ส่งออกไทยเดือนมิ.ย.68 โตแรง 15.5% ต่อเนื่อง 12 เดือน ครึ่งปีแรกทะยานเกินคาด หนุนเศรษฐกิจฟื้นตัว
ส่งออกไทยเดือนมิ.ย.68 โตแรง 15.5% ต่อเนื่อง 12 เดือน ครึ่งปีแรกทะยานเกินคาด หนุนเศรษฐกิจฟื้นตัว
วันที่ 24 ก.ค.68 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ แถลงการส่งออกของไทยในเดือนมิถุนายน 2568 มีมูลค่า 28,649.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (938,533 ล้านบาท) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ที่ร้อยละ 15.5 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ร้อยละ 15.6 การชะลอการใช้มาตรการทางภาษีของสหรัฐอเมริกา ทำให้ผู้นำเข้าในสหรัฐฯ เร่งนำเข้าสินค้าจากไทยมากขึ้นเพื่อปิดความเสี่ยงด้านราคาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนเติบโตได้ดี ตามการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัล ขณะที่สินค้าเกษตรไทย โดยเฉพาะผลไม้สดและแช่แข็งฟื้นตัวกลับมาได้ดีในเดือนนี้ เช่นเดียวกับ มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม น้ำตาลทราย ไก่แปรรูป และอาหารสัตว์เลี้ยง ต่างขยายตัวในเดือนนี้ ทั้งนี้ การส่งออกครึ่งแรกของปี 2568 ขยายตัวที่ร้อยละ 15.0 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ร้อยละ 14.2
มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนมิถุนายน 2568 การส่งออก มีมูลค่า 28,649.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 15.5 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 27,588.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 13.1 ดุลการค้า เกินดุล 1,061.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพรวมการส่งออกครึ่งแรกของปี 2568 การส่งออก มีมูลค่า 166,851.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 15.0 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 166,914.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 11.6 ดุลการค้า ขาดดุล 62.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนมิถุนายน 2568 การส่งออก มีมูลค่า 938,533 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.1 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 914,880 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.0 ดุลการค้า เกินดุล 23,654 ล้านบาท ภาพรวมการส่งออกครึ่งแรกของปี 2568 การส่งออก มีมูลค่า 5,578,959 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.6 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 5,651,241 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.6 ดุลการค้า ขาดดุล 72,282 ล้านบาท
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 13.5 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือนโดยสินค้าเกษตร ขยายตัวร้อยละ 10.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 17.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ขยายตัวร้อยละ 57.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย เวียดนาม เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น) ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 15.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน มาเลเซีย และเกาหลีใต้) ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 124.2 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินเดีย มาเลเซีย เมียนมา จีน และอินโดนีเซีย) ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 35.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 18 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ เมียนมา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวร้อยละ 6.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และเวียดนาม) น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 35.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดกัมพูชา อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ซูดาน และจีน) และผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 28.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 21 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น) ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ข้าว หดตัวร้อยละ 41.1 หดตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (หดตัวในตลาดอิรัก แอฟริกาใต้ เซเนกัล แคเมอรูน และญี่ปุ่น แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน แคนาดา ฮ่องกง และสิงคโปร์) และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 1.5 กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้า (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ และกัมพูชา แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น ลิเบีย แคนาดา เปรู และอิสราเอล) ทั้งนี้ ครึ่งแรกของปี 2568 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 2.4
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 17.6 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 15 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 57.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 15 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ และไอร์แลนด์) ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 23.3 ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย และเกาหลีใต้) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ขยายตัวร้อยละ 16.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฮ่องกง) แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัวร้อยละ 46.2 ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย และจีน) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 8.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อินเดีย สหราชอาณาจักร เยอรมนี และญี่ปุ่น) เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 36.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เนเธอร์แลนด์ มาเลเซีย และสโลวาเกีย) ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 15.9 กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้า (หดตัวในตลาดออสเตรเลีย เวียดนาม ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ แต่ขยายตัวในตลาดแอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อาร์เจนตินา อิรัก และตุรกี) เคมีภัณฑ์ หดตัวร้อยละ 4.3 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดอินเดีย จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย แต่ขยายตัวในตลาดเวียดนาม สหรัฐฯ ลาว เมียนมา และกัมพูชา) เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 14.7 กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้า (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย เยอรมนี และมาเลเซีย แต่ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย ฮ่องกง บราซิล แอฟริกาใต้ และไต้หวัน) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด หดตัวร้อยละ 53.5 หดตัวต่อเนื่อง 16 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง อินเดีย เม็กซิโก และอินโดนีเซีย แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์) ทั้งนี้ ครึ่งแรกของปี 2568 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 19.3
