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาด 2561 แก้ไขเพิ่มเติม 2566 กำหนดเวลาไว้ 60 วัน ก่อนมีความเห็นเลขาธิการ กกต.สามารถสั่งให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมได้ โดยคาดว่านายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. จะมอบให้รองเลขาธิการ กกต.เป็นผู้ให้ความเห็นแทน เนื่องจากตนเองเป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาระดับประเทศ จึงถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียต่อเรื่องดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคณะอนุฯ วินิจฉัยเรื่องร้องเรียนและข้อโต้แย้งที่จะพิจารณาสำนวนต่อจากขั้นตอนของเลขาธิการ กกต.นั้น ปัจจุบันมี 35 คณะ คณะละ 5-7 คน โดย กกต.กำลังพิจารณาว่าในส่วนสำนวนดังกล่าว ซึ่งมีความสำคัญเร่งด่วน มีผู้ถูกร้องและผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก จะส่งเรื่องให้อนุฯ วินิจฉัยพิจารณาอย่างไร ควรต้องมีคำสั่งตั้งคณะอนุฯ วินิจฉัยเรื่องร้องเรียนและข้อโต้แย้งชุดพิเศษขึ้นพิจารณาหรือไม่ ซึ่งตามอำนาจหน้าที่ของคณะอนุฯ วินิจฉัยมีกรอบเวลาดำเนินการ 90 วัน โดยสามารถขอขยายได้ และสามารถสั่งดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมเพื่อให้สำนวนมีความสมบูรณ์ ก่อนจะมีความเห็นเสนอต่อที่ประชุม กกต.พิจารณา
นายอลงกต วรกี สว. กล่าวว่า เรื่องนี้ผ่านมา 4-5 เดือน จนเลิกหวั่นไหวแล้ว อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ที่ผ่านมาใช้สิทธิโต้ข้อกล่าวหาหมดแล้ว อยู่ที่ กกต.จะสอบเพิ่มหรือไม่ สุดท้ายทุกอย่างอยู่ที่ศาลเป็นผู้ชี้ขาด
วันเดียวกันนี้ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “ความคาดหวังและความเชื่อมั่นของประชาชนต่อหัวหน้าพรรคการเมืองตั้งใหม่ และพรรคเล็ก” ที่สำรวจระหว่างวันที่ 9-12 ก.ค. จากกลุ่มตัวอย่าง 1,275 คน โดยที่น่าสนใจคือ ศักยภาพของหัวหน้าพรรคการเมืองตั้งใหม่และพรรคเล็ก ที่สำรวจแต่ละด้าน มีข้อมูลที่น่าสนใจ เช่น ความโปร่งใสและการต่อต้านคอร์รัปชัน ได้แก่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม (ไทยภักดี) โดยได้รับความเชื่อมั่นสูงที่สุดด้วยคะแนนสูงถึง 44.5%, การศึกษาและการพัฒนาคน ได้แก่ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (ไทยก้าวใหม่) ได้รับคะแนนนำสูงถึง 48.8%
“ที่น่าสนใจคือ ประชาชนจำนวนมากเปิดใจให้พรรคเปิดตัวใหม่และพรรคเล็ก เพราะให้โอกาสมากถึงมากที่สุด 65.2% ระดับปานกลาง 25.4% ในขณะที่ไม่ให้โอกาส หรือให้โอกาสน้อย 9.4% แสดงให้เห็นว่ามากกว่า 2 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถาม เปิดใจให้โอกาสพรรคการเมืองตั้งใหม่และพรรคเล็กในการเข้ามาเป็นทางเลือกทางการเมืองอย่างจริงจัง และพร้อมสนับสนุนหากเห็นว่าเป็นพรรคที่มุ่งมั่นทำงานจริง” ผอ.ซูเปอร์โพลกล่าว.