พยาบาลใจใหญ่ ยอมบินข้ามทวีป 8,000 กม. เพื่องานรายได้อู้ฟู่
ไม่ว่าจะเหนื่อยแค่ไหน แต่ถ้ามีงานรายได้ดีก็พร้อมแลก
(16 ก.ค.68) สื่อต่างประเทศ เปิดเผยเรื่องราวของ พยาบาลสาวชาวอเมริกัน ที่ตัดสินใจเลือกใช้ชีวิตในสวีเดน กับครอบครัว และแลกกับการเดินทางข้ามทวีปกว่า 5,200 ไมล์ (ราว 8,300 กม.) เพื่อไปทำงานเดือนละ 4 กะ พร้อมกวาดรายได้สุดคุ้ม
เรื่องราวสุดทึ่งนี้เกิดขึ้นกับ คอร์ตนีย์ เอล เรไฟ พยาบาลชาวอเมริกันวัย 31 ปี ซึ่งเธอเล่าว่า การเดินทางไกลขนาดนี้ เพื่อแลกกับค่าจ้างชั่วโมงละ 116 ดอลลาร์ (ประมาณ 4,200 บาท) และแค่ทำงานกะละ 12 ชั่วโมง ก็เพียงพอสำหรับจ่ายค่าเช่าบ้านรายเดือนของเธอด้วยซ้ำ ซึ่งเธออาศัยกับสามีชาวสวีเดน และลูกสาววัย 2 ขวบ
ซึ่งครอบครัวของ เอล เรไฟ ได้ย้ายถิ่นฐานจากสหรัฐฯ ไปอยู่สวีเดนเมื่อปี 2022 แต่จากนั้นไม่นาน คอร์ตนีย์ เริ่มรู้สึกคิดถึงงานพยาบาลวิชาชีพของเธอ กระทั่งคลอดลูกสาวตัวน้อย ในเดือนมกราคม 2023 ทั้งคู่จึงเริ่มตัดสินใจแบ่งเวลาระหว่างการใช้ชีวิตอยู่ในยุโรปและสหรัฐฯ
ต่อมา หลังจากกลับไปอยู่สหรัฐฯ ได้ 19 เดือน คอร์ตนีย์ ก็ได้งานเป็นพยาบาลในหอผู้ป่วยเด็กแรกเกิด (NICU) ที่โรงพยาบาลในย่านอ่าวซานฟรานซิสโก้ ช่วงฤดูร้อนปี 2024 ก่อนที่เธอจะกลับมาสวีเดนอีกครั้งในเดือนธันวาคม และมุ่งมั่นกับการเดินทางไกลกว่า 5,200 ไมล์ (ราว 8,300 กม.) และยอมเสียเวลาเดินทาง 11 ชั่วโมง เพื่อไปทำงาน
หากนับตั้งแต่เดือนมกราคม เธอเดินทางรวมกว่า 30,000 ไมล์ (ราว 48,000 กิโลเมตร) และใช้เงินค่าเดินทางไปแล้วกว่า 1,500 ดอลลาร์ (ประมาณ 54,000 บาท) โดยตารางทำงานแบบรายวัน (per-diem) คอร์ตนีย์ทำงานเพียง 4 กะ กะละ 8 ชั่วโมงต่อเดือน พร้อมจัดตารางให้มีวันหยุดต่อเนื่องได้นานถึง 6 สัปดาห์
อย่างไรก็ตาม แม้ระยะเวลาในการเดินทาง และความแตกต่างเวลา อาจเป็นอุปสรรคต่อการหารายได้เพิ่มของเธอ แต่เธอยืนยันว่า มันไม่มีผลกับเธอเลย หากต้องแลกกับรายได้ที่มากขึ้น
“พูดตามตรง ฉันไม่ได้มีปัญหาเรื่องอาการเจ็ตแล็กเท่าที่คิดไว้เลย ฉันมีรายได้จากการทำงานพาร์ตไทม์รวมค่าเดินทาง มากกว่าการทำงานเป็นพยาบาลเต็มเวลาในสวีเดนเสียอีก”
“ถ้าฉันทำงานกะ 12 ชั่วโมงที่แคลิฟอร์เนีย ก็สามารถจ่ายค่าเช่าบ้านที่นี่ (ในสวีเดน) ได้ทั้งเดือนเลย” คอร์ตนีย์กล่าว
ทั้งนี้ คอร์ตนีย์เปิดเผยว่า เธอยังไม่มีใบอนุญาตทำงานเป็นพยาบาลในสวีเดน ซึ่งมีกระบวนการอนุมัติค่อนข้างนาน อีกทั้งค่าจ้างยังต่ำกว่าสหรัฐฯ โดยเฉพาะในซานฟรานซิสโก ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่พยาบาลมีรายได้สูงสุดในประเทศ และยังมีสหภาพพยาบาลคอยคุ้มครองสิทธิ์ และแม้จะต้องเสียภาษีทั้ง 2 ประเทศ แต่ด้วยสัญญาเลี่ยงภาษีซ้อนระหว่างสหรัฐฯ กับสวีเดน ทำให้ คอร์ตนีย์ ไม่ต้องจ่ายภาษีซ้ำซ้อน
นอกจากนี้ คอร์ตนีย์ยังได้รับสิทธิประโยชน์จากระบบสวัสดิการในสวีเดน เช่น เนิร์สเซอรีแทบไม่เสียค่าใช้จ่าย และบริการสาธารณสุขฟรี ซึ่งเธอกล่าวทิ้งท้ายว่า สมดุลชีวิตกับการทำงานของเธอดีขึ้นมาก และยังไม่มีแผนจะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเช่นนี้
แม้ระยะทาง อาจดูไกลสำหรับใครหลายคน แต่สำหรับเธอแล้ว มันคือทางเลือกที่คุ้มค่าเพื่อชีวิต และครอบครัวที่เธอรัก
ขอบคุณข้อมูล :Daily Mail