สงคราม = น้ำมันแพง? เมื่อความเชื่อเก่าอาจใช้ไม่ได้กับยุคใหม่อีกต่อไป
ในช่วงที่ผ่านมา นักลงทุนหลายท่านน่าจะเห็นความผันผวนในตลาดน้ำมันที่ขึ้นลงแรงเพราะความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ซึ่งครั้งนี้เป็นสงครามระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน
เมื่อมีข่าวปะทะกันที ราคาน้ำมันก็ปรับตัวขึ้นที แต่เมื่อมีข่าวว่า สามารถเจรจาหยุดยิง หรือมีข้อตกลงร่วมกันได้ ราคาน้ำมันกลับดิ่งหนัก
เรื่องนี้ ‘ธนธัช ศรีสวัสดิ์’ นักกลยุทธ์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ หรือTISCO ESU ระบุว่า ราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นร้อนแรง หรือกว่า 20% นั้น เพราะทุกครั้งที่เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง คนมักจะซื้อน้ำมันเพื่อป้องกันความเสี่ยงราคาน้ำมันปรับขึ้นร้อนแรงในอนาคต
โดยนักลงทุนทั่วไปที่อาจจะไม่ได้อยู่ใกล้ชิดตลาดน้ำมันมากนัก มักจะมีความเชื่อว่า สงครามตะวันออกกลาง เท่ากับ น้ำมันแพง อย่างไรก็ตาม คนที่ใกล้ชิดตลาดน้ำมัน มักจะมองว่า การปรับขึ้นดังกล่าวมักจะอยู่ได้ไม่นาน และสงครามไม่ได้แปลว่าน้ำมันแพง
แม้ในช่วง 1-2 วันที่อิสราเอลโจมตีอิหร่าน เราจะเห็นพาดหัวข่าวประมาณว่า ราคาน้ำมันแพง ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ประมาณ 72 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเท่านั้น
แต่ในช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน (YoY) อยู่ที่ประมาณ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งในช่วงหลังโควิด-19 เป็นต้นมา ราคาน้ำมันระดับ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลนั้นไม่ถือว่าแพง
‘เราอาจจะจำภาพติดมาตั้งแต่ยุค 70s 80s 90s ว่าพอเกิดสงครามขึ้น มีความขัดแย้งรุนแรง หนักสุดครั้งที่ชาติอาหรับทำ Oil Embargo คือแบนการส่งออกน้ำมันไปยังสหรัฐฯ น้ำมันจึงพุ่งไป 600% คนยังติดตามกับประวัติศาสตร์ตรงนั้นอยู่’
ยกตัวอย่างเช่น สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2565 ตลาดน้ำมันในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่ตลาดน้ำมันในอดีตแล้ว เพราะผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ระดับโลก ไม่ได้มีความคิดคล้ายกับในอดีต กล่าวคือ เขาไม่ได้เอาเรื่องของความขัดแย้ง หรือเรื่องของสงครามมาผสมกับการผลิตและขายน้ำมัน
ตะวันออกกลางในยุคนี้ ผู้นำให้ความสำคัญกับเรื่องของเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชน ความกินดีอยู่ดี และเรื่องของเงิน มากกว่าเรื่องประวัติศาสตร์และความขัดแย้ง
แม้จะยังมีการให้ความสำคัญกับเรื่องของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม แต่หากให้เลือกระหว่างประเทศชาติกินดีอยู่ดี กับเรื่องของประวัติศาสตร์ ณ วันนี้เขามองอนาคต
ดังนั้น เรื่องของการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมัน จากเรื่องของความขัดแย้ง ตัดทิ้งไปได้เลย เพราะฉะนั้น ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เราจึงไม่เห็น และไม่น่าจะเห็นการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันด้วยหลังจากนี้
ขณะที่ผลกระทบว่าน้ำมันจะผลิตได้น้อยลงหรือไม่นั้นท่ามกลางสงคราม เช่น เกิดเหตุระเบิกลงบ่อน้ำมัน ก็ยังไม่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างเดิม เช่น รัสเซียกับยูเครนที่รบกันมา 3 ปี ก็ยังไม่ได้เกิดภาพที่รุนแรงขนาดนั้นขึ้น