ตลาดส่งออกสำคัญ
การส่งออกไปตลาดสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัวดี โดยเฉพาะตลาดหลัก เช่น สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน ที่ได้รับปัจจัยหนุนต่อเนื่องจากการเร่งนำเข้าสินค้าของประเทศคู่ค้าก่อนที่มาตรการภาษีต่างตอบแทนของสหรัฐฯ จะมีผลบังคับใช้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 19.3 โดยขยายตัวต่อเนื่องในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 41.9 จีน ร้อยละ 23.1 สหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 11.9 และ CLMV ร้อยละ 9.0 และกลับมาขยายตัวในตลาดอาเซียน (5) ร้อยละ 6.5 และญี่ปุ่น ร้อยละ 3.2 (2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 1.0 โดยขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ ร้อยละ 20.1 รัสเซียและกลุ่ม CIS ร้อยละ 14.1 และสหราชอาณาจักร ร้อยละ 17.6 ขณะที่หดตัวในตลาดทวีปออสเตรเลีย ร้อยละ 14.1 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 4.5 แอฟริกา ร้อยละ 13.7 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 1.6 (3) ตลาดอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 202.4
ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 41.9 (ขยายตัวต่อเนื่อง 21 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ และผลิตภัณฑ์พลาสติก สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ ทั้งนี้ ครึ่งแรกของปี 2568 ขยายตัวร้อยละ 29.7
ตลาดจีน ขยายตัวร้อยละ 23.1 (ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ยางพารา และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ทั้งนี้ ครึ่งแรกของปี 2568 ขยายตัวร้อยละ 18.8
ตลาดญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 3.2 (กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ ทั้งนี้ ครึ่งแรกของปี 2568 ขยายตัวร้อยละ 1.2
ตลาดสหภาพยุโรป (27) ขยายตัวร้อยละ 11.9 (ขยายตัวต่อเนื่อง 13 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ และเคมีภัณฑ์ สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องนุ่งห่ม และเลนซ์ ทั้งนี้ ครึ่งแรกของปี 2568 ขยายตัวร้อยละ 9.4
ตลาดอาเซียน (5) ขยายตัวร้อยละ 6.5 (กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และแผงวงจรไฟฟ้า สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป และเคมีภัณฑ์ ทั้งนี้ ครึ่งแรกของปี 2568 ขยายตัวร้อยละ 5.1
ตลาด CLMV ขยายตัวร้อยละ 9.0 (ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ทองแดงและของทำด้วยทองแดง เม็ดพลาสติก และสินค้าปศุสัตว์อื่น ๆ สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ทั้งนี้ ครึ่งแรกของปี 2568 ขยายตัวร้อยละ 11.3
ตลาดเอเชียใต้ ขยายตัวร้อยละ 20.1 (ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ อัญมณีและเครื่องประดับ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ ทั้งนี้ ครึ่งแรกของปี 2568 ขยายตัวร้อยละ 46.5
ตลาดทวีปออสเตรเลีย หดตัวร้อยละ 14.1 (กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ ทั้งนี้ ครึ่งแรกของปี 2568 หดตัวร้อยละ 9.7
ตลาดตะวันออกกลาง หดตัวร้อยละ 4.5 (กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และข้าว สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ น้ำตาลทราย และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ทั้งนี้ ครึ่งแรกของปี 2568 ขยายตัวร้อยละ 5.9
ตลาดทวีปแอฟริกา หดตัวร้อยละ 13.7 (กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ข้าว เคมีภัณฑ์ และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายใน และน้ำตาล ทั้งนี้ ครึ่งแรกของปี 2568 ขยายตัวร้อยละ 2.2
ตลาดลาตินอเมริกา หดตัวร้อยละ 1.6 (กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ทั้งนี้ ครึ่งแรกของปี 2568 ขยายตัวร้อยละ 9.5
ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ขยายตัวร้อยละ 14.1 (ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และรองเท้าและชิ้นส่วน ทั้งนี้ ครึ่งแรกของปี 2568 ขยายตัวร้อยละ 21.0
ตลาดสหราชอาณาจักร ขยายตัวร้อยละ 17.6 (ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ ไก่แปรรูป และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ ทั้งนี้ ครึ่งแรกของปี 2568 ขยายตัวร้อยละ 12.4
แนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป
แนวโน้มการส่งออกครึ่งหลังของปี 2568 การดำเนินมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ ส่งผลต่อการค้าไทยและโลกอย่างมีนัยสำคัญ ผลของการเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ก่อนที่ภาษีต่างตอบแทนจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ส.ค. 68 เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดต่อทิศทางการค้าระหว่างประเทศในอนาคตของไทย โดยไทยได้ยื่นข้อเสนอฉบับใหม่ที่เปิดตลาดมากขึ้นให้กับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ซึ่งได้รับการตอบรับในทิศทางที่ดี คาดว่าไทยจะได้รับอัตราภาษีที่เหมาะสม และยังสามารถแข่งขันกับประเทศผู้ส่งออกรายอื่นในภูมิภาคได้ ในระยะยาวการสร้างความสมดุลทางการค้ากับสหรัฐฯ ถือว่าจะเป็นโอกาสให้ไทยเร่งปรับปรุงโครงสร้างการส่งออกไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต สร้างห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศเพื่อรองรับการกระจายความเสี่ยงการผลิตและลงทุน และยกระดับสภาพแวดล้อมทางการค้าของประเทศให้แข่งขันได้ในระดับโลกเพิ่มขึ้น ในส่วนของการบรรเทาผลกระทบ ภาครัฐได้เตรียมความพร้อมด้วยมาตรการสนับสนุนทั้งภาคธุรกิจและเกษตรกรรม
สำหรับปัจจัยอื่นๆที่คาดว่าจะส่งผลต่อการส่งออกในครึ่งปีหลัง อาทิ ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ผลไม้ที่กำลังออกสู่ตลาด สงครามในตะวันออกกลาง การชะลอการลงทุนเพื่อรอดูท่าทีการเจรจา การปรับตัวของผู้ส่งออกในการปรับเปลี่ยนแหล่งนำเข้าวัตถุดิบให้สอดคล้องกับเงื่อนไขของการลดภาษีของสหรัฐฯ สถานการณ์เหล่านี้เป็นประเด็นที่กระทรวงพาณิชย์ยังคงต้องติดตามและหามาตรการรับมือ เพื่อแก้ปัญหา และหาแนวทางเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสมต่อไป
#ส่งออกไทย #ส่งออกเดือนมิถุนายน #เศรษฐกิจไทย #กระทรวงพาณิชย์ #ตลาดส่งออก #สินค้าเกษตร #สินค้าอุตสาหกรรม #ส่งออกโต #ข่าวเศรษฐกิจ #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์ #ข่าววันนี้