ศาลโลกเปิดทาง ประเทศฟ้องร้องกันได้ ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ศาลโลกเปิดทาง ประเทศฟ้องร้องกันได้ ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ-ศาลโลก) มีคำวินิจฉัยครั้งประวัติศาสตร์ว่า ประเทศต่างๆ สามารถฟ้องร้องกันได้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอดีตที่ส่งผลให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ดี ผู้พิพากษาศาลโลกที่ตั้งอยู่ในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า การแยกแยะว่าประเทศใดเป็นต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในส่วนใดนั้นอาจเป็นเรื่องที่ยากมาก
แม้คำวินิจฉัยดังกล่าวจะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระบุว่า คำพิพากษานี้จะส่งผลกระทบในวงกว้าง คำวินิจฉัยครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นชัยชนะของประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ได้ยื่นฟ้องศาลโลกหลังผิดหวังกับความล้มเหลวของความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาทั่วโลก
คดีประวัติศาสตร์นี้เริ่มต้นจาก กลุ่มนักศึกษากฎหมายจากหมู่เกาะแปซิฟิกที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความสูงไม่มากนักจากระดับน้ำทะเล ซึ่งเผชิญภัยจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโดยตรง ที่ได้ผู้ริเริ่มแนวคิดในปี 2019
ซิออซิอัว เวกูเน หนึ่งในนักศึกษากลุ่มนี้จากประเทศตองกา เดินทางมาฟังคำวินิจฉัยของศาลในกรุงเฮก กล่าวกับบีบีซีว่า “ผมแทบพูดไม่ออก มันตื่นเต้นมาก ความรู้สึกมากมายพลุ่งพล่านอยู่ข้างใน นี่คือชัยชนะที่เราจะนำกลับไปมอบให้กับบ้านเกิดและชุมชนของเราด้วยความภาคภูมิใจ”
ฟลอร่า วาโน จากประเทศวานูอาตู ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาสภาพภูมิอากาศมากที่สุดในโลก กล่าวว่า “คืนนี้ฉันจะนอนหลับอย่างเป็นสุข ศาลโลกตระหนักถึงสิ่งที่พวกเราได้เผชิญมา ทั้งความทุกข์ ความอดทน และสิทธิในการมีอนาคตของเรา นี่ไม่ได้เป็นเพียงชัยชนะของพวกเรา แต่เป็นของทุกชุมชนแนวหน้าทุกแห่งที่กำลังต่อสู้เพื่อให้เสียงของพวกเขาถูกได้ยิน”
ศาลโลกถือเป็นศาลสูงสุดของสหประชาชาติ และมีเขตอำนาจศาลทั่วโลก แม้คำวินิจฉัยนี้จะมีลักษณะเป็น “คำแนะนำ” ที่ไม่ผูกพันทางกฎหมาย แต่ในหลายกรณีที่ผ่านมา รัฐบาลต่างๆ ก็ยอมปฏิบัติตาม
ทนายความบอกกับบีบีซีว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวของศาลอาจจะถูกนำไปใช้เร็วที่สุดคือในสัปดาห์หน้า รวมถึงในศาลของประเทศต่างๆ ที่ไม่ได้ยอมรับอำนาจของศาลโลกก็ตาม โดยนักเคลื่อนไหวและนักกฎหมายด้านสภาพภูมิอากาศหวังว่า คำพิพากษานี้จะปูทางไปสู่การจ่ายเงินชดเชยของประเทศต่างๆ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในอดีต ซึ่งต้องรับผิดชอบต่อภาวะโลกร้อนมากที่สุด
ประเทศยากจนจำนวนมากให้การสนับสนุนคดีนี้ เพราะผิดหวังที่ประเทศร่ำรวยที่ไม่ปฏิบัติตามคำมั่นในการแก้ปัญหาโลกร้อนตามข้อตกลงที่มีอยู่ ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วแย้งว่า ข้อตกลงที่มีปัจจุบัน เช่น ข้อตกลงปารีสของสหประชาชาติปี 2015 (Paris Agreement) ก็เพียงพอแล้ว และไม่ควรกำหนดพันธะทางกฎหมายเพิ่มเติม