ทั้งนี้ เพราะผู้ที่เกี่ยวข้องกับสงครามในยุคนี้ก็รู้กันดีว่า ตนไม่ต้องการดึงให้สงครามมันขยายใหญ่ไปเกิดกว่าที่ตนเองจะควบคุมได้ สมมติ ทุกวันนี้ยิงกันอยู่ 2 ประเทศ ถ้าราคาน้ำมันไม่ได้พุ่งสูงขึ้นมาก นักลงทุนต่างชาติก็จะดู หรือเฝ้าระวังเฉยๆ ก่อน
แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ยูเครนส่งโดรนไปถล่มบ่อน้ำมันรัสเซีย แล้วราคาน้ำมันมันแพงขึ้นมาจริง เพราะรัสเซียผลิตน้ำมันได้น้อยลง ณ วันนั้นทั้งโลกจะมองใครเป็นตัวร้าย? ก็ต้องมองเป็นยูเครน ว่าตัวเองจะแพ้สงคราม จึงดึงทั้งโลกให้เดือดร้อน เป็นต้น
ดังนั้น ในวันนี้ ไม่ว่าจะในยุโรปเหนือ ยุโรปตะวันออก หรือตะวันออกกลางเองก็ตาม จึงยังไม่มีใครกล้าใช้เรื่องของการส่งออกน้ำมันเป็นอาวุธโจมตีคู่ต่อสู้ เพราะทำไปก็เหมือนกับการเอาเชือกมาผูกคอตัวเองไปด้วย
ขณะที่ช่องแคบฮอร์มุซที่มีข่าวว่ากินสัดส่วนการส่งออกกว่า 20% ของปริมาณการใช้น้ำมันโลกนั้น หากอิหร่านปิดช่องแคบดังกล่าวขึ้นมา ปริมาณน้ำมันอาจหายไปกว่า 20 ล้านบาร์เรลต่อวัน และราคาน้ำมันอาจพุ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ช่องแคบฮอร์มุซจะเป็นช่องแคบสำคัญก็จริง หากถูกปิดไป ปริมาณน้ำมันหายไป 10-20 ล้านบาร์เรลต่อวันจริง เดือดร้อนทั้งโลกจริง แต่โอกาสปิดช่องแคบดังกล่าวจริงน้อยมาก
ที่เป็นเช่นนั้น เพราะนอกจากซาอุดีอาระเบีย อิรัก UAE และโอมานที่ใช้ช่องแคบดังกล่าวแล้ว อิหร่านเองก็ใช้ช่องแคบดังกล่าวทำการค้าด้วยเหมือนกัน
โดยโครงสร้างพื้นฐานที่เอาไว้โหลดน้ำมันเพื่อส่งออกของอิหร่าน ชื่อ ‘เกาะคาร์ก’ (Kharg) ซึ่งอยู่ภายในอ่าวเปอร์เซีย หากอิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุซ อิหร่านก็ไม่สามารถใช้ช่องแคบในการทำการค้าได้เช่นกัน
นอกจากนี้ การทำสงครามยังใช้เงินค่อนข้างเยอะ แม้กระทั่งอิหร่านเองที่หากใครอ่านข่าวบ่อยๆ จะคิดว่าเป็นมหาอำนาจในภูมิภาค เป็นประเทศค้าขายน้ำมันร่ำรวย
แต่จริงๆ แล้ว ขนาดเศรษฐกิจของอิหร่านเทียบเท่ากับประเทศไทยเท่านั้น ประมาณ 5-6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (ราว 16-19 ล้านล้านบาท) ไม่ได้รวยไปกว่าประเทศไทยเลย ขณะที่จำนวนประชากร 90 ล้านคน เยอะกว่าไทย แต่ไม่ได้ห่างไกลกันมาก
หากพิจารณารายละเอียดของเศรษฐกิจอิหร่าน ส่วนใหญ่ประมาณ 80% มาจากการส่งออกน้ำมัน หมายความว่า เศรษฐกิจจริงในประเทศอิหร่านนั้นเล็กกว่าประเทศไทยเสียอีก การจ้างงานและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเซกเตอร์อื่นๆ น้อยมาก ดังนั้น อิหร่านไม่ได้มีทรัพยากรหรือเงินทุนเหลือเฟือที่จะมารบ
เพราะฉะนั้น หากอิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุซจริง ก็เหมือนปิดช่องทางขายของของตัวเองไปด้วย และแน่นอนว่า ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคก็ต้องไม่ยอม ไม่เช่นนั้นก็ถือว่าอิหร่านประกาศตัวเป็นศัตรูกับประเทศที่ใช้ช่องแคบดังกล่าวค้าขายด้วย
ถ้าเกิดการปิดขึ้นจริง เชื่อว่าภายใน 1-2 เดือน อิหร่านจะโดนถล่ม หรือไม่เหลือพันธมิตรเลยในภูมิภาค จากเดิมยังพอมีพันธมิตรหรือความสัมพันธ์อันดีกับประเทศรอบข้างอยู่บ้าง เพราะถือเป็นการลากเพื่อนลงเหวไปด้วย
ดังนั้น โอกาสปิดช่องแคบฮอร์มุซนั้น ปัดทิ้งไปได้เลย แม้ตามหน้าข่าวจะมีการวิเคราะห์ว่า หากอิหร่านปิดช่องแคบดังกล่าว ราคาน้ำมันอาจปรับขึ้นไป 100-200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลก็ตาม แต่ทำไปก็เหมือนการเอาเชือกมาผูกคอตัวเอง
หากเทียบดูในอดีต พบว่า ราคาน้ำมันในช่วงปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2567 หรือตั้งแต่ที่อิสราเอลและอิหร่านยิงกัน ได้รับความเสี่ยงจาก War Premium หรือความเสี่ยงสงครามเท่าไหร่นั้น พบว่า
ราคาน้ำมันที่ปกติจะเคลื่อนไหวจาก 2 ปัจจัย คือ อุปสงค์ (Demand) กับอุปทาน (Supply) เมื่อบวกเรื่องของ War Premium หรือความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์เข้าไปแล้ว พบว่า
ในช่วงเดือน เม.ย. – พ.ค.ปีก่อน War Premium เป็นบวก หลังจากที่อิหร่านและอิสราเอลยิงสู้รบกัน ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันแกว่งตัวระหว่าง 3-5 ดอลลาร์ แต่เมื่อผ่านไปราว 2-3 เดือน ตลาดเห็นว่าราคาน้ำมันไม่ได้รับผลกระทบ สุดท้าย War Premium ก็จะซา หายลงไป ส่งผลให้ราคาน้ำมันที่ขึ้นมาในช่วงก่อนหน้านั้นปรับตัวลงมา
ขณะที่รอบนี้ แม้ War Premium จะกลับมาเป็นบวก และสถานการณ์ความขัดแย้งดูรุนแรงกว่าปีที่แล้ว (2567) ก็จริง ส่งผลให้ War Premium เพิ่มขึ้นมาเป็น 5-7 ดอลลาร์
ความหมายก็คือ วันนี้ หากไม่มีสงคราม สงครามจบลง หรือตลาดเริ่มซึมชามากขึ้น กล่าวคือ เริ่มรับรู้แล้วว่า ถึงเกิดสงครามก็ไม่ได้กระทบกับอุปทานน้ำมันอยู่ดี War Premium ก็จะหายไป
โดยคาดว่าในช่วงกลางปี 2568 นี้ ราคาน้ำมันจะแกว่งตัวแถวบริเวณ 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่อ่อนลง คาดว่าปลายปีราคาน้ำมันอาจปรับตัวลงไปอยู่ที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้
‘ถ้าไปถามเสียงนักวิเคราะห์ในตลาดน้ำมัน ไม่ว่าสาขาหรือสถาบันไหนก็ตาม ตอนนี้จะมองคล้ายๆ กันว่า การปรับตัวขึ้นของราคานำ้มันน่าจะเป็นแค่ช็อกระยะสั้น และหลังจากนี้ราคาน่าจะทยอยปรับลดลงไป ตามความรุนแรงที่ (หวังว่า) จะเบาลง’
สรุปคือ จากข่าวการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครนตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565 ที่มีตัวเลขเวอร์ๆ ออกมา เพราะกังวลว่ารัสเซียจะโดนคว่ำบาตรน้ำมัน ขายไม่ได้ Supply โลกหายไป 3-4 ล้านบาร์เรล บางเจ้าก็รันโมเดลออกมา บอกว่าราคาน้ำมันจะขึ้นไป 300-400 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ครั้งนี้ก็คล้ายกัน คนก็ไปรันโมเดลมาอีกรอบ โดยคาดว่าหากมีการปิดช่องแคบจริง หาก Supply น้ำมันหายไปมากๆ จริง ราคาน้ำมันอาจปรับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
อย่างไรก็ตาม ครั้งที่แล้วที่ราคาน้ำมันไม่เคยไปถึง 200-300 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลนั้น ครั้งนี้ก็คาดว่าจะไม่มีทางไปถึง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเช่นกัน
ที่หน้าข่าวออกมาแบบนั้น คาดว่าบางครั้งนักวิเคราะห์ก็ถูกกดดันจากลูกค้าที่อยากทราบว่า หากเกิดเหตุรุนแรงขึ้น ราคาน้ำมันจะไปได้ถึงไหน สุดท้ายก็ต้องรันโมเดลเอาตัวเลขมาตอบ
ขณะที่คนที่ค่อนข้างคุ้นชินกับตลาดน้ำมัน หรือเข้าใจปัจจัยพื้นฐาน จะพอเข้าใจได้ว่า โอกาสที่ราคาน้ำมันจะปรับตัวขึ้นไปที่ระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ค่อนข้างน้อยมาก
‘คือโอกาสมันมีอยู่แล้ว Propability มันไม่เคยเป็นศูนย์ แต่มันอาจจะ 0.001% อะไรแบบนี้ เราก็ไม่ควรไป bet ไม่ควรลงทุนกับโอกาสที่ไม่ถึง 1% อยากให้มองปัจจัยที่มันน่าเบื่อหน่อย คือปัจจัยพื้นฐานธรรมดาๆ ของตลาดน้ำมัน’