ศาลโลกปฏิเสธข้อโต้แย้งดังกล่าว โดยผู้พิพากษาอิวาซาวะ ยูจิ กล่าวว่า หากประเทศต่างๆ ไม่จัดทำนโยบายที่แสดงถึงความมุ่งมั่นสูงสุดเท่าที่จะทำได้ในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ก็ถือเป็นการละเมิดพันธกรณีของพวกเขาตามข้อตกลงปารีส
ผู้พิพากาษายูจิยังกล่าวว่า กฎหมายระหว่างประเทศที่ครอบคลุมยิ่งขึ้นก็ยังมีผลบังคับ ซึ่งหมายความว่าแม้แต่ประเทศที่ไม่ได้ลงนามในข้อตกลงปารีส หรือถอนตัวออกไปแล้ว เช่น สหรัฐ ก็ยังคงมีหน้าที่ตามกฎหมายในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและระบบภูมิอากาศของโลก
ศาลโลกมีคำวินิจฉัยเพิ่มเติมว่า ประเทศกำลังพัฒนามีสิทธิเรียกร้อง ค่าชดเชยความเสียหายจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ความเสียหายของอาคาร สิ่งปลูกสร้าง และโครงสร้างพื้นฐานที่ถูกทำลาย ในกรณีที่ไม่สามารถฟื้นฟูพื้นที่บางส่วนของประเทศได้ รัฐบาลของประเทศนั้นสามารถยื่นคำร้องเพื่อขอค่าชดเชยแทนได้
กรณีดังกล่าวอาจเกิดจากเหตุการณ์ที่เป็นผลกระทบของสภาพอากาศสุดขั้วที่เฉพาะเจาะจง หากสามารถพิสูจน์ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสาเหตุโดยตรง ซึ่งผู้พิพากษาระบุว่าจะต้องพิจารณาเป็นรายกรณี
ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าหากประเทศใดชนะคดีจะต้องได้รับเงินค่าเสียหายจำนวนเท่าไร
ด้านบทวิเคราะห์ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ระบุว่า ระหว่างปี 2000–2019 มีความสูญเสียจากวิกฤตภูมิอากาศทั่วโลกสูงถึง 2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินเฉลี่ย 16 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 513 ล้านบาทต่อชั่วโมง
นอกจากเรื่องค่าชดเชยแล้ว ศาลโลกยังมีคำวินิจฉัยเพิ่มเติมว่า รัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศจากกิจกรรมของบริษัทที่ดำเนินงานในประเทศของตน โดยเฉพาะการให้เงินอุดหนุนอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล หรือการอนุมัติใบอนุญาตสำหรับแหล่งน้ำมันและก๊าซใหม่ ก็อาจเข้าข่ายละเมิดพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ
แม้ว่าศาลโลกจะมีอำนาจสูงสุดเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ไม่มีหน่วยงานบังคับคำวินิจฉัยใช้โดยตรง การปฏิบัติตามจึงขึ้นกับความสมัครใจของประเทศต่างๆ
ขณะที่ในส่วนของการฟ้องร้อง คดีความต่างๆ สามารถยื่นต่อศาลใดๆ ก็ได้ทั่วโลก ทั้งศาลในประเทศหรือศาลระหว่างประเทศ โดยอ้างอิงความเห็นของศาลโลกได้
กระนั้นก็ดี หากต้องการนำคดีกลับมายังศาลโลกเพื่อให้มีคำตัดสินบังคับเรื่องค่าชดเชย ประเทศที่ถูกฟ้องจะต้องเป็นประเทศที่ยอมรับเขตอำนาจของศาลโลกเท่านั้น
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ศาลโลกเปิดทาง ประเทศฟ้องร้องกันได้ ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichon.co.th